อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่าป่าเขือน้ำ ท้องที่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 67 กิโลเมตร

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
หอนางอุสาภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
พิกัด17°43′51.8″N 102°21′22.6″E / 17.731056°N 102.356278°E / 17.731056; 102.356278
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ส่วนหนึ่งของภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iii), (v)
อ้างอิง1507-001
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2567 (คณะกรรมการสมัยที่ 46)
พื้นที่575.976 เฮกตาร์
พื้นที่กันชน568.078 เฮกตาร์
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทตั้งอยู่ในประเทศไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ประเทศไทย)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมาวัดพระพุทธบาทบัวบานเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยใช้ชื่อว่า ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี (อังกฤษ: Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย[1]

ศัพทมูลวิทยา

แก้

ชื่อ ภูพระบาท มีชื่อเรียกอื่นว่า ภูพาน หรือ ภูกูเวียน[2] ตามเรื่องราวใน ตำนานอุรังคธาตุ (โดยข้อสันนิษฐานของ ศ.พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม และยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ) ทั้งนี้ชื่อภูพระบาทเป็นชื่อภูเขาขนาดเล็กชื่อหนึ่งในอำเภอบ้านผือ และยังเชื่อมต่อกับทิวเขาภูพานทางทิศเหนือ[3] อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ธีระวัฒน์ แสนคำ เสนอว่า ข้อสันนิษฐานเดิมที่ว่าภูพระบาทคือภูกูเวียนอันเป็นที่อยู่ของสุวรรณนาคมีความน่าสงสัย ควรที่จะได้รับการทบทวนใหม่อีกครั้ง[2]

ประวัติ

แก้

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทพบร่องรอยทางอารยธรรมของมนุษย์สมัยโบราณบนภูแห่งนี้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบมาถึงวัฒนธรรมสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยล้านช้าง และสมัยรัตนโกสินทร์ตามลำดับ กำหนดอายุราว 3,000–2,500 ปีก่อนประวัติศาสตร์มาแล้ว[4] ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี เช่น การใช้สีแดงเขียนภาพสีภาพสลักบนผนังถ้ำซึ่งพบมากกว่า 54 แห่ง[5] การสลักหินรูปประติมากรรมพระพุทธรูปและเทวรูป การก่อสร้างศาสนสถานสมัยทวารวดีด้วยอิฐ เช่น ถ้ำพระ พระพุทธบาทบัวบก อาคารรอบพระพุทธบาทหลังเต่า รอยพระพุทธบาทสมัยทวารวดีและล้านช้าง การดัดแปลงเพิงผาธรรมชาติ เช่น หอนางอุสา ใบเสมาหินขนาดใหญ่ ภาพแกะสลักนูนต่ำ เป็นต้น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นสิ่งก่อสร้างด้วยฝีมือมนุษย์[4]

พื้นที่ภูพระบาทนับเป็นแหล่งสีมาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางธรณีวิทยาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ในฐานะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม[6] ทั้งนี้การเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาเริ่มเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิราวพุทธศตวรรษที่ 5[7] จากการอพยพของชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนเอเชียใต้อันเนื่องมาจากการรุกรานของชาวอารยันรวมทั้งการรุกรานของพระเจ้าอโศกมหาราชในสมัยหลัง[8] แล้วเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนคาบสมุทรอินโดจีนและดินแดนสุวรรณภูมิ[7] ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 5 ถึงก่อนพุทธศตวรรษที่ 10 มีชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางใต้ของอินเดียอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนับถือศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์[7] และยังมีชนชาติอื่น ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเจ้าครองดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้สิ่งก่อสร้างรวมถึงศาสนสถานต่าง ๆ สมัยทวารวดีที่ปรากฏหลายแห่ง เช่น ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ มีศิลปะแบบอินเดียโบราณและมอญอยู่ด้วย[9]

ภูพระบาทตามความเชื่อของชาวอีสานและชาวลาวในอดีตได้นำศาสนสถานและร่องรอยโบราณสถานผูกเรื่องราวกับตำนานและวรรณกรรมของชาวลุ่มแม่น้ำโขง[4] ได้แก่ ตำนานอุรังคธาตุ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมายังลุ่มแม่น้ำโขงมาโปรดสัตว์ที่ภูพระบาทอันเป็นที่อยู่ของพญานาค 2 ตน แล้วประทับรอยพระพุทธบาทไว้สำหรับสักการบูชา ได้แก่ รอยพระพุทธบาทบัวบกและรอยพระพุทธบาทบัวบาน หรือวรรณกรรมอีสานพื้นบ้านเรื่อง พระกึดพระพาน มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับภูพระบาท เช่น นางอุสา ท้าวบารส เป็นต้น ตำนานและวรรณกรรมพื้นบ้านเหล่านี้ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากภูพระบาทต่อความเชื่อและจิตใจของชาวอีสานมาช้านาน[4]

การค้นพบ

แก้

คณะสำรวจโครงการผามอง กรมศิลปากร ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีภูพระบาทตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา[10] พบว่ามีโบราณสถานทั้งสิ้น 68 แห่ง แบ่งเป็นโบราณสถานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 45 แห่ง สิ่งก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่ดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้เป็นศาสนสถาน 23 แห่ง ร่องรอยการค้นพบทางด้านโบราณคดีของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแบ่งตามยุคสมัย ได้แก่[4]

  1. ภาพเขียนสียุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคโลหะ อายุราว 3,000–2,500 ปีก่อนประวัติศาสตร์[10]: 72 
  2. ศาสนสถานสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12–16
  3. โบราณสถานสมัยลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15–18[10]: 86 
  4. ศาสนสถานสมัยล้านช้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21–23[11]
  5. โบราณสถานที่บูรณะสมัยรัตนโกสินทร์

ต่อมา เดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระพุทธบาทบัวบกที่ภูพระบาทเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2524 ตาม ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดที่ดินโบราณสถาน ลงใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2524[12] แล้วจึงริเริ่มดำเนินการอนุรักษ์พัฒนาเรื่อยมาจนแล้วเสร็จเพื่อเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศโบราณสถานภูพระบาทให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเมื่อ พ.ศ. 2532 และกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้กรมศิลปากรเข้าทำประโยชน์และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534[4] ในโอกาสนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย[10]

การจำแนกกลุ่มโบราณสถาน

แก้

การจำแนกกลุ่มตำแหน่งโบราณสถานที่ค้นพบในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท แบ่งออกเป็น 9 กลุ่มใหญ่[10]: 9–11  ดังนี้

  • กลุ่มภาพเขียนสี ประกอบด้วยภาพเขียนสีโนนหินเกลี้ยง จำนวน 3 แห่ง และภาพเขียนสีถ้ำดินเพียง จำนวน 7 แห่ง
  • กลุ่มภาพเขียนสี-โบราณสถาน ประกอบด้วยวัดพ่อตา–วัดลูกเขย พบแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานจำนวน 27 แห่ง
  • กลุ่มวัดพระพุทธบาทบัวบก พบแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานจำนวน 9 แห่ง
  • กลุ่มถ้ำห้วยหินลาด พบแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานจำนวน 2 แห่ง
  • กลุ่มโนนสาวเอ้ พบแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานจำนวน 4 แห่ง
  • กลุ่มห้วยหินร่อง พบแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานจำนวน 9 แห่ง
  • กลุ่มพระพุทธบาทหลังเต่า พบแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานจำนวน 5 แห่ง
  • กลุ่มเจดีย์ร้าง (อุปโมงค์) และถ้ำพระเสี่ยง พบแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานจำนวน 2 แห่ง

แม้ว่าสมัยพุทธศตวรรษที่ 16–18 เคยมีขอมแผ่อิทธิพลเข้ามาถึงดินแดนอีสานตอนบน แต่กลับไม่พบสิ่งก่อสร้างหรือศิลปกรรมที่เป็นลัทธิเทวราชาซึ่งเป็นคติความเชื่อมาจากขอมในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเลย[13]

สภาพภูมิประเทศ

แก้
 
ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำคน

สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นาน ๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหินและเพิงผารูปร่างแปลก ๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000–3,000 ปีมาแล้ว ผู้คนในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่าง ๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทปรากฏภาพเขียนสีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เช่นที่ถ้ำวัว–ถ้ำคนและภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป

สถานที่สำคัญ

แก้

สถานที่สำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้แก่

การสงวนรักษาและการเตรียมการเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

แก้

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนจำนวน 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด

  • วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 ยูเนสโกได้ขึ้นเป็นสถานที่ที่ได้รับขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม
  • พ.ศ. 2559 สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (ไอโคมอส) ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบเกี่ยวกับการเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของทางการไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของสีมากับพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่โดดเด่นของอุทยานฯ รวมทั้งหากเป็นไปได้ เสนอให้พิจารณาเกณฑ์และขอบเขตการขึ้นทะเบียนอุทยานฯ ที่ทางการไทยเสนอ[14]
  • (ร่าง) ข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น "ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี" รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี[6]

การเดินทาง

แก้

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานี 55 กิโลเมตร[4]: 3, 374  โดยเดินทางจากตัวจังหวัดไปตามถนนมิตรภาพช่วงอุดรธานี–หนองคาย จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 ระยะทาง 43 กิโลเมตรถึงอำเภอบ้านผือ แล้วเดินทางจากตัวอำเภอบ้านผือ (มีป้ายบอกเส้นทางไปอุทยานฯ) ตรงไปอีก 12 กิโลเมตร จึงจะถึงที่ตั้งอุทยานฯ[4]: 3, 374 

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. "ไทยเฮอีก! ยูเนสโก ประกาศ ภูพระบาท เป็นมรดกโลก เปิดเข้าชมฟรี 28 ก.ค. – 12 ส.ค.นี้". ข่าวสดออนไลน์. 27 กรกฎาคม 2567.
  2. 2.0 2.1 ธีระวัฒน์ แสนคำ. "ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับทีตั้งภูกูเวียนในตำนานอุรังคธาตุ," ศิลปวัฒนธรรม 45(7)(พฤษภาคม 2567):121-122.
  3. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2520). อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔ (อักษร ย-ฮ). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. หน้า 54.
    • สุรพล ดําริห์กุล. (2549). แผ่นดินอีสาน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. หน้า 121. ISBN 978-974-7-38396-6
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ. (2542). "ภูพระบาท : อุทยานประวัติศาสตร์," สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม ๑๐ ฟ้อนผู้ไทย-มีเนิก : นิทาน. กรุงเทพฯ: สยามเพรส แมเนจเม้นท์. หน้า 3374–3386. ISBN 974-8365-26-3
  5. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2567.
  6. 6.0 6.1 เตรียมการเข้ม ดัน ภูพระบาท ขึ้นเป็น มรดกโลก คุณค่าโดดเด่น วัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.khaosod.co.th/update-news/news_777777811108
  7. 7.0 7.1 7.2 ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๔ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๒-๒๕) เรื่องพงศาวดารเมืองหัวพันห้าทั้งหก เรื่องตำนานการเกณฑ์ทหารกับเรื่องตำนานกรมทหารราบที่ ๔ เรื่องจดหมายเหตุกองทัพปราบฮ่อ และเรื่องสถานที่และวัตถุซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ ภาคที่ ๑-๒. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507. หน้า 74-75.
  8. ถนอม อานามวัฒน์. (2527). ประวัติศาสตร์เอเชียใต้อดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: บางลำพูการพิมพ์. หน้า 23–24.
  9. บุนมี เทบสีเมือง. (2566). ความเป็นมาของชนชาติลาว เล่ม 1 การตั้งถิ่นฐานและสถาปนาอาณาจักร. (แปลโดย ไผท ภูธา). กรุงเทพฯ: บุ๊ค ไทม์. หน้า 100. ISBN 978-616-1-40496-3
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 พิทักษ์ชัย จัตุชัย. (2553). การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 7.
  11. กรมศิลปากร. (2564). วัฒนธรรมล้านช้างที่ปรากฏบนภูพระบาท. ขอนแก่น: อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น. ไม่ปรากฏเลขหน้า.
  12. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดที่ดินโบราณสถาน. (2524, 28 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 98 ตอนที่ 63. หน้า 1214.
  13. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2539). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน ฉบับต้นแบบ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. หน้า 253. ISBN 974-836-395-3
  14. ICOMOS (2016a), Evaluations of Nominations of Cultural and Mixed Properties to the World Heritage List (WHC-16/40.COM/INF.8B1), http://whc.unesco.org/document/141702