แอกโซลอเติล
แอกโซลอเติล | |
---|---|
สีน้ำตาลเข้ม | |
สีขาวตาดำ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Amphibia |
อันดับ: | Caudata |
วงศ์: | Ambystomatidae |
สกุล: | Ambystoma |
สปีชีส์: | A. mexicanum |
ชื่อทวินาม | |
Ambystoma mexicanum (Shaw, 1789) |
แอกโซลอเติล (อังกฤษ: axolotl) หรือ อาโชโลตล์ (นาอวตล์: āxōlōtl; ชื่อวิทยาศาสตร์: Ambystoma mexicanum) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอันดับซาลาแมนเดอร์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะใกล้เคียงกับซาลาแมนเดอร์เสือ (A. tigrinum) ซึ่งอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน โดยที่ชื่อ "แอกโซลอเติล" นั้น มาจากชื่อของเทพเจ้าโชโลตล์ (Xolotl) ซึ่งเป็นพระเจ้าแห่งความตายตามความเชื่อของชาวแอซเท็ก
แอกโซลอเติลเป็นซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็ก ที่มีถิ่นที่อยู่ค่อนข้างจำกัด โดยจะพบได้เฉพาะทะเลสาบหรือพื้นที่ชุ่มน้ำใกล้กับกรุงเม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโกเท่านั้น จุดเด่นของแอกโซลอเติลก็คือ มีพู่เหงือกสีแดงสดซึ่งเป็นอวัยวะช่วยในการหายใจซึ่งติดตัวมาตั้งแต่ฟักออกจากไข่ โดยที่ไม่หายไปเหมือนกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวกอื่น เช่น กบหรือซาลาแมนเดอร์ชนิดอื่น ซึ่งที่ถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อีกประการหนึ่งของแอกโซลอเติล คือ เมื่ออวัยวะไม่ว่าส่วนใดของร่างกายขาดหายไปจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายนอกหรืออวัยวะสำคัญภายในร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด
แอกโซลอเติลยังเป็นสัตว์ที่ไม่มีเปลือกตา และของเหลวที่ขับออกมาเป็นของเสียออกจากร่างกายก็ไม่ใช่ปัสสาวะ แต่เป็นน้ำที่ผ่านเหงื่อ อีกทั้งยังมีสีผิวแตกต่างกันหลากหลายด้วย เช่น สีน้ำตาลเข้ม สีดำ สีส้ม สีขาวตาดำ หรือแม้กระทั่งสีขาวตาแดงหรือสภาพที่เป็นอัลบิโน โดยทั้งนี้ที่เป็นแบบนี้ เพราะแอกโซลอเติลเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการแบบย้อนกลับเพื่อให้เข้าได้กับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
แอกโซลอเติลมีความยาวเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะมีขนาดเฉลี่ย 15 เซนติเมตร ใช้เวลาโตเต็มที่ประมาณ 18-24 เดือน มีอายุยืนยาวประมาณ 15 ปี โดยอาศัยในน้ำที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ซึ่งจัดว่าค่อนข้างเย็น กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น ปลาขนาดเล็ก กุ้ง หอยชนิดต่าง ๆ รวมถึงไส้เดือนดินหรือไส้เดือนน้ำ เป็นต้น ขยายพันธุ์เมื่ออายุได้ 5 เดือนจนถึงโต ซึ่งขึ้นอยู่กับความถี่และคุณภาพของอาหาร รวมถึงอุณหภูมิกับคุณภาพของน้ำด้วย มีรายงานว่ามีตัวผู้ที่พร้อมผสมพันธุ์มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนอยู่พอสมควร โดยที่ตัวผู้เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะมีความยาว 7 นิ้ว ขณะที่ตัวเมียมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ช่วงวัยนี้ช้ากว่าตัวผู้ 1-2 เดือน ตัวผู้มีลักษณะโคนหางที่ใหญ่และยาวกว่าตัวเมีย ฤดูการขยายพันธุ์อยู่ในเดือนมิถุนายนถึงธันวาคมในแต่ละปี ซึ่งในสถานที่เลี้ยงพบว่าสามารถขยายพันธุ์ได้ทุกช่วงเดือนของปี ไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 2 สัปดาห์[2][3]
สถานะในธรรมชาติของแอกโซลอเติลจัดอยู่ในภาวะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในถิ่นที่อยู่จากมนุษย์และยังตกเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่กว่าตามห่วงโซ่อาหาร เช่น นกกินปลา ปลาขนาดใหญ่ เป็นต้น[4]
นอกจากนี้แล้ว แอกโซลอเติลยังกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ อีกด้วย โดยนิยมเลี้ยงในตู้ปลาเช่นเดียวกับปลาสวยงามทั่วไป ในประเทศไทย บางครั้งแอกโซลอเติลจะถูกเรียกว่า "หมาน้ำ"
อ้างอิง
แก้- ↑ Luis Zambrano, Paola Mosig Reidl, Jeanne McKay, Richard Griffiths, Brad Shaffer, Oscar Flores-Villela, Gabriela Parra-Olea, David Wake (2010). "Ambystoma mexicanum". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 6 April 2014.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ เสิร์ชหาข้อมูล
- ↑ "The Axolotl - Mexican Walking Fish". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 2011-05-01.
- ↑ Axolotl verges on wild extinction จากสำนักข่าวBBC