อิชตับ (อักษรโรมัน: Ixtab, Ix Tab, ออกเสียง: [iʃˈtaɓ]) เป็นเทพเจ้าแห่งอัตวินิบาตกรรมของชาวมายาในแถบคาบสมุทรยูกาตัง[1][2] นามของเทพองค์นี้มีความหมายว่า "นาง (ผู้ถูกแขวนด้วย) เชือก"[2] หรือ "นางผู้แขวนคอ"[2] และยังมีความเกี่ยวข้องกับนางมารชตาบัย (Xtabay, ออกเสียง: [ˈʃtɑːbaɪ]) ปีศาจแห่งการล่อลวงที่ให้มนุษย์ก่ออัตวินิบาตกรรมหรือฆาตกรรมผู้คนตามคติชาวเมโสอเมริกา[3]

อิชตับ

ภาพเคารพ แก้

ภาพของอิชตับจะมีลักษณะเป็นอิสตรีนางหนึ่งมีผิวกายเน่าเปื่อย ตาปิด และถูกแขวนคอโดยเชือกที่ผูกกับต้นไม้[1][4] วงกลมสีดำบนใบหน้าแสดงถึงความเน่าเปื่อยของศพ ส่วนต้นไม้สื่อถึงคติความเชื่อเรื่องต้นไม้ของโลก (Yanxcha) ต้นไม้ศักดิสิทธิ์ตามคติมายา[1][4]

เทพเจ้า แก้

มีข้อสันนิษฐานว่าคงเกิดเหตุการณ์บางอย่างในคาบสมุทรยูกาตัง อันทำให้ผู้คนมองว่าการก่ออัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนคอเป็นเกียรติอย่างยิ่งหากเสียชีวิตบนต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์[2] และเชื่อว่าหากตายด้วยวิธีนี้จะทำให้วิญญาณขึ้นสวรรค์ได้โดยตรง[5] จึงสามารถอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดบริเวณยูกาตังจึงเป็นพื้นที่ที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก โดยเทพีอิชตับจะเป็นผู้นำพาดวงวิญญาณจากการฆ่าตัวตายเหล่านี้ไปยังแหล่งพักพิงสุดท้ายบนสรวงสวรรค์[1] (ลักษณะเดียวกับยมทูต) พวกเขาจะเข้าไปอยู่ร่วมกับวิญญาณเหล่าทหารหาญผู้พลีชีพ, วิญญาณสตรีที่สิ้นใจระหว่างคลอดลูก และวิญญาณเหล่าปุโรหิต พวกเขาเหล่านี้จะมีชีวิตบรมสุขกับชีวิตหลังความตายโดยจะได้รับอาหาร เครื่องดื่ม และการพักผ่อนตลอดกาลภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์[5]

ความเชื่อ แก้

อิชตับเป็นเทพีที่ถูกมองว่าเป็นแบบอย่างของเพศแม่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เคารพเธอเมื่อยามจำเป็น[2] อิชตับมีอิทธิพลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เมื่อมีใครคนหนึ่งก่ออัตวินิบาตกรรมเชื่อว่าในวันดังกล่าวจะเกิดสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคา[2] หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการทำนายว่าบุตรที่เกิดมาจะมีความพิการหรือทารกตายคลอด[2]

ข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของอิชตับ แก้

มีการถกเถียงในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับการมีตัวตนของเทพีอิชตับในฐานะเทพเจ้าของชาวมายา จากการศึกษาครั้งล่าสุดเรื่อง Relación de las cosas de Yucatán ของดีเอโก เด ลันดา (Diego de Landa) โดยเบียทริซ เรเยส-ฟอสเตอร์ (Beatriz Reyes-Foster) ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเทพีองค์นี้[3] จากการศึกษาเรเยส-ฟอสเตอร์อธิบายว่า ไม่พบข้อความ หลักฐาน หรือสัญลักษณ์เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเทพีแห่งการฆ่าตัวตายของชาวมายา[3] และสันนิษฐานว่าเรื่องราวของอิชตับอาจจะมาจากการตีความเรื่องที่ฝังรากลึกจากหลักฐานทางโบราณคดี (archaeological) และประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ (ethnohistory) ที่ถูกสร้างเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและตำนานท้องถิ่น เรื่องราวของเธอจึงยังคงอยู่มายาวนาน[3]

ทั้งนี้อารยธรรมมายาถูกสร้างใหม่จากโบราณวัตถุของยุคก่อนโคลัมเบีย (pre-Columbian times) จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดตำนานของอิชตับจึงดำรงอยู่โดยไม่มีหลักฐานมายืนยันอย่างหนักแน่นเพียงพอ[3]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Sabrina. (2008). Ixtab. Retrieved March 15, 2017, from http://www.goddessaday.com/mayan/ixtab เก็บถาวร 2017-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Fenton, B. (2015). Ixtab – Mayan Goddess of Suicide. Earth for All. http://earth4all.net/ixtab-mayan-goddess-of-suicide/
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Reyes-Foster, B. M., & Kangas, R. (2016). Unraveling Ix Tab: Revisiting the “Suicide Goddess” in Maya Archaeology. Ethnohistory, 63, 1–27. Retrieved from http://www.academia.edu/20192278/Unraveling_Ixtab_Revisiting_the_Suicide_Goddess_in_Maya_Archaeology
  4. 4.0 4.1 Clark, S. (2009). Ixtab Mayan Goddess Of Suicide. Retrieved March 15, 2017, from http://goddesses-and-gods.blogspot.com/2009/12/ixtab-mayan-goddess-of-suicide.html
  5. 5.0 5.1 Toshner, J. (n.d.). Ixtab - Mayan Mythology. Retrieved March 15, 2017, from http://mayanmythology.weebly.com/ixtab.html