วีลา

ภูตเพศหญิงในตำนานของชาวสลาฟ
(เปลี่ยนทางจาก วีล่า)

วิลา (vila) หรือ วีลา (víla; [ˈviːla]; พหูพจน์: vile, หรือ víly [ˈviːli]; บอสเนีย-โครเอเชีย-มอนเตเนโกร-เซอร์เบีย: vila; สโลวีเนีย: vila; บัลแกเรีย: vila, diva, juda, samovila, samodiva, samojuda; สลาฟตะวันออกเก่า: vila; สโลวัก: víla; เช็ก: víla, samodiva, divoženka) เป็นภูตประเภทหนึ่งตามตำนานของชาวสลาฟ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับนิมฟ์ ในตำนานกรีก

ภาพวาดลายเส้นของวีลา

สำหรับวิลานั้นเป็นตำนานที่ชาวสลาฟคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยชาวสลาฟมองว่าวิลานั้น เป็น “นางไม้” ประเภทหนึ่ง มีคุณต่อผู้คนและเคารพนับถือพวกเขา ชื่อวิลาจึงมาผูกเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในแถวพื้นที่ที่ชาวสลาฟได้ตั้งรกรากดินแดนอาศัยอยู่

สำหรับวิลานั้น กำเนิดมาจากวิญญาณของเด็กสาวบริสุทธิ์ ทำให้ส่วนมากวิลาจึงมักปรากฎตัวในรูปลักษณ์ของสตรีเพศที่มีความงดงามหาใดเปรียบ พวกเธอมักจะปรากฎตัวในฐานะผู้หญิงผมยาวสลวยงดงาม นอกจากนี้พวกเธอยังสามารถแปลงกายตนเองเป็นสัตว์ชนิดอื่น อาทิเช่น ห่าน หงส์ ม้า เหยี่ยว และหมาป่าได้ด้วย

สำหรับลักษณะนิสัยของเหล่านางวิลานั้น พวกเธอมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พวกเธอมักจะชอบจับกลุ่มกันเต้นรำเป็นวงกลม พวกเธอนั้นมีความชอบในมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่มีความกล้าหาญจำพวกอัศวิน นักรบ หรือวีรบุรุษ ตามความเชื่อของชาวสลาฟแล้ว คนพวกนี้มักจะได้รับความช่วยเหลือจากเหล่านางวิลา ซึ่งจะมาในรูปของคำอวยพร บ้างก็เป็นอาวุธเวทมนตร์ชั้นดี หรือว่าเป็นเวทมนตร์คุ้มครอง นอกจากนี้เหล่าอัศวินหรือนักรบผู้กล้าหาญทุกคนก็จะมีวิลาคุ้มครองประจำตัวไป ซึ่งพวกเธอเหล่านี้จะเป็นเหมือนกับ “พี่น้องร่วมสาบาน” ที่คอยช่วยเหลือและคุ้มครองผู้กล้าให้ปลอดภัยในหลาย ๆ สถานการณ์ ดั่งจะเห็นได้จากตำนานเจ้าชายมาร์โค (Kraljević Marko) ตำนานกษัตริย์ผู้กล้าของชาวเซอร์เบีย ที่วิลาชื่อว่า ราวิโยยลา (Ravijojia) เป็นภูติประจำตัว[1]

วิลานั้นมีความเป็นมิตรกับมนุษย์ อย่างไรก็ตามวิลาก็มีความเจ้าคิดเจ้าแค้น หากมีใครก็ตามไปดูถูก เหยียดหยามหรือทำร้ายพวกนาง พวกนางก็จะแก้แค้นด้วยความพยาบาท จนกระทั่งคนที่ทำตายตายไปนั่นเอง

ในส่วนชื่อวิลา (Vila) นั้นมาจากไหนยังไม่อาจจะชี้ชัดได้ แต่คาดการณ์กันว่าชื่อของวิลานั้นมาจากคำว่า วิติ (Viti) หรือ วายุ (vāyú) ซึ่งมีความหมายถึง ‘สายลม’ นั่นเอง

อ้างอิง แก้

  1. มาดามอักปา. ตำนานนางพญาแห่งผืนป่า. ต่วย'ตูน พิเศษ, ปีที่ 48 ฉบับที่ 472 ธันวาคม 2565.