สงครามเพโลพอนนีเซียน

สงครามเพโลพอนนีเซียน หรือ สงครามเพโลพอนนีส (อังกฤษ: Peloponnesian War; 431–404 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิเอเธนส์กับสันนิบาตเพโลพอนนีเซียนที่นำโดยสปาร์ตา[1] สงครามนี้ออกเป็นสามช่วง[2] โดยช่วงแรกเรียกว่า "สงครามอาร์คีเดเมีย" (Archidamian War) เป็นการรุกรานแอททิกาของกองทัพสปาร์ตา ในขณะที่ฝ่ายเอเธนส์ใช้กองเรือที่มีประสิทธิภาพโจมตีกลับ สงครามช่วงนี้จบลงในปีที่ 421 ก่อนคริสตกาล ด้วยสนธิสัญญาสันติภาพนิซิอัส แต่ต่อมาในปีที่ 415 ก่อนคริสตกาล เอเธนส์กลับยกทัพบุกซีรากูซาบนเกาะซิซิลี แต่ล้มเหลว ช่วงที่สามของสงคราม สปาร์ตาได้สนับสนุนให้มีการก่อกบฏขึ้นตามนครรัฐใต้อำนาจเอเธนส์ จนนำไปสู่ยุทธนาวีที่เอกอสพอทาไมที่เป็นจุดยุติสงครามในที่สุด[3] เอเธนส์ยอมแพ้สงครามในปีต่อมา

สงครามเพโลพอนนีเซียน

พันธมิตรในสงครามเพโลพอนนีเซียนเมื่อ 431 ปีก่อนคริสตกาล
ส้ม: จักรวรรดิเอเธนส์และพันธมิตร
เขียว: สมาพันธรัฐสปาร์ตา
วันที่431 ปีก่อนคริสตกาล – 25 เมษายน 404 ปีก่อนคริสตกาล
สถานที่
ผล สันนิบาตเพโลพอนนีเซียนชนะ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
สันนิบาตดีเลียนล่มสลาย
สปาร์ตาขึ้นเป็นใหญ่ในนครรัฐกรีซโบราณ
คู่สงคราม
สันนิบาตดีเลียน (นำโดยเอเธนส์) สันนิบาตเพโลพอนนีเซียน (นำโดยสปาร์ตา)
เปอร์เซีย (สนับสนุน)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เพริคลีส
คลีออน 
นิซิอัส (เชลย) 
อัลซิเบียดีส
เดมอสทีนีส (เชลย) 
อาร์คิเดมัสที่ 2
บราซิดาส 
ไลแซนเดอร์
อัลซิเบียดีส

เนื้อหา[4] แก้

สงครามเพโลพอนนีเซียน เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสองนครรัฐมหาอำนาจของดินแดนกรีซโบราณ คือ นครรัฐเอเธนส์และนครรัฐสปาร์ตา โดยในช่วงเวลาดังกล่าว นครรัฐเอเธนส์มีกองทัพเรือที่เข้มแข็งที่สุดและถือว่าเป็นมหาอำนาจทางทะเล ในขณะที่นครรัฐสปาร์ตานั้น มีกองทัพบกที่เกรียงไกรยิ่งกว่านครรัฐใด ๆ เมื่อครั้งที่จักรพรรดิเซิร์กซีสมหาราชแห่งจักรวรรดิเปอร์เซียยกทัพเข้ารุกรานดินแดนกรีซ เอเธนส์และนครรัฐอื่น ๆ อีกหลายนครได้รวมตัวกันเป็นสันนิบาตดีเลียน (Delian League) โดยมีเอเธนส์เป็นผู้นำ ซึ่งหลังจากสงครามครั้งนั้นสิ้นสุดลงโดยเปอร์เซียล่าถอยกลับไปแล้ว สันนิบาตดังกล่าวก็ยังดำรงอยู่ โดยสมาชิกต้องส่งเงินบำรุงสันนิบาตไปยังเอเธนส์ ซึ่งเอเธนส์จะมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการใช้จ่ายเงินดังกล่าว

การได้เป็นผู้นำสันนิบาตดีเลียน ทำให้อำนาจของเอเธนส์ในดินแดนกรีซเพิ่มขึ้น ประกอบกับเอเธนส์ประสบความสำเร็จในการค้าทางทะลจนเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่ง ในขณะเดียวกัน สปาร์ตาซึ่งมีบทบาทสำคัญในสงครามกับเปอร์เซีย ก็จับตามองเอเธนส์อย่างไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้นครทั้งสองมีการแข่งขันกันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเอเธนส์เป็นนครที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งให้เสรีภาพกับประชาชนมากกว่าสปาร์ตาที่ปกครองแบบเผด็จการทหาร ซึ่งหลังจากสงครามเปอร์เซียสิ้นสุดลง เอเธนส์ได้เผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยไปยังรัฐอื่น ๆ สร้างความไม่พอใจให้กับสปาร์ตาและนครรัฐที่ปกครองแบบเผด็จการอีกหลายนคร อีกทั้งความรุ่งเรืองของเอเธนส์ยังทำให้นครรัฐเหล่านี้เกิดความริษยาอีกด้วย

เพื่อคานอำนาจกับเอเธนส์ ทางสปาร์ตาจึงได้ตั้งสันนิบาตเพโลพอนนีเซียน (Peloponnesian League) ขึ้น โดยมีตนเองเป็นผู้นำ และด้วยเหตุนี้ สปาร์ตาจึงกลายเป็นมหาอำนาจทางบก ส่วนเอเธนส์กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลและการแข่งขันระหว่างสองฝ่ายก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ช่วงที่หนึ่ง แก้

จุดแตกหักของทั้งสองฝ่ายเริ่มขึ้นจากการที่นครคอรินธ์ซึ่งเป็นสมาชิกของสันนิบาตเพโลพอนนีเซียนเริ่มสร้างฐานการค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแข่งกับนครเอเธนส์ จนต่อมาในปีที่ 431 ก่อนคริสตกาล คอรินธ์ก็เกิดข้อพิพาทกับนครคอร์ซิราซึ่งอยู่ในสันนิบาตดีเลียน เอเธนส์ในฐานะผู้นำของสันนิบาตจึงเข้ามาช่วยคอร์ซิรา ขณะที่คอรินธ์ขอความช่วยเหลือไปยังสปาร์ตา จนในที่สุดก็ลุกลามเป็นสงครามระหว่างเอเธนส์กับนครรัฐอื่น ๆ ในสันนิบาตเพโลพอนนีเซียน

ในช่วงสิบปีแรกของสงครามคือ ปีที่ 431 – 421 ก่อนคริสตกาล กำลังรบสำคัญของเอเธนส์คือกองทัพเรือ ส่วนสปาร์ตาคือกองทัพบก ซึ่งในช่วงต้นของสงครามทั้งสองฝ่ายมีกำลังสูสีกัน ทว่าต่อมาเกิดโรคระบาดในเอเธนส์ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนหลายพันคน รวมทั้งเพริคลีส ผู้นำคนสำคัญของเอเธนส์ ซึ่งผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งคนใหม่ไม่มีความสามารถเทียบเท่า ทำให้ภายในเอเธนส์เกิดแตกแยกเป็นสองพรรค คือ พรรคประชาธิปไตยที่มีคลีออนเป็นผู้นำ กับ พรรคอนุรักษนิยมที่มีนิซิอัสเป็นผู้นำ

พรรคประชาธิปไตยได้ชัยในยุทธการที่สแปคทีเรีย จับเชลยชาวสปาร์ตาได้สามร้อยคน ทว่าต่อมา กลับพ่ายแพ้ที่แอมฟิโปลิส จึงทำให้พวกอนุรักษนิยมเข้ายึดอำนาจภายใน จากนั้นนิซิอัสจึงได้เจรจาสงบศึกกับสปาร์ตา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสงบศึกกันแล้ว สองฝ่ายก็ยังคงรบกันเป็นระยะ และในปีที่ 419 ก่อนคริสตกาล เอเธนส์ก็ร่วมกับนครรัฐอื่น ๆ ทำสงครามกับสปาร์ตาที่แมนดิเนียและในปีต่อมา ฝ่ายสปาร์ตาก็ได้รับชัยชนะ

ช่วงที่สอง แก้

ในช่วงเวลานี้ เอเธนส์มีผู้นำคือ อัลซิเบียดีส ซึ่งเป็นคนฉลาดแต่เห็นแก่ตัวและไม่รักษาสัจจะ เขาเชื่อว่าตราบเท่าที่สงครามยังคงอยู่ ตัวเขาก็จะยังได้ประโยชน์ ดังนั้นเขาจึงพยายามทุกอย่างที่จะสร้างความขัดแย้งขึ้น เช่น การขยายอำนาจเข้าสู่ซิซิลีเพื่อเตรียมการปราบปรามนครซีรากูซา ซึ่งหากทำสำเร็จ เขาก็จะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นด้วย การกระทำดังนี้ ทำให้สปาร์ตาไม่พอใจเป็นอย่างมากและก่อให้เกิดสงครามครั้งใหม่ กองทัพเรือเอเธนส์ถูกโจมตีอย่างหนักที่ซีรากูซา เหล่าทหารถูกไล่ต้อนขึ้นบกและถูกบังคับให้เผาเรือของตน พวกแม่ทัพถูกจับและถูกสังหารเกือบหมด

ช่วงที่สาม แก้

ในปีที่ 414 ก่อนคริสตกาล หลังการพ่ายแพ้ที่ซีรากูซา เอเธนส์ได้ส่งกองทัพไปโจมตีลาโคเนีย ทว่าถูกแม่ทัพไลแซนเดอร์ของสปาร์ตาเอาชนะได้ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้อัลซิเบียดีสหมดอำนาจทางการเมือง ต่อมาทัพสปาร์ตาก็มีชัยชนะในการรบอีกครั้งที่เอกอสพอทาไม โดยสามารถทำลายทั้งทัพบกและทัพเรือของเอเธนส์ ทั้งจับเชลยได้ถึง 3,000 คน ทำให้นครเอเธนส์ต้องยอมแพ้อย่างสิ้นเชิง ในปีที่ 404 ก่อนคริสตกาล

การพ่ายแพ้ในสงครามเพโลพอนนีเซียน ส่งผลให้เอเธนส์ถูกลดอำนาจลง กลายเป็นนครรัฐชั้นสอง ภายใต้อำนาจของสปาร์ตาและได้รับอนุญาตให้มีเรือรบได้เพียงสิบสองลำเท่านั้น ส่วนการปกครองก็เปลี่ยนเป็นคณาธิปไตย โดยยอมให้สปาร์ตามาตั้งป้อมค่ายได้และหากมีใครขัดขวางก็จะถูกขับไล่ออกจากเมือง ซึ่งแม้ว่าในภายหลัง เอเธนส์จะขับไล่อำนาจของสปาร์ตาออกไปได้และกลับมาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่เอเธนส์ก็ไม่อาจกลับมารุ่งเรืองได้อีกเลยและสปาร์ตาก็กลายเป็นผู้นำของนครรัฐกรีซทั้งปวงโดยเด็ดขาด

อ้างอิง แก้