สังเวียนมวย
สังเวียนมวย หรือ เวทีมวย หรือ สนามมวย (อังกฤษ: Boxing ring) เป็นสนามกีฬาสำหรับใช้การแข่งขันกีฬามวย ไม่ว่าจะเป็นมวยไทยหรือมวยสากล โดยมากแล้วสังเวียนมวยมักจะเป็นสนามกีฬาในร่ม เว้นแต่สังเวียนมวยชั่วคราว
ตามกติกาสากลแล้ว สังเวียนมวยที่ได้มาตรฐานจะต้องมีลักษณะดังนี้
1. สังเวียนต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดเล็กด้านละ 20 ฟุต (6.10 เมตร) ขนาดใหญ่ด้านละ 24 ฟุต (7.30 เมตร) วัดภายในเส้นเชือก พื้นเวทีสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 3 ฟุต แต่ไม่สูงกว่า 4 ฟุต
2. เชือกกั้น ต้องมีเชือก 4 เส้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์ไม่น้อยกว่า 1½ นิ้ว ขึงติดกับเสาที่มุม สูงจากพื้นเวทีขึ้นไป 16, 32, 48 และ 60 นิ้ว ตามลำดับ ให้หุ้มเชือกด้วยวัสดุอ่อนนุ่มและเรียบ ที่มุมเชือกด้านในต้องหุ้มด้วยวัสดุอย่างอ่อน เชือกแต่ละด้านของสังเวียนต้องผูกยึดกันด้วยผ้าเหนียวสองชิ้น ซึ่งมีขนาดกว้าง 1 – 1½ นิ้ว โดยมีระยะห่างที่เท่า ๆ กันและผ้าที่ผูกนั้นต้องไม่ลื่นไปตามเชือก
3. พื้นเวที ต้องปลอดภัยได้ระดับ ปราศจากสิ่งกีดขวางใด ๆ และต้องยื่นออกไปนอกเชือกอย่างน้อย 20 นิ้ว ต้องปูด้วยสักหลาด ยางหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม มีลักษณะยืดหยุ่นได้ มีความหนาไม่น้อยกว่า 1 ½ นิ้ว ปูทับด้วยผ้าตึงคลุมพื้นเวทีทั้งหมด
4. มุมสังเวียน ต้องตั้งเสาที่มุมทั้งสี่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว สูงขึ้นไปจากเวที 60 นิ้ว พร้อมทั้งหุ้มนวมที่มุมภายในเส้นเชือกให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับนักมวย มุมแดงคือมุมสังเวียนด้านซ้ายมือใกล้กับประธานกรรมการควบคุมการแข่งขันหรือประธานคณะลูกขุน
5. บันได มี 3 บันได กว้างไม่น้อยกว่า 3 ฟุต ไว้ที่มุมต้องข้ามของเวทีสองบันไดเพื่อให้นักมวยและพี่เลี้ยงขึ้นลง ส่วนอีกบันไดหนึ่งนั้นให้อยู่ที่มุมตรงกลางสำหรับผู้ชี้ขาดและแพทย์
6. กล่องพลาสติก ที่มุมกลางทั้งสองมุมนอกสังเวียนให้ติดล่องพลาสติกมุมละกล่อง เพื่อให้ผู้ชี้ขาดทิ้งสำลีหรือกระดาษบาง ๆ ที่ซับเลือดแล้ว
7. สังเวียนเพิ่มเติม อาจใช้สังเวียน 2 สังเวียน ในการแข่งขันที่มีนักกีฬามาก หรือชิงชนะนัดสำคัญ ๆ ได้[1]
สำหรับสนามมวยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ในประเทศไทย ได้แก่ สนามมวยราชดำเนิน, สนามมวยเวทีลุมพินี ในต่างประเทศ อาทิ สนามกีฬาต่อสู้ญี่ปุ่น, สนามกีฬาแห่งชาติเรียวโงกุ ในประเทศญี่ปุ่น และเมดิสันสแควร์การ์เดน ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น[2]