ซูตัน ชะฮ์รีร์ (อินโดนีเซีย: Sutan Sjahrir) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินโดนีเซียในสมัยปฏิวัติ ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 เขาเกิดในสุมาตราตะวันตกเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2452 ได้ไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่เนเธอร์แลนด์ กลับมาสู่หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์เมื่อ พ.ศ. 2474 และร่วมมือกับโมฮัมมัด ฮัตตาในการจัดตั้งพรรคชาตินิยมขึ้นใน พ.ศ. 2477[1] ต่อมาเขาถูกจับและถูกส่งตัวไปนิวกินีและบันดา

ชะฮ์รีร์เมื่อ พ.ศ. 2489
หน้าปกหนังสือ Our Struggle เมื่อ พ.ศ. 2488
การปราศรัยของชะฮ์รีร์ในบาหลีเมื่อ พ.ศ. 2498

เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครอง เขาปฏิเสธไม่ร่วมมือกับญี่ปุ่น และจัดตั้งขบวนการต่อต้านขนาดเล็กขึ้น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้ว เขาได้ร่วมมือกับอามีร์ ชารีฟุดดิน ยึดอำนาจจากซูการ์โน เพื่อตั้งรัฐบาลที่ไม่มีภาพลักษณ์ว่าเคยร่วมมือกับญี่ปุ่น เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ชะฮ์รีร์เรียกร้องเอกราชโดยใช้หลักการเจรจาแต่ล้มเหลวเพราะเนเธอร์แลนด์ใช้กำลังเข้ายึดครองอีก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 ชะฮ์รีร์ได้ลอบเจรจากับเนเธอร์แลนด์ ให้สาธารณรัฐอินโดนีเซียมีอำนาจปกครองเกาะชวา มาดูรา และสุมาตรา ส่วนเกาะอื่น ๆ ให้อยู่ในอำนาจของเนเธอร์แลนด์ และจะตั้งสหพันธรัฐอินโดนีเซียในสหภาพเนเธอร์แลนด์-อินโดนีเซีย เมื่อความจริงถูกเปิดเผย ทำให้ชาวอินโดนีเซียผิดหวังมากจนชะฮ์รีร์ต้องลาออกและอามีร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2490[2]

หลังจากนั้น ชะฮ์รีร์ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ อีก เขาเป็นหัวหน้าพรรคสังคมนิยมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 แต่ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 2 ต่อมาใน พ.ศ. 2505 เขาถูกจับเพราะสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกบฏ แต่เมื่อเขาเจ็บป่วยใน พ.ศ. 2508 ก็ได้รับอนุญาตให้ไปรักษาตัวที่สวิตเซอร์แลนด์ จนถึงแก่กรรมในเดือนเมษายน พ.ศ. 2509

อ้างอิง

แก้
  • ไมเคิล ลีเฟอร์. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548, หน้า 230–231.
  1. Sjahrir was heavily involved in the Daulat Rajat, the strategic paper of the new PNI. See: Legge, J.D. 'Intellectuals and Nationalism in Indonesia' (Publisher: Equinox, Singapore, 2010) ISBN 978-602-8397-23-0 P.35 [1]
  2. สุกัญญา บำรุงสุข. "อามีร์ ซารีฟุดดิน." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 132–135.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้