หญิงสาวแห่งอาวีญง

หญิงสาวแห่งอาวีญง (ฝรั่งเศส: Les Demoiselles d'Avignon, อังกฤษ: The Young Ladies of Avignon) หรือชื่อเดิม ซ่องโสเภณีแห่งอาวีญง (The Brothel of Avignon)[2] เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบที่วาดโดยปาโบล ปิกาโซ ศิลปินชาวสเปนในปี ค.ศ. 1907 เป็นภาพหญิงโสเภณีเปลือยห้าคนในซ่องโสเภณีบนถนน Carrer d'Avinyó ในเมืองบาร์เซโลนา[3] แต่ละคนอยู่ในท่าทางเก้อเขินและส่งสายตาท้าทาย ปิกัสโซไม่ได้วาดทั้งหมดตามลักษณะความเป็นหญิง แต่วาดเป็นเหลี่ยมมุม ใบหน้าหญิงสาวสามคนถูกวาดตามศิลปะแบบไอบีเรีย ในขณะที่ใบหน้าหญิงสาวสองคนด้านขวาถูกวาดให้คล้ายกับหน้ากากชาวแอฟริกา ซึ่งปิกัสโซได้รับอิทธิพลจากบรรพกาลนิยม และกล่าวว่าลักษณะดังกล่าว “ปลดปล่อยเขาจากกฎเกณฑ์ของศิลปะแบบเดิม”[4] ภาพ หญิงสาวแห่งอาวีญง ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในภาพแนวก่อนบาศกนิยม ซึ่งต่อมาปิกัสโซพัฒนาเป็นบาศกนิยม ขบวนการทางศิลปะที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตในการสร้างสรรค์ผลงาน[5] ปัจจุบันได้รับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนครนิวยอร์ก

หญิงสาวแห่งอาวีญง
ฝรั่งเศส: Les Demoiselles d'Avignon, อังกฤษ: The Ladies of Avignon
ศิลปินปาโบล ปิกาโซ
ปีค.ศ. 1907
สื่อจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
มิติ243.9 cm × 233.7 cm (96 in × 92 in)
สถานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ผ่านทางลิลลี พี. บลิส, นครนิวยอร์ก, สหรัฐ[1]

ระหว่าง ค.ศ. 1901–1904 ปิกัสโซเริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานยุคสีน้ำเงิน ซึ่งในขณะนั้นเขาประสบภาวะซึมเศร้า และเน้นใช้สีน้ำเงินเพื่อแสดงออกถึงความทุกข์ยากสิ้นหวัง[6] ต่อมาในปี ค.ศ. 1904 ปิกัสโซซึ่งมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นเริ่มหันมาใช้โทนสีชมพูเพื่อแสดงความสดใสร่าเริง เกิดเป็นยุคสีชมพู (ค.ศ. 1904–1906) ในช่วงปลายยุคนี้ ปิกัสโซศึกษาและทดลองศิลปะแนวอื่น ๆ เช่น ประติมากรรมไอบีเรีย ศิลปะโอเชียเนียและแอฟริกา จนกระทั่งในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1907 หลังร่างภาพไว้หลายร้อยภาพ ปิกัสโซก็เริ่มวาด หญิงสาวแห่งอาวีญง ในสตูดิโอที่ปารีส โดยได้รับแรงบันดาลใจจากงานของเอลเกรโก, ปอล เซซาน และปอล โกแก็ง[6][7][8]

ภาพ หญิงสาวแห่งอาวีญง ได้รับการจัดแสดงครั้งแรกที่ Salon d'Antin ในปี ค.ศ. 1916 ในชื่อ ซ่องโสเภณีแห่งอาวีญง แต่ภายหลังอ็องเดร แซลมอง เพื่อนของปิกัสโซเปลี่ยนชื่อเป็น หญิงสาวแห่งอาวีญง เพื่อลดความอื้อฉาว ช่วงแรกผู้ชมตอบรับภาพนี้ด้วยความไม่พอใจและมองว่าผิดศีลธรรม[9] ในหมู่ศิลปินด้วยกันมีความเห็นที่หลากหลายต่อภาพนี้ เดิมฌอร์ฌ บรักไม่ชอบภาพนี้ก่อนจะเปลี่ยนมาศึกษาและร่วมกับปิกัสโซสร้างสรรค์ผลงานแนวบาศกนิยมในภายหลัง[10] ในขณะที่แดเนียล-เฮนรี คาห์นไวเลอร์ชื่นชอบภาพนี้มากและกล่าวว่า หญิงสาวแห่งอาวีญง จะเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะบาศกนิยม[11] อย่างไรก็ตาม หญิงสาวแห่งอาวีญง ไม่ได้รับความสำคัญจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษที่ 1920 เมื่ออ็องเดร เบรตันเผยแพร่บทความ The Wild Men of Paris: Matisse, Picasso and Les Fauves[12] ในปี ค.ศ. 2007 นิตยสารนิวส์วีกตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับภาพนี้พร้อมกับกล่าวว่า หญิงสาวแห่งอาวีญง เป็นผลงานที่ “ทรงอิทธิพลที่สุดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา”[13] ในขณะที่ฮอลแลนด์ คอตเตอร์ นักวิจารณ์ศิลปะกล่าวในปี ค.ศ. 2011 ว่า “ปิกัสโซเปลี่ยนประวัติศาสตร์ด้วยภาพนี้ เขาแทนที่ภาพเปลือยที่ดูอ่อนโยนด้วยสิ่งมีชีวิตที่เย้ายวนและอันตราย”[14]

อ้างอิง แก้

  1. Steinberg, L., The Philosophical Brothel. October, no. 44, Spring 1988. 7–74. First published in Art News vol. LXXI, September/October 1972
  2. Richardson 1991, 19
  3. Farthing, Stephen (2016). 1001 Paintings You Must See Before You Die. London, Great Britain: Octopus Publishing Group. p. 585. ISBN 9781844039203.
  4. Sam Hunter and John Jacobus, Modern Art, Prentice-Hall, New York, 1977, pp. 135–136
  5. Cooper, 24
  6. 6.0 6.1 Melissa McQuillan, Pablo Picasso, MoMA, Grove Art Online, Oxford University Press, 2009
  7. Turner, Jane (1996), Grove Dictionary of Art, Macmillan Publishers, p. 372, ISBN 1-884446-00-0
  8. Frèches-Thory, Claire; Zegers, Peter. The Art of Paul Gauguin. Washington, D.C.: National Gallery of Art, 1988. pp. 372–73. ISBN 0-8212-1723-2
  9. Picasso's Les Demoiselles d'Avignon, edited by Christopher Green, Courtauld Institute of Art, University of London, Cambridge University Press, 2001
  10. Emily Braun, Rebecca Rabinow, Cubism: The Leonard A. Lauder Collection, Metropolitan Museum of Art, 2014, ISBN 0300208073
  11. Daniel Henry Kahnweiler, The Rise of Cubism, New York, Wittenborn, Schultz. This is the first translation of the original German text entitled Der Weg zum Kubismus, Munich, Delphin-Verlag, 1920
  12. Richardson 1991, 43
  13. Plagens, Peter. Which Is the Most Influential Work of Art of the Last 100 Years?, Art, Newsweek, 2 July/9 July 2007, pp. 68–69
  14. Cotter, Holland (10 February 2011). "When Picasso Changed His Tune". New York Times. สืบค้นเมื่อ 1 June 2017.