อามีร์ ชารีฟุดดิน

(เปลี่ยนทางจาก อามีร์ ซารีฟุดดิน)

อามีร์ ชารีฟุดดิน ฮาราฮัป (อินโดนีเซีย: Amir Sjarifuddin Harahap, Amir Sjarifoeddin Harahap) เป็นนักชาตินิยมอินโดนีเซียผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมอินโดนีเซีย และเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2490–2491

อามีร์ ชารีฟุดดิน
นายกรัฐมนตรีอินโดนีเซียคนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 – 29 มกราคม พ.ศ. 2491
ก่อนหน้าซูตัน ชะฮ์รีร์
ถัดไปโมฮัมมัด ฮัตตา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด27 เมษายน พ.ศ. 2450
เมดัน, สุมาตราเหนือ, หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์
เสียชีวิต19 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (41 ปี)
ซูราการ์ตา, ชวากลาง, อินโดนีเซีย
ศาสนาศาสนาคริสต์
พรรคการเมืองพรรคสังคมนิยมอินโดนีเซีย

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แก้

อามีร์เกิดที่เมืองเมดัน เกาะสุมาตรา เดิมนับถือศาสนาอิสลาม แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ จัดเป็นผู้เคร่งศาสนาคนหนึ่ง เขาสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยจาการ์ตาเมื่อ พ.ศ. 2476 เขาสนใจการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา และสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นผู้นำองค์กรชาตินิยมที่เรียกว่าปาร์ตินโด และเป็นผู้ร่วมตั้งขบวนการประชาชนอินโดนีเซียหรือเกรินโด องค์การนี้ต้องการเป็นเอกราชแต่ยินดีให้ความช่วยเหลือรัฐบาลอาณานิคมเพื่อต่อต้านฟาสซิสต์

ญี่ปุ่นยึดครอง แก้

หลังจากญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นพยายามหาเสียงสนับสนุนจากชาวอินโดนีเซีย ซึ่งผู้นำขบวนการชาตินิยมบางคน เช่น โมฮัมมัด ฮัตตา, ซูการ์โน เป็นต้น ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่อามีร์ไม่ให้ความร่วมมือ เขาตั้งขบวนการใต้ดินขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น โดยได้รับความช่วยเหลือจากเนเธอร์แลนด์ การดำเนินการของขบวนการดังกล่าวไม่ได้ผล เพราะญี่ปุ่นสืบทราบเสียก่อน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2486 อามีร์และพวกก็ถูกทหารญี่ปุ่นจับ หลายคนถูกประหารชีวิต แต่ฮัตตาและซูการ์โนได้ขอให้ผ่อนผัน อามีร์จึงถูกจำคุกจนสิ้นสุดสงคราม

นายกรัฐมนตรี แก้

หลังจากที่ซูการ์โนและฮัตตาประกาศตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 อามีร์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารนิเทศ ต่อมาอามีร์กับซูตัน ชะฮ์รีร์ได้ยึดอำนาจจากซูการ์โน ตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อล้มล้างภาพของผู้นำรัฐบาลที่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่น อามีร์นั้นได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารนิเทศและกระทรวงกลาโหม

ในสมัยรัฐบาลของชะฮ์รีร์ ได้ออกกฎหมายพรรคการเมือง ทำให้มีพรรคการเมืองมาจดทะเบียนจำนวนมาก รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียด้วย แต่อามีร์ไม่ได้เปิดเผยตัวว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อามีร์ได้จัดตั้งกองกำลังสารวัตรทหารที่จงรักภักดีต่อเขา และพยายามสร้างกองทัพอินโดนีเซียตามแบบกองทัพแดงของรัสเซีย ทำให้ทหารที่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่นไม่ค่อยพอใจอามีร์เท่าใดนัก

ปัญหาของอินโดนีเซียหลังสงครามคือเนเธอร์แลนด์ไม่ต้องการรับรองเอกราชของอินโดนีเซีย และพยายามส่งทหารเข้ามา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 ชะฮ์รีร์ได้ลอบเจรจากับเนเธอร์แลนด์ ให้สาธารณรัฐอินโดนีเซียมีอำนาจปกครองเกาะชวา มาดูรา และสุมาตรา เกาะอื่นๆให้อยู่ในอำนาจของเนเธอร์แลนด์ และจะตั้งสหพันธรัฐอินโดนีเซียในสหภาพเนเธอร์แลนด์-อินโดนีเซีย เมื่อความจริงถูกเปิดเผย ทำให้ชาวอินโดนีเซียผิดหวังมากจนชะฮ์รีร์ต้องลาออกและอามีร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2490

ทันทีที่อามีร์ขึ้นรับตำแหน่ง ปัญหาที่ต้องเผชิญคือการสู้รบกับเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์บุกเข้าโจมตีชวา มาดูรา และสุมาตรา แม้จะรุกคืบไปได้อย่างรวดเร็ว แต่เนเธอร์แลนด์ก็เผชิญแรงกดดันจากสหรัฐและสหประชาชาติให้พักรบ และลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 โดยกำหนดเส้นสมมุติตามแนวการรุกคืบของเนเธอร์แลนด์ และให้เนเธอร์แลนด์ได้ดินแดนหลังเส้นนี้ ซึ่งคิดเป็นสองในสามของเกาะ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ อามีร์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เสียชีวิต แก้

หลังจากพ้นจากตำแหน่ง อามีร์เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และพยายามจัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยประชาชนเพื่อนัดหยุดงานและก่อการจลาจลภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียต ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2491 ที่เมืองมาดีอูน โดนอามีร์นำกองทหารของตนเองเข้าร่วมด้วย ฝ่ายสาธารณรัฐสั่งปราบปรามอย่างเด็ดขาดจนกลายเป็นการสู้รบที่นองเลือด มีคนเสียชีวิตเป็นพันคน ในที่สุด กองกำลังของอามีร์ที่พยายามหนีเข้าในเขตอิทธิพลของเนเธอร์แลนด์ถูกจับได้ อามีร์ถูกประหารชีวิตเมื่อ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2491

อ้างอิง แก้

สุกัญญา บำรุงสุข. "อามีร์ ซารีฟุดดิน." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 132–135.