"อัลกุรอานเลือด" เป็นสำเนาคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลามที่อ้างว่าเขียนขึ้นจากเลือดของซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรัก ตลอดเวลามากกว่าสองปีในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ซัดดัมมอบหมายให้เริ่มดำเนินงานใน พ.ศ. 2540 ตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 60 ของเขา ซึ่งตามรายงานระบุว่าเขาต้องการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงช่วยเหลือเขาจาก "การสมรู้ร่วมคิดและภยันตราย" ตลอดหลายครั้ง เขาอธิบายเหตุผลของเขาที่มอบหมายให้สร้างคัมภีร์ดังกล่าวในจดหมายซึ่งได้รับการตีพิมพ์โดยสื่อของรัฐอิรักในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543: "ชีวิตของข้าพเจ้าเต็มไปด้วยภยันตรายซึ่งข้าพเจ้าควรจะเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ... แต่เนื่องจากเลือดของข้าพเจ้าหลั่งออกมาเพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าจึงร้องขอให้มีผู้เขียนพระวาทะของพระผู้เป็นเจ้าด้วยเลือดของข้าพเจ้าด้วยความรู้สึกขอบคุณ"[1]

ซัดดัม ฮุสเซน

การกระทำของซัดดัมถูกประณามจากฝ่ายศาสนาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบียใน พ.ศ. 2543[2] และหลังซัดดัมสิ้นอำนาจใน พ.ศ. 2546 อัลกุรอานเลือดถูกนำออกจากการแสดงต่อสาธารณะ กระนั้นยังคงมีการถกเถียงกันว่า ซัดดัมบริจาคเลือดให้กับโครงการนี้มากเพียงใด หรือแม้แต่เลือดนั้นมาจากของเขาหรือไม่

การผลิตและการจัดแสดง

แก้

คัมภีร์ได้รับการผลิตโดยอับบาส ชากิร เญาดี (จูดี) นักอักษรวิจิตรอิสลาม ผู้ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในรัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐอเมริกา เขารายงานว่าตลอดช่วงเวลาสองปี ซัดดัมได้อุทิศเลือด 24-27 ลิตร ซึ่งเญาดีได้ใช้ในการคัดเลือกคัมภีร์กว่า 6,000 โองการ ความยาวมากกว่า 360,000 คำ[3] ตามคำบอกเล่าของเญาดี ซัดดัม ฮุสเซนได้เรียกเขาไปยังโรงพยาบาลอิบน์ ซีนา ในกรุงแบกแดด ที่ซึ่งอุดัย ฮุสเซน บุตรชายของฮุสเซน กำลังพักฟื้นจากการพยายามลอบสังหาร และต้องการให้เขาเขียนอัลกุรอานด้วยเลือดของเขาว่าเป็น "การให้สัตย์ปฏิญาณรูปแบบหนึ่งจากฝ่ายซัดดัม"[4] ผลงานถูกส่งมอบให้แก่ซัดดัมเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2543[1]

รายงานอื่น ๆ ตั้งคำถามถึงข้อมูลของรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนถึงจำนวนเลือดที่ใช้ในการเขียนอัลกุรอานมีมากแค่ไหน (หรือถ้าเลือดนั้นเป็นของซัดดัมหรือไม่) Philip Smucker นักข่าว รายงานในแบกแดดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ว่า "สิ่งที่น่าตกตะลึงที่สุดคือข้ออ้างที่น่าสงสัยและไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่าซัดดัมบริจาคเลือดของตัวเองเกือบ 50 ไพน์เพื่อเขียนคัมภีร์กุรอาน"[5] Smucker ยังเขียนอีกว่า: "นักการทูตตะวันตกที่ประจำการในกรุงแบกแดดไม่ประทับใจกับการอุทิศความศรัทธาของผู้นำอิรัก ปัดเรื่องมัสยิดและคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เขียนด้วยเลือดเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์อย่างหยาบคาย มีคนหนึ่งถามว่า "เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่านี่คือเลือดของซัดดัม ไม่ใช่เลือดของเหยื่อของเขา" "[5]

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 สำนักข่าวหลายแห่งตีพิมพ์บทความข่าวเกี่ยวกับการที่อัลกุรอานเลือดอันฉาวโฉ่ของซัดดัมกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงในวงการการเมืองอันละเอียดอ่อนของอิรักในปัจจุบัน โดยในบทความหนึ่ง Celso Bianco รองประธานบริหารศูนย์โลหิตแห่งอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อคำกล่าวอ้างที่ว่า ซัดดัมบริจาคเลือด 27 ลิตรในช่วงเวลาเพียง 2 ปี "Bianco กล่าวว่า 'จำนวนเลือดที่ผู้บริจาคสามารถบริจาคได้ในสหรัฐอยู่ที่ 5 หรือ 6 ไพน์ในระยะเวลา 1 ปี หรือไม่ถึง 1 แกลลอน หากอยู่ในอัตราที่ปลอดภัย ฮุสเซนน่าจะใช้เวลาบริจาคเลือดทั้งหมดถึง 9 ปี ไม่ใช่ 2 ปี นั่นเป็นจำนวนที่เหลือเชื่อมาก หาก[ตัวเลขนี้]ถูกต้อง นั่นอาจทำให้เขาเป็นโรคโลหิตจางได้' "[6]

อัลกุรอานเลือดได้รับการจัดแสดงในอาคารหินอ่อนทรงหกเหลี่ยมซึ่งตั้งอยู่บนทะเลสาบประดิษฐ์ภายในเขตสุเหร่า มีเพียงแขกที่ได้รับเชิญเท่านั้นที่จะสามารถมาดูผลงานนี้ได้ เนื่องจากอาคารดังกล่าวมักจะถูกปิดล็อกและห้ามเข้า[7][8] ตามข้อมูลของนักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลีย พอล แมกควอจ์ ผู้ซึ่งมีโอกาสได้เห็นอัลกุรอ่านเลือดหน้าหนึ่ง ได้กล่าวว่า "ตัวอักษรเลือดมีขนาดสูงประมาณสองเซนติเมตรและขอบหน้ากว้างซึ่งใช้ในการตกแต่งนั้นเป็นประกายแวววาว สีน้ำเงิน ทั้งอ่อนและเข้ม จุดสีแดงและชมพู และการเน้นไฮไลต์ขดงอด้วยสีดำ" มาร์ติน ชูลอฟ จากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน อธิบายว่ามันเป็น "หนังสือที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างวิจิตรพิสดาร ซึ่งสามารถนำไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะใด ๆ ก็ได้ หากไม่ใช่เพราะข้อเท็จจริงที่ว่ามันเขียนขึ้นด้วยเลือด"[3]

หลังการสิ้นอำนาจของซัดดัม

แก้

หลังจากการนำทัพบุกแบกแดดนำโดยกองทัพสหรัฐในเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 ผู้รับผิดชอบดูแลมัสยิดนำอัลกุรอานเลือดไปเก็บไว้เพื่อความปลอดภัย การเสียชีวิตของซัดดัมได้ทำให้องค์การศาสนาและฝ่ายฆราวาสอิรักอยู่ในสภาวะลำบากอย่างรุนแรง อะลี อัลมุสซาวี โฆษกของนายกรัฐมนตรี นูรี อัลมาลิกี เน้นย้ำถึงปัญหาที่น่าหนักใจนี้ไว้ว่า "ใช่ว่าทุกสิ่งที่สร้างขึ้นในช่วงการปกครองนี้จะต้องถูกรื้อถอน อย่างไรก็ตาม มีประติมากรรมบางชิ้นที่เน้นเฉพาะเรื่องเผด็จการและการควบคุมอิรัก บางชิ้นพูดถึงเผด็จการและการสู้รบ และควรรื้อถอน ประติมากรรมเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวกับเชื้อชาติและนิกาย"[3]

รัฐบาลอิรักและบุคคลทางการเมืองยังได้แสดงมุมมองที่แตกต่างกันว่าควรจะดำเนินการอย่างไรกับอัลกุรอานเลือด รัฐบาลชีอะฮ์ไม่ต้องการเห็นการเกิดใหม่ทางสัญลักษณ์ของการปกครองสมัยซัดดัมและตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดูแลการทำลายสัญลักษณ์เหล่านี้ อดีตศัตรูการเมืองของซัดดัมบางคน เช่น อะห์มัด ญะละบี ได้ให้เหตุผลสำหรับการทำลายอนุสาวรีย์และสัญลักษณ์บนพื้นดินทั้งหมดสมัยซัดดัมเนื่องจากมันเป็น "เครื่องเตือนใจที่ชัดเจนถึงผลที่ตามมาของการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จและสร้างภาพบุคคลที่มีความชั่วร้ายอยู่ในตัวว่าเป็นอุดมคติ" ส่วนคนอื่น อย่างเช่น มุวัฟฟัก อัลรุบาอีย์ ได้โต้แย้งว่าชาวอิรัก "จำเป็นต้องจดจำ [สมัยซัดดัม] ทั้งสิ่งที่เลวร้ายและสิ่งที่ดีและเรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าว" โฆษกประจำนายกรัฐมนตรีอิรัก อะลี อัลมูซาวี ได้เสนอว่าอัลกุรอานเลือดควรจะเก็บไว้ "เป็นเอกสารสำหรับความป่าเถื่อนของซัดดัม เนื่องจากเขาไม่ควรจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา มันสามารถบอกอะไรเราได้มากเกี่ยวกับเขา" อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่ามันไม่ควรจะถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากคงไม่มีชาวอิรักคนใดต้องการได้เห็นมัน แต่มันอาจถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เอกชน อย่างเช่น เรื่องน่าจดจำของฮิตเลอร์หรือสตาลิน[3]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "Iraqi leader's Koran 'written in blood'. BBC News, 25 September 2000
  2. Emirate official: Saddam's writing of the Quran with his blood is prohibited เก็บถาวร มีนาคม 20, 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Arabic News, 26 September 2000
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Chulov, Martin. "Qur'an etched in Saddam Hussein's blood poses dilemma for Iraq leaders". The Guardian, 19 December 2010
  4. Saddam orders to write the Koran from his blood เก็บถาวร มีนาคม 20, 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Arabic News, 5 February 2004.
  5. 5.0 5.1 Smucker, Philip (2001-07-29). "Iraq builds 'Mother of all Battles' mosque in praise of Saddam". Telegraph. สืบค้นเมื่อ 2013-05-02.
  6. "Bio-Art: 'Blood Quran' Causes Controversy". LiveScience. 2010-12-21. สืบค้นเมื่อ 2013-05-02.
  7. Blair, David. "Saddam has Koran written in his blood". The Daily Telegraph, 14 December 2002.
  8. McGeough, Paul. "Storm over tyrant's unholy blood". The Sydney Morning Herald, 18 December 2003. Retrieved 1 May 2023.

อ่านเพิ่ม

แก้