สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส

สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส (สเปน: Tratado de Tordesillas; โปรตุเกส: Tratado de Tordesilhas) ได้รับการลงนามที่ตอร์เดซิยัสเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 เพื่อแบ่งเขตอิทธิพลในดินแดนที่ค้นพบใหม่นอกยุโรประหว่างจักรวรรดิโปรตุเกสกับราชบัลลังก์กัสติยา (ต่อมาคือจักรวรรดิสเปน) โดยใช้เส้นสมมุติที่อยู่ห่างจากหมู่เกาะกาบูเวร์ดีไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะ 370 ลีก[note 1] เส้นสมมุติดังกล่าวพาดผ่านบริเวณกึ่งกลางระหว่างกาบูเวร์ดีซึ่งขณะนั้นตกเป็นของโปรตุเกสแล้ว กับกลุ่มเกาะที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้สำรวจพบในการเดินทางครั้งแรก (ปัจจุบันเรียกว่าคิวบาและฮิสปันโยลา) และอ้างสิทธิ์ให้แก่กัสติยา

สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส
หน้าแรกของสนธิสัญญาฉบับที่โปรตุเกสเป็นเจ้าของ
สร้าง7 มิถุนายน ค.ศ. 1494
ในตอร์เดซิยัส กัสติยา
ให้สัตยาบัน2 กรกฎาคม ค.ศ. 1494 ในกัสติยา
5 กันยายน ค.ศ. 1494 ในโปรตุเกส
ที่ตั้งหอจดหมายเหตุอินดีส (สเปน)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติโตรึดูตงบู (โปรตุเกส)
ผู้เขียนสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 (สมเด็จพระสันตะปาปายูลิอุสที่ 2 ทรงให้สัตยาบันใน ค.ศ. 1506)[1]
ผู้ลงนามพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน
สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา
เจ้าชายฆวนแห่งอัสตูเรียส
พระเจ้าฌูเวาที่ 2 แห่งโปรตุเกส[2]
วัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลประโยชน์ทางการค้าและการแสวงหาอาณานิคมในดินแดนที่ค้นพบใหม่ทั้งหมดของโลกที่ตั้งอยู่ระหว่างกัสติยากับโปรตุเกส (ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นสเปนกับโปรตุเกส)
เส้นแบ่งโลกที่ไม่ใช่คริสเตียนระหว่างกัสติยากับโปรตุเกส ได้แก่ เส้นเมริเดียนตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส ค.ศ. 1494 (สีม่วง) และเส้นเมริเดียนฝั่งตรงข้ามตามสนธิสัญญาซาราโกซา ค.ศ. 1529 (สีเขียว)

ดินแดนทางตะวันออกของเส้นแบ่งเขตจะเป็นของโปรตุเกส ส่วนดินแดนทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตจะเป็นของกัสติยา ฝ่ายกัสติยาให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ที่อาเรบาโลในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1494 และฝ่ายโปรตุเกสให้สัตยาบันที่ซึตูบัลในวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน[3] อีกด้านหนึ่งของโลกถูกแบ่งเขตในอีกไม่กี่ทศวรรษต่อมาตามสนธิสัญญาซาราโกซาซึ่งได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1529 โดยระบุเส้นสมมุติตรงข้ามเส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส ปัจจุบันคู่ฉบับของสนธิสัญญาทั้งสองได้รับการเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุอินดีสที่เซบิยา และในหอจดหมายเหตุแห่งชาติโตรึดูตงบูที่ลิสบอน[4]

สเปนและโปรตุเกสปฏิบัติตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้ค่อนข้างดีแม้ทั้งสองฝ่ายจะยังไม่มีความรู้ทางภูมิศาสตร์ของ "โลกใหม่" เท่าไรนัก การกำหนดเส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญานี้ส่งผลให้เกิดอาณานิคมที่มีชื่อว่า "บราซิล" ขึ้นเนื่องจากปลายด้านตะวันออกของทวีปที่ค้นพบใหม่ตกอยู่ในเขตอิทธิพลโปรตุเกส[5] อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้ละเลยชาติมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ทั้งหมด ชาติเหล่านั้นจึงมักเพิกเฉยต่อสนธิสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติที่กลายเป็นโปรเตสแตนต์หลังการปฏิรูปโปรเตสแตนต์

สนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อ ค.ศ. 2007

สนธิสัญญามาดริด

แก้

ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1750 พระเจ้าฌูเวาที่ 5 แห่งโปรตุเกส และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 6 แห่งสเปนทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญามาดริด หลังจากที่โปรตุเกสและสเปนพยายามกำหนดเขตแดนระหว่างบราซิลกับอเมริกาของสเปนขึ้นใหม่ โดยยอมรับว่าการแบ่งเขตตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสใน ค.ศ. 1494 นั้นได้ถูกแทนที่ไปแล้วและถือเป็นโมฆะ ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ สเปนจะได้รับการยอมรับอธิปไตยเหนือฟิลิปปินส์ในขณะที่โปรตุเกสจะได้ดินแดนแถบลุ่มน้ำแอมะซอน โปรตุเกสจะต้องสละอาณานิคมซากราเม็งตูทางฝั่งเหนือของริโอเดลาปลาตา (ปัจจุบันอยู่ในอุรุกวัย) แต่ก็จะได้รับดินแดนนิคมเยซุอิตทั้งเจ็ด (ปัจจุบันอยู่ในบราซิล)[6]

เชิงอรรถ

แก้
  1. 370 ลีกเท่ากับ 2,193 กิโลเมตร, 1,362 ไมล์ หรือ 1,184 ไมล์ทะเล

อ้างอิง

แก้
  1. Parise, Agustín (23 มกราคม 2017). Ownership Paradigms in American Civil Law Jurisdictions: Manifestations of the Shifts in the Legislation of Louisiana, Chile, and Argentina (16th-20th Centuries). BRILL. p. 68. ISBN 9789004338203. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2018.
  2. Emma Helen Blair, ed., The Philippine Islands, 1493–1803 (Cleveland, Ohio: 1903). Frances Gardiner Davenport, ed., European Treaties Bearing on the History of the United States and Its Dependencies to 1648 (Washington, DC: Carnegie Institute of Washington, 1917), 100.
  3. MEMORY OF THE WORLD REGISTER Treaty of Tordesillas Spain and Portugal. 2007, p.2
  4. Frances Gardiner Davenport, ed., European Treaties Bearing on the History of the United States and Its Dependencies to 1648 (Washington, DC: Carnegie Institute of Washington, 1917), p. 85, 171.
  5. MEMORY OF THE WORLD REGISTER Treaty of Tordesillas Spain and Portugal. 2007, p.1
  6. José Damião Rodrigues, Pedro Aires Oliveira (2014) História da Expansão e do Império Português ed. Esfera dos Livros, p.266-267