เจ็ดนางฟ้า
เจ็ดนางฟ้า เป็นตำนานปรัมปราของจีนว่าด้วยงานประเพณีใน วันที่ 7 เดือน 7 (จีน: 七夕; พินอิน: qī xī; แปลว่า ราตรีแห่งเลขเจ็ด) ตามปฏิทินแบบจีน เป็นที่มาของประเพณี ทานาบาตะ ในญี่ปุ่น และประเพณี Chilseok (칠석) ในเกาหลี ซึ่งมีการโยงตำนานนี้กับสถานที่ในภูเขาคึมกังซาน (ภูเขาเพชร) ที่ว่ากันว่าเป็นจุดที่นางฟ้าลงมาเล่นน้ำด้วย เทศกาลวันดังกล่าวเปรียบได้ว่าเป็นวันแห่งความรักในประเพณีจีน ช่วงเวลาแห่งประเพณีนี้คือเมื่อดวงดาวในสามเหลี่ยมฤดูร้อนโคจรขึ้นสูงเหนือศีรษะ ดาวสำคัญในสามเหลี่ยมฤดูร้อนที่เกี่ยวข้องกับตำนานนี้ คือดาวอัลแทร์ และดาวเวกา
นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ตำนานเจ็ดนางฟ้าของจีนนี้ (ซึ่งเล่าขานกันในเกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่นด้วย) สามารถสืบกันได้กับนิทานเรื่องพระสุธนมโนห์รา ซึ่งเล่ากันแพร่หลายในไทย ลาว และอินโดนีเซีย โดยมีแก่นเรื่องคล้ายคลึงกันและทำให้เห็นได้ว่า น่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน กล่าวคือ เป็นเรื่องของผู้หญิงเจ็ดคน (หรือแปดคนในตำนานบางฉบับของเกาหลี) ที่มีความสามารถมากกว่ามนุษย์ คือ บินได้ด้วยเครื่องช่วยบางอย่าง (ปีกและหางของกินรี และอาภรณ์เทพธิดาของนางฟ้าทั้งเจ็ด) ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อเล่นน้ำ น้องสาวคนเล็กสุดและสวยที่สุดของนางเหล่านี้ถูกมนุษย์ผู้ชายจับได้และยึดอุปกรณ์ช่วยบินไว้ (ในบางตำนาน ผู้จับได้เป็นตัวพระเอกเอง บางตำนานเป็นนายพรานซึ่งนำไปถวายพระเอกที่เป็นเจ้าเหนือหัวของตน) นางเอกจึงยอมแต่งงานกับมนุษย์ แต่ต่อมามีเหตุให้นางเอกต้องใช้อุปกรณ์ทิพย์บินหนีจากโลกมนุษย์คืนไปสู่ถิ่นเดิมของนาง และพระเอกต้องเริ่มต้นผจญภัยเพื่อตามหาตัวนางคืน เรื่องดังกล่าวมีจารึกเป็นภาพสลักไว้ที่ บุโรพุทโธ ในอินโดนีเซีย เนื่องจากเชื่อว่าเป็นอดีตชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า และพระเถระชาวเชียงใหม่ได้รจนาไว้เป็นภาษาบาลีใน ปัญญาสชาดก ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าแต่งขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2000-2020 ด้วย โดยให้ชื่อเรื่องว่า สุธนชาดก
เรื่องย่อของตำนาน (จีน)
แก้ตำนานเจ็ดนางฟ้า บางครั้งก็เรียกว่า ตำนานรักหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า กล่าวถึงหนุ่มเลี้ยงวัวคนหนึ่งชื่อ หนิวหลาง (จีน: 牛郎; พินอิน: niú láng; แปลตรงตัวว่า เด็กเลี้ยงวัว หมายถึงดาวอัลแทร์) บังเอิญไปพบนางฟ้าเจ็ดองค์เสด็จลงจากสวรรค์เพื่อมาเล่นน้ำในทะเลสาบ วัวตัวหนึ่งของเขากระซิบบอกวิธี เขาจึงไปขโมยเสื้อผ้าของพวกนางมาแล้วคอยเฝ้าดู เมื่อนางฟ้าทั้งเจ็ดองค์เล่นน้ำเสร็จแล้วหาเสื้อผ้าของตนไม่พบ จึงให้น้องสาวคนสุดท้องชื่อ จือหฺนวี่ (จีนตัวย่อ: 织女; จีนตัวเต็ม: 織女; พินอิน: zhī nǚ; แปลตรงตัวว่า หญิงทอผ้า หมายถึงดาวเวกา) เพื่อมาเจรจาขอเสื้อผ้าคืน หนิวหลางขอให้นางแต่งงานกับเขา และนางก็ยินยอม นางฟ้าผู้พี่ทั้งหมดจึงได้กลับคืนสู่สวรรค์ ส่วนจือหนี่ได้อาศัยอยู่กับหนิวหลาง และเป็นภรรยาที่ดียิ่ง หนิวหลางรักนางมาก ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 2 คน จือหนี่มีฝีมือในการทอผ้า ผ้าที่นางทอจะมีสีสันสวยงามไม่มีผู้ใดทัดเทียมได้ พวกเขานำไปขายได้เงินดีและมีชีวิตที่ดี
เง็กเซียนฮองเฮาผู้เป็นมารดาของเหล่านางฟ้า เมื่อได้ทราบว่าบุตรสาวของตนไปแต่งงานกับคนธรรมดาก็กริ้วโกรธ ออกคำสั่งให้จือหนี่กลับสู่สวรรค์ ฝ่ายหนิวหลางเมื่อกลับมาพบภรรยาของตนหายตัวไปก็เศร้าโศกเสียใจ ทันใดนั้นวัวของเขาก็เอ่ยคำพูดออกมาอีกครั้ง บอกให้หนิวหลางฆ่าตนเสีย แล้วเอาหนังคลุมร่างเพื่อจะได้ไปสวรรค์ตามหาภรรยาได้ หนิวหลางฆ่าวัวด้วยน้ำตา ครั้นเมื่อเอาหนังมาคลุมร่างเขากับบุตรทั้งสองก็เหาะไปยังแดนสวรรค์ตามหาจือหนี่ เง็กเซียนฮองเฮาพบพวกเขาขึ้นมาบนสวรรค์ก็โกรธ ดึงปิ่นปักผมของนางออกมาแล้วกรีดท้องฟ้าออกกลายเป็นแม่น้ำกว้าง ทำให้คู่รักทั้งสองต้องแยกจากกันตลอดกาล (แม่น้ำนั้นบนโลกรู้จักในชื่อ ทางช้างเผือก ซึ่งกั้นขวางระหว่างดาวอัลแทร์กับดาวเวกา) จือหนี่เฝ้าแต่ทอผ้าคอยอยู่ฟากหนึ่งของแม่น้ำอย่างเศร้าสร้อย ขณะที่หนิวหลางดูแลบุตรสองคนของพวกเขา (คือดาวข้างเคียงในกลุ่มดาวเดียวกัน ได้แก่ β อินทรี และ γ อินทรี)
ทว่ามีเพียงวันเดียวในรอบปี ที่เหล่านกกระเรียนจะมาเรียงตัวกันด้วยความเมตตาสงสาร เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อให้คนทั้งสองสามารถข้ามมาพบกัน (เรียกว่า 鵲橋 Que Qiao ฉวีเฉียว หรือสะพานนกกระเรียน) สะพานทอดข้ามดาวเดเน็บในกลุ่มดาวหงส์ ทำให้จือหนี่ หนิวหลาง และลูก ๆ มาพบกันได้ในวันที่ 7 เดือน 7 ของปี เพียงวันเดียวเท่านั้น
เล่ากันว่าถ้ามีฝนตกในคืนแห่งเลขเจ็ด นั่นคือน้ำตาของหนิวหลางและจือหนี่ที่ร่ำไห้กับความรันทดในชีวิตของตน