เขื่อนรัชชประภา
เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน[1] เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อก่อนสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร”
เขื่อนรัชชประภา | |
---|---|
ชื่อทางการ | เขื่อนรัชชประภา |
ที่ตั้ง | จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
เริ่มก่อสร้าง | พ.ศ. 2525 |
เปิดดำเนินการ | 8 ตุลาคม พ.ศ. 2531 |
ผู้ดำเนินการ | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
เขื่อนและทางน้ำล้น | |
ปิดกั้น | คลองพระแสง |
ความสูง | 94 เมตร |
ความยาว | 716 เมตร |
อ่างเก็บน้ำ | |
อ่างเก็บน้ำ | เขื่อนดิน |
ปริมาตรกักเก็บน้ำ | 5,638.6 ล้าน ลบ.ม. |
พื้นที่กักเก็บน้ำ | 185 ตร.กม. |
เขื่อนรัชชประภา สร้างปิดกั้นคลองพระแสงลำน้ำสาขาของแม่น้ำพุมดวง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยพื้นที่ส่วนใหญ่ติดอุทยานแห่งชาติเขาสกเกือบทั้งหมด เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร ความยาวสันเขื่อน 761 เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก 5 แห่ง มีความจุ 5,638.8 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 3,057 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลัง การผลิต 240,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
เขื่อนรัชชประภา เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 แต่เดิมนั้นสามารถเดินทางได้โดยจาก อำเภอพนม แต่เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนประกอบด้วยเหวจำนวนมากเส้นทางดังกล่าวจึงต้องปิดตัวลงโดยปัจจุบันสามารถเดินทางโดยผ่านอำเภอบ้านตาขุน เขื่อนรัชชประภาเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ ที่สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศชาติ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในปี พ.ศ. 2531
การใช้ประโยชน์
แก้- การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช บริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง เป็นผลให้พื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ ในเขตท้องที่ตำบลตาขุน อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน สามารถทำนาปรัง และปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดี
- บรรเทาอุทกภัย การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี
- การประมง อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ ทุกๆ ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งเป็นจำนวนมากลงไปในอ่างเก็บน้ำ สามารถให้ผลผลิตทางด้านการประมงเฉลี่ยปีละ 300 ตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง
- การท่องเที่ยว ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่น เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 70,000 คน ให้เดินทางมาเยี่ยมชมเขื่อนรัชชประภา พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีทัศนียภาพอันงดงาม ประกอบด้วยยอดเขาหินปูนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมามากมาย จนได้รับฉายาว่า "กุ้ยหลินเมืองไทย" ซึ่งพื้นที่น้ำเกือบทั้งหมด อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก (เว้นเพียงพื้นที่น้ำในเขตทุ่นลอย อันได้แก่ รอบพระตำหนักเรือนรับรองที่ประทับ หน้าช่องระบายน้ำ และตลอดแนวสันเขื่อน อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)[2]
- การผลิตไฟฟ้า พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 315 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำที่ปล่อยผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้า ยังส่งต่อเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม บริเวณพื้นที่ท้ายน้ำอีกด้วย
- แก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม สภาพน้ำที่มีบปริมาณน้อยของลำน้ำพุมดวง-ตาปี ในฤดูแล้ง ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันบริเวณปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มรุมล้ำเข้ามาตามลำน้ำ น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสียในลำน้ำ และต้านทานการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ [1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "เขื่อนรัชชประภา หรือ เขื่อนเชี่ยวหลาน". ทัวร์ดอย.คอม. 2005.
- ↑ joy_jihyun (20 กรกฎาคม 2011). "เที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน (กุ้ยหลินเมืองไทย) แพทะเลใน 500ไร่ จ.สุราษฎร์ธานี สวยมากจริงๆ (1)". MThai.com.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้9°04′16″N 98°38′56″E / 9.071°N 98.649°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ เขื่อนรัชชประภา
- แผนที่ จาก กูเกิลแมปส์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย