อุโมงค์ผาเมือง เป็นภาพยนตร์ไทย พีเรียด-ดราม่า แนวคดีฆาตกรรมปริศนา ออกฉายวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554 กำกับโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 10 สร้างเพื่อฉลอง 100 ปี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และครบรอบ 40 ปี สหมงคลฟิล์ม ซึ่งทั้งสองวาระได้เวียนมาครบในปี พ.ศ. 2554[1]

อุโมงค์ผาเมือง
กำกับหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
เขียนบทบทประพันธ์
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช/
ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ
บทภาพยนตร์
หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
อำนวยการสร้างสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
นักแสดงนำ
กำกับภาพพนม พรมชาติ
ตัดต่อสิริกัณณ์ ศรีจุฬาภรณ์
ดนตรีประกอบชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
ผู้จัดจำหน่ายสหมงคลฟิล์ม
วันฉาย11 กันยายน พ.ศ. 2554
ประเทศไทย ประเทศไทย
ภาษาภาษาไทย
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากบทละครของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง ราโชมอน ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเรื่องราวดังกล่าว อากิระ คุโรซาวา ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "ราโชมอน" เมื่อปี พ.ศ. 2493 เข้าชิงและคว้ารางวัลอีกหลายสถาบัน รวมถึง รางวัลออสการ์เกียรติยศ

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการกลับร่วมงานกันอีกครั้งของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่หลังจากได้กำกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุด เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ในปี พ.ศ. 2553 ที่ได้กลับร่วมงานอีกครั้งกับ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล

อุโมงค์ผาเมือง เล่าเรื่องราวของนครผาเมือง ซึ่งเกิดคดีฆาตกรรมขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า โดยมีแม่หญิงคำแก้ว นางสนม , โจรป่าสิงห์คำ , และร่างทรงวิญญาณของขุนศึกเป็นผู้ให้การ ถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านพระอานนทภิกขุ , พรานป่า และสัปเหร่อ

เรื่องย่อ

แก้

ในปี พุทธศักราช 2110 ณ นครผาเมืองอันรุ่งเรือง วันหนึ่งหลังจากเกิดวิบัติการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ทั้งอัคคีภัยใหญ่หลวง แผ่นดินไหวรุนแรง และโรคร้ายระบาดคร่าชีวิตประชาชนไปกว่าครึ่งนคร ก็เกิดคดีฆาตกรรมปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้ โจรป่าสิงห์คำ (ดอม เหตระกูล) ผู้โหดร้ายที่สุดในแผ่นดินถูกจับได้ในคดีฆาตกรรม ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า (อนันดา เอเวอริงแฮม) และข่มขืน แม่หญิงคำแก้ว (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) สนมในขุนศึกเจ้าหล้าฟ้าในป่านอกเมือง ขณะที่ทั้งสองเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปที่นครเชียงคำ

จากคำให้การของโจรป่าสิงห์คำ และแม่หญิงคำแก้ว สร้างความสับสน และพิศวงงงงวยให้แก่ เจ้าผู้ครองนคร (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) และประชาชนผู้มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้ง "โจรป่าสิงห์คำ" และ"แม่หญิงคำแก้ว" ต่างยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าตนเองเป็นผู้ฆ่าขุนศึก เจ้าผู้ครองนคร จึงเรียก ผีมด-ร่างทรง (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงเชิญวิญญาณของ "ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า" เพื่อค้นหาความจริง แต่แล้ววิญญาณของขุนศึกกลับให้การผ่านร่างทรงว่า "ตนต่างหากที่ฆ่าตัวตายเอง"

เหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการพบเห็นและสนทนาของ พระอานนทภิกขุ (มาริโอ้ เมาเร่อ), ชายตัดฟืน (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) และ สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ภายในอุโมงค์ผาเมือง ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดทั้ง 3 คนจึงให้การปิดบังความจริงที่เกิดขึ้น

นักแสดง

แก้

นักแสดงหลัก

แก้
ขุนศึก เกิดในตระกูลขุนนาง ถูกอบรมเลี้ยงดูมาในแบบคนชั้นสูง มีการศึกษาดี และหยิ่งทะนงในเกียรติภูมิของตนเยี่ยงขุนนางและนักรบ มีชีวิตที่เป็นระเบียบวินัย และมีหลักเกณฑ์จนทำให้ขาดความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและวิญญาณ ทำให้การตัดสินใจหลายๆ ครั้งในชีวิตของเขาขึ้นอยู่กับความถูกต้องในสังคมมากกว่าความเป็นมนุษย์
ภรรยาผู้เลอโฉมของขุนเจ้าศึกหล้าฟ้า พื้นเพของหล่อนเป็นเพียงบุตรสาวคนครัวในบ้านของขุนศึกนั่นเอง แต่ด้วยความงามเป็นเลิศของหล่อน ทำให้ขุนศึกเมตตาชุบเลี้ยงเป็นภรรยาอย่างออกหน้าออกตา
ขุนโจรที่โหดร้ายที่สุดในยุคสมัย เป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านทุกหัวระแหง โดยเฉพาะพวกที่มีฐานะดี เพราะโจรป่าสิงห์คำมักจะปล้นฆ่าเศรษฐีเพื่อนำเงินทองมาแจกจ่ายให้แก่ราษฎรที่ยากไร้ โจรป่ามีรูปร่างกำยำบึกบึนสมชาย มีเสน่ห์เย้ายวนต่อสตรีเพศ สำหรับเขาแล้ว ที่สุดในชีวิตก็คือ เงินทองทรัพย์สมบัติ เหล้า และผู้หญิง
บุตรชายของเศรษฐีทำกระจกที่เมืองเชียงคำ ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก จนมีความใฝ่ฝันว่าจะบวชเรียนในพระบวรศาสนาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ท่านเป็นผู้พบขุนศึกผู้ตายและภรรยาก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมอันน่าสะเทือนใจ และเป็นเหตุให้ท่านต้องย้อนกลับมามองและเรียนรู้ถึงชีวิตมนุษย์และตัวเองใหม่อีกครั้ง
เป็นคนหน้าซื่อที่ศรัทธาในพระศาสนา แต่ยากจนเพราะมีลูกเล็กๆ หลายคน เขาเป็นคนดีขยันหมั่นเพียรที่จะทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ชายตัดฟืนคนนี้เป็นคนพบศพขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า ทำให้ต้องมาให้การในศาล ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้ร่วมสนทนาถึงคดีนี้กับพระหนุ่มและสัปเหร่อในอุโมงค์ผาเมืองด้วย
เป็นสัปเหร่อแก่ที่อาศัยอยู่ในอุโมงค์ผาเมือง ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน มีความคุ้นเคยทั้งคนเป็นและคนตาย จึงมีความเข้าใจวิถีทางชีวิตของมนุษย์ได้อย่างดีในทุกแง่มุม เขามักจะมองโลกและใช้ชีวิตอย่างเป็นกลาง จึงทำให้เขาสามารถวิเคราะห์นิสัยมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ

นักแสดงรับเชิญ

แก้

งานสร้างภาพยนตร์

แก้

เค้าโครงเรื่อง

แก้

อุโมงค์ผาเมือง เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่อง ราโชมอน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเรียบเรียงและดัดแปลงจากเรื่องสั้น 2 เรื่อง คือ Rashomon (ประตูผี) และ In a Grove (ในป่าละเมาะ) ของนักประพันธ์ยอดฝีมือชาวญี่ปุ่น ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ อันเป็นที่มาของภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องดังก้องโลกอย่าง Rashomon (2493) ผลงานการกำกับลำดับที่ 11 ของ อากิระ คุโรซาวา ออกฉายครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ก่อนที่จะเดินทางไปฉายประกวดและคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ที่ประเทศอิตาลี พ.ศ. 2494 และเข้าฉายที่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2494 ก่อนที่จะได้เข้าชิงและคว้ารางวัลอีกหลายสถาบัน รวมถึงรางวัลออสการ์เกียรติยศ เมื่อปี พ.ศ. 2495 [2]

สู่การเขียนบทสุดละเมียดและกำกับอย่างสุดวิจิตรตระการตาของผู้กำกับ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้นำมาดัดแปลงเรื่องราวนี้ เป็นภาพยนตร์ย้อนยุคไปในอาณาจักรล้านนาไทยเมื่อ 700 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวของคดีฆาตกรรมพิศวงระหว่างขุนศึกนักรบ, โจรป่า และเจ้านางผู้เลอโฉม

หม่อมน้อยได้เผยถึงโปรเจกต์ใหม่ล่าสุดนี้ว่า “ภาพยนตร์ใหม่ที่กำลังทำคือเรื่อง ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ซึ่งผมดัดแปลงมาจากบทละครเวทีสนุกเข้มข้นน่าติดตามของท่านคึกฤทธิ์ เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีเกิดของท่าน และยังครบรอบ 40 ปีของสหมงคลฟิล์มพอดีด้วย ก็เป็นการร่วมฉลองสองวาระยิ่งใหญ่นี้ไปพร้อมๆ กันเลย ถือเป็นโอกาสอันดีที่เสี่ยเจียงยินดีทุ่มทุนสร้างและมอบความไว้วางใจให้ผม กำกับหนังเรื่องใหม่อีกครั้งหลังจากเพิ่งเสร็จสิ้น ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง หนังเรื่องนี้ก็ได้นักแสดงชั้นดียอดฝีมือแห่งยุคมาร่วมประชันบทบาทมากมาย ทั้งอนันดา, พลอย เฌอมาลย์, มาริโอ้, อ๊อฟ พงษ์พัฒน์, คุณหม่ำ, ดอม เหตระกูล และยังมีอีกหลายคนที่จะมาร่วมสร้างสีสันให้กับหนังเรื่องนี้ ซึ่งรับรองได้ว่านักแสดงทุกคนจะสร้างความแปลกใหม่และเปลี่ยนแปลงคาแร็คเตอร์ อย่างที่ไม่เคยแสดงมาก่อนแน่นอน”

โครงเรื่องทั้งหมด หม่อมน้อยได้กล่าวว่า “คือมันเป็นเรื่องของคดีที่ขุนศึกกับภรรยา เดินทางไปในป่าแล้วก็ได้พบกับโจรป่า และขุนศึกก็โดนโจรป่าหลอกล่อและข่มขืนเมียต่อหน้า แล้วท้ายสุดตัวขุนศึกก็ตายไปและโจรป่าก็โดนจับได้ ต้องไปให้การในศาล ตัวเมียขุนศึกก็ต้องไปให้การด้วย ก็มีการเข้าทรงวิญญาณของขุนศึก และต่างคนก็ต่างให้การต่างๆ กัน และเรื่องก็ดำเนินผ่านพระหนุ่ม ซึ่งเป็นผู้เห็นขุนศึกและภรรยาเข้าป่าไปเป็นคนสุดท้าย และตัวคนตัดฟืน ก็เป็นคนพบศพ และสองคนก็ต้องให้การในศาลด้วย พระหนุ่มได้เห็นว่าทั้งสามคนก็ให้การคนละทิศคนละทางเลย ทุกคนได้รับสารภาพว่าตนเองนั้นได้เป็นคนฆ่าขุนศึก ทั้งโจรก็รับสารภาพว่าตนเป็นคนฆ่า ตัวเมียขุนศึกก็บอกว่าเธอเป็นคนฆ่าสามี ส่วนวิญญาณขุนศึกก็ให้การว่าทนความเสื่อมเสียเกียรติยศไม่ได้ก็เลยฆ่าตัวตายเอง ตัวพระหนุ่มซึ่งบวชได้พรรษาเดียว เป็นพระที่เคร่งในวินัยได้เจอเหตุการณ์นี้ก็รู้สึกว่าไม่สามารถเข้าใจมนุษย์ ได้เรื่องเริ่มต้นตรงนี้ ระหว่างที่พระหนุ่มจะเดินทางกลับบ้านเกิด ก็เจอพายุ และตัวคนตัดฟืนก็วิ่งตามมาพอดี ทั้งสองคนก็เลยไปหลบฝนอยู่ในอุโมงค์ผาเมือง ทำให้เจอกับสัปเหร่อและความเป็นจริงต่างๆ ก็เปิดเผยขึ้นในอุโมงค์นั้นเอง”[3]

นักแสดงและผู้กำกับ

แก้

หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ จับมือผู้กำกับ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล อีกครั้ง เป็นผลงานลำดับที่ 10 ถัดจากภาพยนตร์เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ในปี พ.ศ. 2553 หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงกับภาพยนตร์รักพีเรียดสุดละเมียดเรื่องนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” อันเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งหม่อมน้อยเคยสร้างเป็นละครเวทีมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2535 ที่มณเฑียรทองเธียเตอร์ โรงแรมมณเฑียร

ระดมทีมนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทย ได้แก่ มาริโอ้ เมาเร่อ, อนันดา เอเวอริงแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, ดอม เหตระกูล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, รัดเกล้า อามระดิษ และนักแสดงสมทบอีกมากมายมาประชันบทบาทสุดเข้มข้นเป็นครั้งแรก ในเรื่องราวสนุกชวนติดตามที่สอดแทรกเนื้อหาสาระไปตลอดทุกอณูภาพยนตร์

หลังจากที่คว้ารางวัลด้านการแสดงยอดเยี่ยมในสาขานักแสดงนำชายและนักแสดงนำหญิง แทบทุกสถาบันรางวัลภาพยนตร์ไทยจากภาพยนตร์รักอมตะเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เมื่อปีที่ผ่านมาล่าสุด อนันดา เอเวอริงแฮม และ เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ก็ได้รับโอกาสอันดีกลับมาประชันบทบาทกันอย่างสุดฝีมืออีกครั้งในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้[4]

ส่วนตัวละครตัวอื่นๆ ที่มีสมทบเข้ามาก็มี ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ที่แสดงเป็นทิพย์ ในชั่วฟ้าดินสลาย มาช่วยเสริมให้อีกในบทเป็นเจ้าหลวงผู้พิพากษาในเรื่องนี้ ส่วน ดารณีนุช โพธิปิติ รับบทเป็นแม่ของแม่หญิงคำแก้ว และมีธัญญา โสภณ ในบทแม่ของขุนศึกก็มาร่วมมาแสดงอีกด้วย

ฉากการต่อสู้

แก้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้นำ พันนา ฤทธิไกร กำกับฉากบู๊ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ไทย ร่วมกับผู้กำกับ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ร่วมกันกำกับฉากต่อสู้อันน่าตื่นเต้นระหว่าง อนันดา เอเวอริงแฮม และ ดอม เหตระกูล ในภาพยนตร์

หม่อมน้อยเผยว่า “ผมไม่เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ซักเท่าไหร่นัก แต่ในเรื่องนี้ต้องมีฉากต่อสู้ของอนันดา และดอมท่ามกลางป่า และธรรมชาติอันสวยงามที่น้ำตกหมอกฟ้า ผมจึงต้องเชิญคุณพันนามาออกแบบและร่วมกำกับฉากแอ็คชั่นในหนังพีเรียดเรื่องนี้ แล้วก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับคิวบู๊มืออาชีพระดับอินเตอร์อย่างนี้ คุณพันนาไม่ใช่แค่กำกับฉากบู๊ให้ดูสนุกตื่นเต้นเร้าใจเท่านั้น แต่ยังสร้างสรรค์ศิลปะการต่อสู้ในแบบฉบับวัฒนธรรมล้านนาโบราณออกมาได้อย่างสมจริงและงดงามจนน่าทึ่ง แบบที่ไม่เคยเห็นในเรื่องไหนมาก่อนเลย ไม่มีใครคาดคิดว่าพันนากับหม่อมน้อย หรือหม่ำกับหม่อมน้อยจะโคจรมาเจอกันได้ ก็ได้มาทำงานร่วมกันแล้วในเรื่องนี้ ถือเป็นสีสันอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้” [5]

การออกฉาย

แก้

งานเปิดตัวภาพยนตร์

แก้

ภาพยนตร์ อุโมงค์ผาเมือง จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ณ สถาบันคึกฤทธิ์ ซอยงามดูพลี พระรามสี่ โดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวเปิดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ[6]

จากนั้นจึงเป็นการเปิดเผยเรื่องราวความเป็นมาแห่งภาพยนตร์ทรงคุณค่าเรื่อง นี้ ด้วยพรีเซ้นต์เบื้องหลังงานสร้างสุดยิ่งใหญ่ พร้อมเปิดตัวทีมนักแสดงนำในเรื่องมาร่วมเปิดตัวอย่างคับคั่งไม่ว่าจะเป็น มาริโอ้ เมาเร่อ, อนันดา เอเวอริงแฮม, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, ธัญญา วชิรบรรจง, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, ดอม เหตระกูล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, รัดเกล้า อามระดิษ รวมทั้งเหล่านักแสดงสมทบอีกหลายชีวิต ถือว่าเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ได้เหล่านักแสดงยอดฝีมือประชันบทบาทกันสุดเข้มข้น [7]

พร้อมทั้งบอกเล่าความรู้สึกสุดภาคภูมิในการที่ได้ร่วมงานกับสุดยอดผู้กำกับอย่าง ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่ขึ้นมากล่าวถึงความรู้สึกต่อภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างสุดประทับใจ ปิดท้ายงานด้วยการถ่ายภาพรวมของบรรดาแขกผู้มีเกียรติ, ผู้บริหารและทีมงานภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่ระลึก

รอบปฐมทัศน์

แก้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์ อุโมงค์ผาเมือง รอบปฐมทัศน์การกุศล ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554 ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย พารากอนซีนีเพล็กซ์ โดยรายได้จากการฉายหลังหักค่าใช้จ่าย สมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐[8][9]

การตอบรับ

แก้

รายได้

แก้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในสุดสัปดาห์แรกที่เข้าฉายระหว่างวันที่ 8 กันยายน - 11 กันยายน พ.ศ. 2554 เสียงชื่นชมกล่าวว่า เป็นภาพยนตร์คุณภาพในทุกๆ ด้านทั้งเนื้อหาที่ดูสนุก อิ่มเอมใจ ให้ข้อคิด งานสร้างระดับมืออาชีพ และสุดยอดการแสดงจากทีมนักแสดงแถวหน้า ขณะที่เสียงตอบรับทางลบส่วนใหญ่ตำหนิความยืดเยื้อของการดำเนินเรื่อง การแสดงที่ไม่เป็นธรรมชาติ บทสนทนาซึ่งยัดเยียด โดยหนังทำรายได้รวมเพียง 27.0 ล้านบาท[10]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ฉลองครบ “100 ปี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” และ “40 ปี สหมงคลฟิล์ม”[ลิงก์เสีย]
  2. http://www.thaicinema.org/kits313umong.asp
  3. http://www.ryt9.com/s/prg/1200979
  4. สุดยอดนักแสดงแถวหน้า "อนันดา" ประชันฝีมือ "พลอย เฌอมาลย์" อลังการงานแสดงสุดเข้มข้นอีกครั้งใน "อุโมงค์ผาเมือง" [ลิงก์เสีย]
  5. แอ็คชั่นสนั่นป่า “พันนา ฤทธิไกร” กำกับฉากบู๊ “อนันดา-ดอม” ร่วมงาน “หม่อมน้อย” ครั้งแรก!! .. ใน “อุโมงค์ผาเมือง”[ลิงก์เสีย]
  6. แถลงข่าว “อุโมงค์ผาเมือง” สุดยิ่งใหญ่ .. เปิดตัว “ทีมนักแสดงนำ” ครั้งแรก!![ลิงก์เสีย]
  7. http://www.nangdee.com/breakingnews/bnews_preview.php?code_id=2697&c_order_item=1[ลิงก์เสีย]
  8. http://www.sahamongkolfilm.com/th/indexSiteNews.php?id=880[ลิงก์เสีย]
  9. http://www.sahamongkolfilm.com/th/indexSiteNews.php?id=893[ลิงก์เสีย]
  10. http://www.sahamongkolfilm.com/th/indexSiteNews.php?id=904[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้