อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์

อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ หรือที่เรียกว่า อุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในที่ หมู่ที่ 4 บ้านท่าลำใย ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี[1] เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีไม่มาก แต่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นและธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก หน้าผา และถ้ำธารลอด ที่นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากการยุบตัวของหินปูน ประกอบกับการกัดเซาะของน้ำทำให้เขาหินปูนกลายเป็นสะพานธรรมชาติขนาดมหึมา และมีหลักฐานแสดงถึงด้านประวัติ-ศาสตร์เป็นทางเดินทัพของพม่าและกองทัพญี่ปุ่น มีเนื้อที่ประมาณ 59 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,875 ไร่[2][3]

อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
ถ้ำธารลอดน้อย
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย
เมืองใกล้สุดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี
พิกัด14°47′49″N 99°10′54″E / 14.79694°N 99.18167°E / 14.79694; 99.18167
พื้นที่59 ตารางกิโลเมตร (37,000 ไร่)
จัดตั้งกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523
ผู้เยี่ยมชม31,536 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภูมิประเทศ แก้

อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์อยู่ในเขตเทือกเขาภาคตะวันตก ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 240-1,257 เมตร ประกอบด้วยเขากำแพง เขาไม้หอม เขาพุช้างหมอบ จุดสูงสุดคือ ยอดเขากำแพงมีความสูงประมาณ 1,260 เมตร[4] จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของห้วยแม่พลู ห้วยตะกวด ห้วยแม่กระพร้อย และห้วยกระพร้อย

ภูมิอากาศ แก้

สภาพภูมิอากาศในพื้นที่แห่งนี้ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ทำให้ช่วงนี้มีความชื้นในอากาศสูง มีเมฆมาก ฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,700 มม./ปี ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ สภาพอากาศช่วงนี้หนาวเย็น ท้องฟ้าโปร่ง มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม ฤดูร้อนจะเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 37 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า แก้

อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่คงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ[5][6] สามารถจำแนกประเภทแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ในบริเวณที่เป็นสังคมพืชป่าดิบเขา พบบริเวณแนวเขาและยอดเขากำแพงที่ระดับความสูงประมาณ 1,000-1,257 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ก่อเดือย ก่อแป้น ทะโล้ มะแฟน อบเชย กำยาน พญาไม้ หว้าเขา มะไฟ ตอง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หนามเค็ด เจ็ดช้างสาร เข็ม เร่ว กระวาน ผักกูด กูดห้อม หญ้าข้าวป่า และหญ้าคมบางเขา เป็นต้น ไม้เถาได้แก่ กระจับเขา จิงจ้อน้อย เมื่อย ข้าวเย็นเหนือ หวาย เป็นต้น และพืชอิงอาศัยที่พบได้แก่ กะเรกะร่อน เอื้องเข็ม ช้าง เอื้องกุหลาบ เป็นต้น สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ประจำได้แก่ ลิงกัง หมีหมา หมาไม้ พญากระรอกดำ เลียงผา นกแก๊ก นกกก และนกพญาไฟ

ในบริเวณหุบเขาที่มีหน้าดินลึก มีความชื้นสูง เช่น หุบเขาริมห้วยแม่พลู ห้วยแม่กระพร้อย ห้วยกระพร้อย และรอบยอดเขากำแพง ถัดจากป่าดิบเขาลงมาตั้งแต่ระดับความสูง 200 –1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถูกปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ซึ่งมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางนา ยางแดง พระเจ้าห้าพระองค์ ปออีเก้ง ตาเสือ ข่อยหนาม ชมพูป่า ตาว ตะเคียนทอง ยมหิน ฯลฯ พืชอิงอาศัยเป็นกล้วยไม้ในสกุลหวาย สกุลช้าง กระแตไต่ไม้ นมเมีย ไข่มุก ข้าหลวงหลังลาย ชายผ้าสีดา และจุก โหรินี เป็นต้น ไม้เถาได้แก่ กระไดลิง สะบ้าลิง หวายขม สะแกเครือ หนามขี้แรด และสะแกวัลย์ เป็นต้น และพืชพื้นล่างที่พบได้แก่ เข็มดอกใหญ่ หัสคุณ กะตังใบ กระดูกค่าง เปราะหอม เร่ว ผักหนาม กล้วยป่า โจด แขม และหญ้าเทียน เป็นต้น เนื่องจากสภาพเรือนยอดของป่าประเภทนี้เรียงตัวต่อเนื่องชิดกัน ทำให้มีความชุ่มชื้น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ชะนีมือขาว ลิงกัง พญากระรอกดำ นกกก นกเขาใหญ่ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า บริเวณพื้นป่าซึ่งเป็นที่ลุ่มหรือใกล้ร่องน้ำ หมูป่า และกวางป่า ใช้เป็นแหล่งปลักโคลนสำหรับนอนแช่ปลัก

สังคมพืชป่าเบญจพรรณพบปกคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากที่สุด ตั้งแต่ระดับความสูง 300-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่ระหว่างป่าดิบแล้งกับป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เสลา รกฟ้า แดง ชิงชัน กระบก ประดูป่า แคทราย งิ้วป่า เปล้าหลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ไผ่ซาง ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่ผาก เข็ม กระตังใบ หนามเค็ด หัวกลัก เปราะป่า หนวดฤๅษี เป็นต้น เถาวัลย์และพืชอิงอาศัยที่พบได้แก่ หนามขี้แรด หนามเกี่ยวไก่ กล้วยไม้สกุลเข็ม กะเรกะร่อน หวาย และช้าง เป็นต้น สัตว์ป่าที่ใช้ประโยชน์ป่าเบญจพรรณเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารได้แก่ ช้างป่า หมูป่า เก้ง วัวแดง เม่นเล็กหางพอง เม่นใหญ่ กระต่ายป่า ไก่ป่า ไกฟ้าหลังเทา และนกหัวขวานชนิดต่างๆ เป็นต้น

สังคมพืชป่าเต็งรังมีพื้นที่น้อยที่สุดในอุทยานแห่งชาติ ปรากฏกระจายเป็นหย่อมๆ ตามบริเวณยอดเขาล้อมรอบด้วยป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 600-1,000 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง พะยอม เหียง พลวง มะขามป้อม พืชพื้นล่างได้แก่ ติ้วขาว เป้ง ปรง กระเจียว เปราะ ตาเป็ดตาไก่ เครือออน หญ้าเพ็ก และหญ้าคมบางเขา เป็นต้น ในบริเวณถ้ำธารลอดน้อยและถ้ำธารลอดใหญ่มีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ เช่น นกเอี้ยงถ้ำ ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ จงโคร่ง งูทางมะพร้าวลายขีด ผึ้งหลวง และลำธารที่ไหลลอดผ่านถ้ำมีปลาในกลุ่มปลาสร้อยเช่น ปลาซิว ปลาจาด ปลาซิวควายแถบดำ รวมไปถึงกุ้ง อาศัยอยู่อย่างชุกชุม ในบริเวณพื้นที่ส่วนที่เปิดโล่งติดกับป่าจะพบนกกระแตแต้แว้ด นกกระปูดใหญ่ และกบหนอง ส่วนในบริเวณพื้นที่ที่ใกล้กับหมู่บ้านและพื้นที่เกษตรกรรมจะพบ กวางป่า เก้ง หมูป่า นกปรอดหัวสีเขม่า นกอีเสือสีน้ำตาล นกตะขาบทุ่ง กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน คางคกบ้าน เป็นต้น

หน่วยงานในพื้นที่ แก้

  • หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ฉส.1 เขาเหล็ก
  • หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ฉส.2 เขากำแพง

สถานที่ท่องเที่ยว แก้

  • ถ้ำธารลอดน้อย มีลักษณะเป็นถ้ำความยาวประมาณ 300 เมตร มีลำธารไหลลอดถ้ำตลอดทั้งปี ภายในถ้ำมีไฟฟ้าส่องสว่างตลอดแนวถ้ำ ซึ่งเป็นไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ตั้งอยู่ด้านบนถ้ำ เปิดตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน 300 เมตร ภายในน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของจงโคร่ง ซึ่งเป็นคางคกขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงผสมพันธุ์จะส่งเสียงร้องคล้ายลูกสุนัขระงมไปทั่วถ้ำ
  • น้ำตกไตรตรึงษ์ มี 3 ชั้น ห่างจากที่ทำการอุทยาน 1.5 กิโลเมตร บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
  • ถ้าธารลอดใหญ่ ห่างจากที่ทำการอุทยาน 2.6 กิโลเมตร บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นถ้ำที่ด้านบนมีปล่องทะลุแสงสว่างสามารถส่องลงมาได้ ภายในถ้ำเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปและจิตรกรรมฝาผนังสีรูปพญานาค เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงที่นี่เชื่อว่า ถ้ำแห่งนี้เป็นที่อาศัยของพญานาค ในอดีตมีการทำพิธีขอฝนจากพญานาคภายในถ้ำนี้
  • วัดถ้ำใหญ่ ตั้งอยู่สุดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ห่างจากที่ทำการอุทยาน 3 กิโลเมตร ด้านหลังวัดมีเส้นทางรถยนต์เข้าถึงได้แต่ต้องอ้อมไปทางอำเภอศรีสวัสดิ์ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร
  • น้ำตกธารเงิน มี 3 ชั้น ห่างจากที่ทำการอุทยาน 1.8 กิโลเมตร
  • น้ำตกธารทอง มี 3 ชั้น ห่างจากที่ทำการอุทยาน 1.8 กิโลเมตร
  • น้ำตกสไลเดอร์ มี 3 ชั้น ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 3 กิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าไปถึงได้

อ้างอิง แก้

  1. "Tham Than Lot National Park". Tourism Authority of Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2013. สืบค้นเมื่อ 21 May 2013.
  2. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022.
  3. สำนักอุทยานแห่งชาติ http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1017
  4. "Chaloem Rattanakosin National Park". Department of National Parks (Thailand). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 May 2013. สืบค้นเมื่อ 21 May 2013.
  5. Jeremy Hance (4 June 2015). "Tigers expanding? Conservationists discover big cats in Thai park". mongabay.com. สืบค้นเมื่อ 11 July 2015.
  6. Elliot, Stephan; Cubitt, Gerald (2001). THE NATIONAL PARKS and other Wild Places of THAILAND. New Holland Publishers (UK) Ltd. pp. 36–38. ISBN 9781859748862.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้