วิลเฮ็ล์ม ฟวร์ทเว็งเลอร์
กุสทัฟ ไฮน์ริช แอ็นสท์ มาร์ทีน วิลเฮ็ล์ม ฟวร์ทเว็งเลอร์ (เยอรมัน: Gustav Heinrich Ernst Martin Wilhelm Furtwängler) เป็นวาทยกรและคีตกวีชาวเยอรมัน เขาได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในวาทยกรซิมโฟนีและอุปราการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นวาทยกรเอกของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิกระหว่าง ค.ศ. 1922–1945 และระหว่าง ค.ศ. 1952–1954 นอกจากนี้ยังเป็นวาทยกรรับเชิญแก่วงมีชื่อเสียงอื่น ๆ อีก อาทิ วงเวียนนาฟิลฮาร์มอนิก เป็นต้น
วิลเฮ็ล์ม ฟวร์ทเว็งเลอร์ | |
---|---|
เกิด | 25 มกราคม ค.ศ. 1886 เชอเนอแบร์ค, จักรวรรดิเยอรมัน |
เสียชีวิต | 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954 เอเบอร์ชไตน์บวร์ค, เยอรมนีตะวันตก | (68 ปี)
สัญชาติ | เยอรมัน |
อาชีพ | วาทยกร, คีตกวี |
มีชื่อเสียงจาก | วาทยกรเอกวงเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิก |
แม้ตัวเขาจะต่อต้านระบอบนาซีและมีการวิจารณ์ฮิตเลอร์อย่างรุนแรงก็ตาม แต่เขาเป็นหนึ่งในวาทยกรแถวหน้าไม่กี่คนที่พำนักอยู่ในเยอรมนีตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การตัดสินใจนี้ทำให้เขาถูกวิจารณ์อย่างมากว่าตัวตนของเขาในเยอรมนีช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ทางศิลป์แก่ไรช์ที่สาม
เมื่อนาซีเรืองอำนาจ บุคลากรทางดนตรีเชื้อสายยิวจำนวนมากต้องลี้ภัยไปนอกไม่ก็ถูกจับกุม ฟวร์ทเว็งเลอร์เป็นหนึ่งในบุคคลที่พวกนาซีพยายามรั้งตัวไว้ในเยอรมนี แต่เขาก็ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือนัก ฟวร์ทเว็งเลอร์เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีเกิบเบิลส์ใน ค.ศ. 1933 เพื่อคัดค้านนโยบายต่อต้านยิว[1] เขามองว่าบุคคลเชื้อสายยิวมีความสำคัญต่อวงการศิลป์ การกีดกันยิวจะส่งผลกระทบต่อวงการศิลป์อย่างใหญ่หลวง เขาขู่ที่จะลาออกจากทุกตำแหน่งถ้าเขาไม่ได้คนเชื้อสายยิวมาร่วมงาน[2]
การวิจารณ์ของฟวร์ทเว็งเลอร์ทำให้เกิดข้อโต้แย้งขึ้นในบรรดาผู้นำพรรคนาซี ฮิมม์เลอร์ต้องการส่งตัวเขาไปยังค่ายกักกัน[3] แต่เกิบเบิลส์และเกอริงกลับสั่งการให้มีการประนีประนอมกับฟวร์ทเว็งเลอร์[4] ทำให้ในที่สุด ฟวร์ทเว็งเลอร์ก็สามารถเชิญศิลปินเชื้อสายยิวมาร่วมงาน (อาทิ เยฮูดิ เมนูฮิน, อาร์ทัวร์ ชนาเบิล) ในการแสดงคอนเสิร์ตต่างประเทศ แต่นักดนตรีเหล่านี้ปฏิเสธที่จะเข้าไปยังประเทศเยอรมนี[5] ฟวร์ทเว็งเลอร์มีโอกาสได้พบกับฮิตเลอร์และพยายามโน้มน้าวให้ฮิตเลอร์ยุติการกีดกันชาวยิว อย่างน้อยที่สุดคือในขอบเขตของวงการศิลป์ ฟวร์ทเว็งเลอร์ได้พยายามเสนอรายชื่อศิลปินเชื้อสายยิวฝีมือดีไว้จำนวนมาก[6] แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่ยอมรับฟัง
ใน ค.ศ. 1934 ฟวร์ทเว็งเลอร์ได้กล่าวในที่แจ้งว่าฮิตเลอร์เป็น "ภัยต่อมนุษยชาติ" และบอกว่าการเมืองการปกครองในเยอรมนีนั้นอยู่ในภาวะ "อุจาด" เขาเตรียมตัวออกจากเยอรมนีแต่ก็ถูกพวกนาซีขัดขวาง[7][8][9] พวกนาซีรั้งตัวฟวร์ทเว็งเลอร์ไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเป็นอารยันแก่วงการออร์เคสตราของไรช์ ในขณะที่นักดนตรีเชื้อสายยิวคนอื่น ๆ ต่างหนีออกประเทศไปหมดแล้วด้วยการจัดแจงของฟวร์ทเว็งเลอร์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีเกิบเบิลส์ยังขู่เขาไว้อีกว่า ถ้าฟวร์ทเว็งเลอร์หนีออกจากเยอรมนีแล้ว เขาจะไม่มีวันได้กลับเข้ามาอีก เขาจึงจำใจต้องอยู่ทำงานในเยอรมนีเพื่อที่จะไม่ต้องแยกจากมารดาผู้เป็นที่รัก เขาได้รับมอบหมายให้คุมวงเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิกนอกจากนี้ พวกนาซียังแต่งตั้งเขาเป็นรองประธานคนที่หนึ่งแห่งไรช์คีตสภา (Reichsmusikkammer) และคณะมนตรีแห่งรัฐปรัสเซีย (Staatsrat of Prussia)
ตลอดเวลาที่ทำงานภายใต้การปกครองของนาซี เขามีความกระด้างกระเดื่องต่อนาซีอย่างเปิดเผยและบางครั้งก็รุนแรง นั่นทำให้เขาตกเป็นที่จับตามองของตำรวจลับ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ไม่อาจทำอะไรเขาได้ด้วยเหตุที่เขานั้นเปรียบดั่ง "สมบัติของชาติ"[10][11] อย่างมากฮิตเลอร์ก็แค่สั่งพักงานเขานานหลายเดือนใน ค.ศ. 1935 ก่อนที่จะให้กลับมาทำงานต่อในวันเกิดครบรอบ 50 ปีของเขา ฮิตเลอร์ได้ให้ของขวัญเป็นเงินบำนาญปีละ 40,000 ไรชส์มาร์ค เกิบเบิลส์ให้ของขวัญเป็นไม้บาตองงาช้างด้ามทอง แต่เขาปฏิเสธของขวัญเหล่านั้น[12][13]
อ้างอิง
แก้- ↑ Prieberg, p. 340.
- ↑ Prieberg, p. 74.
- ↑ Ardoin, John (1994). The Furtwängler Record. Portland, Oregon: Amadeus Press. p. 56. ISBN 978-0931340697.
- ↑ Schönzeler, Hans-Hubert (1990). Furtwängler. Portland, Oregon: Timber Press. p. 53. ISBN 978-0715623138.
- ↑ Roncigli, p. 46.
- ↑ Prieberg, p. 100.
- ↑ Roncigli, p. 48.
- ↑ Geissmar, p. 144.
- ↑ Riess, p. 139.
- ↑ Prieberg, chapter 5.
- ↑ Riess, p. 143.
- ↑ Prieberg, p.191.
- ↑ Riess, p. 155.