ออมสิน คือ เต่าตนุ เพศเมีย อายุประมาณ 25 ปี ที่ป่วยจากการกลืนเหรียญเข้าไปเป็นจำนวนมากถึง 915 เหรียญ[1] เดิมอาศัยอยู่ในบ่อเลี้ยงในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ต่อมาถูกนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้การผ่าตัดจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ในท้ายที่สุดออมสินได้ตายลงเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ด้วยอาการกระแสเลือดเป็นพิษจากโลหะหนัก

ออมสิน
สปีชีส์เต่า
สายพันธุ์เต่าตนุ
เพศเมีย
เกิดราว พ.ศ. 2535
อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย
ตาย21 มีนาคม พ.ศ. 2560 (ราว 25 ปี)
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
เป็นที่รู้จักสำหรับป่วยหนักจากการกินเหรียญเข้าไปเป็นจำนวนกว่า 915 เหรียญ

อาการป่วยและการตาย แก้

ออมสินได้กินเหรียญที่ถูกนักท่องเที่ยวโยนลงไปในบ่อ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้โชคดีและอายุยืน จากการกินเหรียญสะสมกันตลอด 10 ปี ทำให้ออมสินมีอาการกระดองส่วนท้องแตกและติดเชื้ออย่างรุนแรงจากการที่กระเพาะขยายใหญ่เกินไป เมื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ พบว่ามันมีอาการไม่ว่ายน้ำ จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2]

เบื้องต้นมีความเข้าใจว่าออมสินป่วยจากเนื้องอก แต่หลังจากการทำซีที สแกน พบว่าเกิดจากเหรียญที่กินเข้าไปสะสมอยู่ในกระเพาะอาหารจนกลายเป็นก้อนใหญ่ ทีมสัตวแพทย์ผู้รักษาใช้เวลานาน 7 ชั่วโมงในการผ่าตัด เมื่อเปิดกระเพาะออกมาจึงพบกับเหรียญหลายสกุลเงินรวม 915 เหรียญ หนัก 5 กิโลกรัม ใช้เวลาในการคีบเหรียญทั้งหมดออกเป็นเวลา 4 ชั่วโมง สภาพของเหรียญที่ถูกออมสินกินเข้าไปนั้น หน้าเหรียญเรียบเป็นสีดำ เนื่องจากการกัดกร่อนของน้ำกรดภายในกระเพาะอาหาร ทำให้สารที่ถูกกัดกร่อนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและไปสะสมยังตับ[1]

สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ กล่าวว่าหลังจากการผ่าตัดแล้ว ออมสินมีอาการดีขึ้นอย่างทันที คือ หายใจคล่อง และแข็งแรงขึ้นได้ใช้เวลาเพียง 2 วันหลังการผ่าตัด และมีกำหนดเริ่มรักษาอาการพิษโลหะในตับต่อเมื่อแผลหายดีแล้ว ซึ่งคาดว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ส่วนการกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติต้องใช้เวลาทำกายภาพบำบัดเป็นเวลาเกือบครึ่งปี เนื่องจากน้ำหนักตัวตอนกลืนเหรียญเข้าไปได้ปรับให้ปอดในขึ้นมาด้านบน ทำให้ลอยตัวแล้วจมน้ำไม่ได้[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 ออมสินมีอาการซึมและปวดท้อง จึงตรวจร่างกายอย่างละเอียด พบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลำไส้บิดตัวรัดกัน 3 ปม ซึ่งคาดว่าอาจมาจากการพยายามฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ในช่องท้องที่มีพื้นที่มากขึ้นและมีแก๊สมากขึ้นจนปวดท้อง ทีมศัลยแพทย์และสัตวแพทย์สัตว์น้ำจึงได้ทำการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อแก้ปมลำไส้และลดปริมาณแก๊สลง สัตวแพทย์หญิง นันทริกา กล่าวว่า อาการของออมสินน่าเป็นห่วง หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้วต้องให้น้ำเกลือและพักอยู่ในไอซียู อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้[3] จนวันที่ 20 มีนาคม 2560 ออมสินมีอาการโคม่า ไม่ตอบสนอง มีการให้น้ำเกลือและออกซิเจน พร้อมกับมีแพทย์เฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมง แต่เดิมสัตวแพทย์หญิง นันทริกา ระบุว่า ตั้งใจจะพาออมสินกลับไปที่สัตหีบ เพราะเคลื่อนไหวได้ดี เริ่มกินอาหารเองได้ ว่ายน้ำเองได้ แต่ในที่สุดกลไกในร่างกายเต่าไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับภาวะภายหลังการผ่าตัดได้ ภาวะลำไส้ติดในเต่ามีความหวังค่อนข้างน้อย หากเกิดขึ้นภายใน 6-8 ชั่วโมง โอกาสรอดมีน้อยมาก แต่ออมสินผ่านมาได้นานกว่านั้น[4]

ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2560 อาการโดยรวมของออมสินยังทรุดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการหายใจลดลง ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใด ๆ แต่ยังลืมตาอยู่ และยังมีการให้น้ำเกลือและออกซิเจน และดูอาการอย่างใกล้ชิด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำระบุว่า ออมสินมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง นอกจากลำไส้พันกันอย่างรุนแรงหลายจุด ทำให้เกิดน้ำและแก๊สในช่องท้องจำนวนมากแล้วนั้น สารโลหะจากเหรียญที่สะสมยังไปทำลายภูมิคุ้มกันของออมสิน จนเกิดอาการแทรกซ้อนตามมา[5]

จนกระทั่งเวลา 10:10 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2560 ออมสินได้ตายลง เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุเกิดจากร่างกายอ่อนแอ และมีนิกเกิลซึ่งเป็นสารเคลือบเหรียญอยู่ในกระแสเลือดมากถึง 200 เท่า ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำและกระทบกับระบบกล้ามเนื้อและหัวใจ[6] ทีมสัตวแพทย์จะส่งต่อให้ฝ่ายพยาธิ คณะแพทยศาสตร์ ทำการพิสูจน์อย่างละเอียด[7]

ปฏิกิริยาตอบสนอง แก้

ในประเทศ แก้

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้ลงข้อความให้กำลังใจกับทีมสัตวแพทย์และออมสิน เนื่องจากไม่ต้องการให้เต่าตัวอื่นต้องพบกับชะตากรรมแบบออมสิน ที่เกิดจากความไม่รู้ของคนจากการโยนเหรียญลงในบ่อ[8] ส่วนทีมแพทย์ได้ขอร้องให้คนหยุดการโยนเหรียญหรือสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ลงในบ่อน้ำ แหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงทะเล[5]

ด้านนักวิชาการ มีการเสนอมาตรการป้องกันการทารุณสัตว์จากการโยนเหรียญลงไปในบ่อน้ำตามความเชื่อ โดยการออกกฎหมายควบคุมเพิ่มจากกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ รวมถึงการทำบุญที่เกี่ยวกับสัตว์อย่างอื่นอีกด้วย[9] การสำรวจที่วัดต้นสน อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีเต่าเลี้ยงอยู่กว่า 100 ตัว พบว่าหลังจากกรณีของออมสิน ทำให้นักท่องเที่ยวยุติการโยนเหรียญลงไปในบ่อ มีเพียงการให้อาหารจำพวกผักและผลไม้เท่านั้น หลายคนให้เหตุผลว่า สงสารเต่า และคิดว่าจะได้บาปมากกว่าบุญ[9]

มีการจัดการระดมทุนเข้ากองทุนช่วยวิจัยสัตว์น้ำ จัดซื้อกล้องเอนโดสโคป เพื่อช่วยชีวิตสัตว์อื่น ๆ[10] รวมทั้งมีการยกออมสินเป็นอาจารย์ของนิสิตแพทย์เพื่อการศึกษาต่อไป[7]

นอกประเทศ แก้

สื่อมวลชนต่างชาติได้นำเสนอเรื่องราวของออมสิน อาทิ เดอะนิวยอร์กไทมส์, เดอะการ์เดียน และมีการแบ่งปันผ่านสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง มีการแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจและอวยพรให้ปลอดภัย[11]

หลังจากการตายของออมสิน สื่อมวลชนนอกประเทศ เช่น รอยเตอร์ส, เอพี, บีบีซี ได้รายงานข่าวไปทั่วโลก ถึงการโยนเหรียญลงไปในบ่อเต่าที่ออมสินอยู่ เพื่อขอให้โชคดี[12]

กรณีของเต่าออมสินนี้ได้รับความสนใจจากต่างชาติอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิสัตว์ในประเทศไทยอยู่เนือง ๆ และยังมีการวิจารณ์การจัดการการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร[2]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "ทีมสัตวแพทย์ผ่าตัดเต่าออมสินเอาเหรียญออกจนปลอดภัย เริ่มแข็งแรงขึ้นแล้ว". www.ch7.com. ช่อง 7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-21. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 "CLIP BIZ FEED : เต่าออมสินเหยื่อการท่องเที่ยวที่ไร้การจัดการ". www.voicetv.co.th. วอทย์ทีวี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |archivedate= (help)
  3. "ทีมสัตวแพทย์ผ่าตัดเต่าออมสินเอาเหรียญออกจนปลอดภัย เต่าออมสินอาการทรุด ลำไส้บิดตัวรัดกันเอง 3 ปม แพทย์ต้องผ่าตัดฉุกเฉิน". www.ch7.com. ช่อง 7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-21. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "เต่าออมสินทรุดหนักอาการไม่ตอบสนอง". www.now26.tv. นาว26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |archivedate= (help)
  5. 5.0 5.1 "สัตวแพทย์หวังปาฏิหาริย์ เต่าออมสินรอดชีวิต หลังอาการทรุดหนักขั้นวิกฤติ". www.ch7.com. ช่อง 7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-21. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ""เต่าออมสิน"สิ้นใจแล้วหลังอาการทรุดหนัก". www.posttoday.com. โพสต์ทูเดย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |archivedate= (help)
  7. 7.0 7.1 "รพ.จุฬาแถลงเต่าออมสินตายแล้ว-รอผ่าพิสูจน์ซ้ำ". www.sanook.com. สนุกดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |archivedate= (help)
  8. "เต่าออมสินยังไม่ฟื้น สัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ จะแถลงอาการล่าสุด บ่ายวันนี้". www.ch7.com. ช่อง 7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-21. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 "สำรวจแหล่งทำบุญ คนเลิกโยนเหรียญลงบ่อเต่า". www.now26.tv. นาว26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |archivedate= (help)
  10. ""ถอดบทเรียน "เต่าออมสิน"". www.nationtv.tv. เนชั่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |archivedate= (help)
  11. "สื่อนอกเอาใจช่วย "เต่าออมสิน" ผ่าตัดปลอดภัย หลังพบเหรียญอัดแน่นกระเพาะนับพัน". www.prachachat.net. ประชาชาติธุรกิจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |archivedate= (help)
  12. "เหรียญขอให้ตนเองโชคดี! สื่อนอกรายงานกระหึ่มโลก ทำ'เต่าออมสิน'ตายแล้ว". www.thairath.co.th. ไทยรัฐ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |archivedate= (help)