สะพานเกิ่นเทอ
สะพานเกิ่นเทอ (เวียดนาม: Cầu Cần Thơ) เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเหิ่ว ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ที่เกิ่นเทอ ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม สะพานมีความยาว 2.75 กิโลเมตร หรือ 1.68 ไมล์ มีช่องจราจร 6 ช่อง กว้างทั้งหมด 23 เมตร (76 ฟุต) โดยมี 4 ช่องสำหรับรถขนาดใหญ่ และอีก 2 ช่อง สำหรับรถจักรยานและรถจักรยานยนต์ ช่องว่างใต้สะพานกว้าง 39 เมตร (128 ฟุต) ซึ่งเรือใหญ่สามารถลอดผ่านได้[1] สะพานเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553[2]
สะพานเกิ่นเทอ | |
---|---|
Cầu Cần Thơ | |
พิกัด | 10°1′53.95″N 105°48′31.1″E / 10.0316528°N 105.808639°E |
ข้าม | แม่น้ำเหิ่ว |
ที่ตั้ง | เกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ประเภท | สะพานขึง |
ความยาว | 2,750 เมตร (9,022 ฟุต) 15,850 เมตร (52,001 ฟุต) รวมช่วงทางขึ้น |
ความกว้าง | 23.1 เมตร (76 ฟุต) |
ความสูง | 175.3 เมตร (575 ฟุต) |
ช่วงยาวที่สุด | 550 เมตร (1,804 ฟุต) |
เคลียร์ตอนล่าง | 39 เมตร (128 ฟุต) |
ประวัติ | |
วันเริ่มสร้าง | 25 กันยายน 2547 |
วันเปิด | 24 เมษายน 2553 |
ที่ตั้ง | |
การก่อสร้าง
แก้นายกรัฐมนตรีฟาน วัน ขาย ทำพิธีเปิดการก่อสร้างสะพานเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2547 ซึ่งสะพานมีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2551 การพังทลายของสะพานบางส่วนขณะกำลังก่อสร้างในปี พ.ศ. 2550 ทำให้การเปิดใช้งานล่าช้าออกไป สะพานนี้เป็นหนึ่งในสะพาน 17 แห่งที่วางแผนจะเชื่อมโยงพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเข้ากับเครือข่ายถนนของเวียดนามภายในปี พ.ศ. 2563 สะพานแห่งนี้ใช้งานทดแทนเครือข่ายเรือข้ามฟากในเส้นทางทางหลวง 1เอ (Quốc lộ 1A) ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดหวิญล็อง (Vĩnh Long) ทางฝั่งตะวันออกกับเมืองเกิ่นเทอทางฝั่งตะวันตก[1]
การก่อสร้างสะพานอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มที่ปรึกษา Nippon Koei-Chodai (日本工営と長大) และทำสัญญากับผู้รับเหมาชาวญี่ปุ่นหลายรายได้แก่ Taisei Corporation, Kajima Construction และ Nippon Steel ทุนสำหรับโครงการนี้ได้รับทุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) โดยมีเงินกู้ช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และรัฐบาลเวียดนาม[1] สะพานเกิ่นเทอได้รับการประกันโดย บริษัทประกันภัยร่วมทุนของ Petrolimex (Tập đoàn Xăng dầu Việt Nam) และ บริษัทประกันภัยของ PetroVietnam (Tập đoàn Dầu khí Việt Nam) มูลค่า 3.2 ล้านล้านด่ง (200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[3]
การก่อสร้างสะพานเกิ่นเทอแบ่งออกเป็นสามสัญญา โดยผู้รับเหมารายแรกเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างทางลาดสะพานฝั่งหนึ่ง รายที่สองก่อสร้างสะพานหลัก และรายที่สามสร้างถนนทางทิศใต้เข้าสู่เมืองเกิ่นเทอ[4]
เหตุการณ์การพังทลาย
แก้ทางลาดความยาว 90 เมตรของสะพานเกิ่นเทอพังลงระหว่างการก่อสร้างในเช้าวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550 ทรุดลงจากความสูง 30 เมตร[5] ส่วนที่ยุบอยู่เหนือเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในแนวสะพานฝั่งเมืองหวิญล็อง[6] มีวิศวกรและคนงาน 250 คนกำลังทำงานอยู่ในช่วงเวลานั้น[7] มีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 54 ราย บาดเจ็บสาหัส 80 ราย[8] เจิ่น จุ๋ง (Trần Chủng) หัวหน้าหน่วยงานควบคุมคุณภาพการก่อสร้างแห่งชาติภายใต้กระทรวงการก่อสร้าง ระบุว่านี่เป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมการก่อสร้างของเวียดนาม[9]
ภายหลังเหตุการณ์
แก้การไต่สวนสาเหตุของการพังทลายใช้เวลาสอบสวน 8 เดือน ในขั้นต้นพบว่าเสาชั่วคราวที่ใช้กระจายน้ำหนักนั้นมีขนาดต่ำกว่าที่กำหนดโดยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการมีระยะเผื่อที่น้อย ส่วนสาเหตุที่แท้จริงคือการสร้างเสาชั่วคราวบางส่วนวางบนพื้นทรายอ่อนซึ่งทรุดตัวไม่สม่ำเสมอและทำให้เสาเอียง[8] ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลเวียดนามได้สั่งห้าม บริษัทก่อสร้าง Taisei และ Kajima จากการดำเนินงานในเวียดนามเป็นเวลาหนึ่งปี โดยกล่าวโทษบริษัทญี่ปุ่นทั้งสองแห่งว่า ไม่สามารถสร้างส่วนรองรับสะพานที่ปลอดภัยได้[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 "SE Asia's longest cable-stayed bridge underway in Can Tho". September 28, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 1, 2007. สืบค้นเมื่อ September 28, 2007.
- ↑ "Inauguration of Can Tho Bridge, linking a range of transport". April 26, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 7, 2012. สืบค้นเมื่อ June 2, 2010.
- ↑ "Bridge collapse kills at least 52". กันยายน 28, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มกราคม 22, 2019. สืบค้นเมื่อ กันยายน 29, 2007.
- ↑ "World price hike hits Mekong projects". March 10, 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 16, 2008. สืบค้นเมื่อ September 29, 2007.
- ↑ "Can Tho bridge collapses, dozens of people die". Vietnam Net. 2007-09-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-23. สืบค้นเมื่อ 2007-09-26.
- ↑ "Vietnam bridge collapse kills 43". AP. Taipei Times. 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-09-30.
- ↑ "Fatalities In Vietnam's Can Tho Bridge Collapse Surge To 59". au.news.yahoo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 2007-09-27.
- ↑ 8.0 8.1 High, Richard (2008-07-07). "Inquiry reports on Vietnam's Can Tho Bridge collapse". International Construction. KHL Group. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-07. สืบค้นเมื่อ 2016-09-16.
- ↑ "Collapse of Can Tho Bridge, the most serious disaster in the history of Vietnam's construction". Liberated Saigon News (ภาษาเวียดนาม). 2007-09-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-30. สืบค้นเมื่อ 2007-09-29.
- ↑ Nguyen Dieu Tu Uyen (July 21, 2009). "Vietnam Bans Japan's Taisei, Kajima From Projects (Update1)". Bloomberg L.P. สืบค้นเมื่อ August 8, 2012.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สะพานเกิ่นเทอ ที่ฐานข้อมูลโครงสร้าง (Structurae)