วิลเลิม เดอ โกนิง

วิลเลิม เดอ โกนิง (ดัตช์: Willem de Kooning; 24 เมษายน ค.ศ. 1904 - 19 มีนาคม ค.ศ. 1997) ศิลปินชาวอเมริกันเชื้อสายดัตช์ เกิดที่เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 เริ่มเข้าสู่วงการศิลปะที่เมืองนิวยอร์กโดยเป็นศิลปินหนึ่งใน 38 คนที่ได้รับเชิญจากสภาเมืองเพื่อวาดภาพผนังสาธารณะภายใต้โครงการพัฒนาชาติจำนวน 105 แห่ง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในจำนวนศิลปินหัวก้าวหน้าของอเมริกาในยุคต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นสมาชิกกลุ่มสำนักศิลปะนิวยอร์ก (New York School) ที่ประกอบด้วยศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ แจ็กสัน พอลล็อก, ลี แครสเนอร์, ฟรานซ์ ไคลน์, มาร์ก รอทโก, ฮันส์ ฮอฟมันน์ และคลิฟฟอร์ด สติลล์ อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงของลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบนามธรรม (abstract expressionism) หรือในบางครั้งถูกเรียกว่า "กัมมันตจิตรกรรม" (action painting)

วิลเลิม เดอ โกนิง
เกิดวิลเลิม เดอ โกนิง
24 เมษายน ค.ศ. 1904(1904-04-24)
รอตเทอร์ดาม, เนเธอร์แลนด์
เสียชีวิต19 มีนาคม ค.ศ. 1997(1997-03-19) (92 ปี)
ลองไอแลนด์, สหรัฐอเมริกา
อาชีพศิลปิน, จิตรกร, ประติมากร
แนวร่วมในทางวรรณคดีลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม

ประวัติ แก้

ช่วงเริ่มต้นสู่การเป็นศิลปิน แก้

วิลเลิม เดอ โกนิง เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1904 ที่เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำเนิดจากพ่อชื่อ เลนเดิร์ต เดอ โกนิง (Leendert de Kooning) และแม่ชื่อ กอร์เนลียา โนเบิล (Cornelia Nobel) พ่อกับแม่ของเขาหย่ากันตอนวิลเลิมอายุได้ 3 ขวบเท่านั้น เขาอาศัยอยู่กับแม่ ชีวิตในวัยเด็กต้องอยู่ด้วยความยากจนและลำบาก เมื่ออายุ 12 ปี เขาต้องออกจากโรงเรียนและหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานเป็นช่างศิลป์ทั่วไปในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืน เขาได้เข้ารับการศึกษาที่สถาบันศิลปะแห่งเมืองรอตเทอร์ดามทำให้เขาได้พบกับอาจารย์คนนึงซึ่งแนะนำเขาให้ได้รู้จักกับกลุ่มเดอสไตล์ (De Stijl) ลักษณะผลงานจากกลุ่มนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อความคิดของเขาเป็นอย่างมากโดยเน้นความบริสุทธิ์ของสีและรูปแบบ

จุดเริ่มต้นอีกครั้ง แก้

ค.ศ. 1926 (อายุ 22 ปี) เดอ โกนิงได้เดินทางลี้ภัยสู่สหรัฐอเมริกา เขาได้ย้ายเมืองไปมาอยู่หลายที่จนในที่สุดได้ย้ายมาลงหลักปักฐานที่นิวยอร์กโดยยึดอาชีพเดิม ๆ ของเขาในการหาเลี้ยงชีพคือ ทาสีบ้าน ออกแบบหน้าต่าง ออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปะทางการค้าทั้งสิ้น ช่วงนั้นเขายังไม่สามารถทำงานศิลปะที่เขารักได้สักที จนกระทั่งเมื่อเขาได้กลุ่มพบกลุ่มศิลปินในนิวยอร์ก เขารู้สึกว่ากลุ่มศิลปินดังกล่าวมีคุณค่าเกินกว่าที่เขาจะออกจากที่นี้ได้แม้ว่ามีงานที่ดีเสนอให้เขาในฟิลาเดเฟีย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเขาอยากจะอยู่อย่างยากไร้ในนิวยอร์ก ดีกว่าไปร่ำรวยในฟิลาเดเฟีย[1]

หลังจากนั้นได้พบกับจอห์น เกรอัม, สจวร์ต เดวิส และอาร์ชีล กอร์กี ซึ่งได้ทำงานร่วมกันให้กับสภาเมืองเพื่อวาดจิตรกรรมฝาผนังสาธารณะระหว่างปี ค.ศ. 1935-1939 กอร์กีเป็นผู้ที่ให้อิทธิพลต่อ เดอ โกนิงมากที่สุด (กอร์กีเคยทำงานรวมกับปาโบล ปีกัสโซในลัทธิบาศกนิยม และชูอัน มีโรในลัทธิเหนือจริง) อีกทั้งเดอ โกนิงประทับใจนิทรรศการที่เขาเห็นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) ในปี ค.ศ. 1936 "คิวบิสม์และแอ็บสแตรกต์" และ "แฟนแทสติกอาร์ต, ดาดา และเซอร์เรียลลิสม์" รวมถึงผลงานของปีกัสโซที่นำมาแสดงพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ. 1939 เขาได้รับอิทธิพลศิลปะนี้อย่างมาก

ต่อมาเขาได้ใช้สตูดิโอร่วมกับกอร์กี ภาพแรกของเขาได้รับอิทธิพลจากแบบอย่างเหนือจริงจากกอร์กีกับแรงบันดาลในแบบอย่างปีกัสโซ อย่างไรก็ตาม เดอ โกนิงได้แรงบันดาลใจจากสาขา Gestural ของสกุลศิลปะนิวยอร์กเช่นเดียวกับแจ็กสัน พอลล็อก และฟรานซ์ ไคลน์ เขาได้ติดต่อกับพอลล็อกและไคลน์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เดอ โกนิงทำผลงานสีขาว-ดำที่เป็นนามธรรมในปี ค.ศ. 1946 เขากลับไปยังทำงานลักษณะนั้นอีกในปี ค.ศ. 1959

ชีวิตส่วนตัว แก้

ค.ศ. 1938 วิลเลิมได้พบกับอิเลน มารี ไฟรด์ (Elaine Marie Fried) และได้แต่งงานกันในที่สุดใน ค.ศ. 1943 ภายหลังรู้จักกันดีในชื่อ อิเลน เดอ โกนิง ทั้งสองได้กลายมาเป็นศิลปินในลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม ชีวิตคู่ของทั้งสองเต็มไปด้วยมรสุม ทั้งสองต่างมีชู้และแยกย้ายกันไปในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 เดอ โกนิงมีลูกกับผู้หญิงคนอื่น ในขณะที่มีความสัมพันธ์อยู่กับรูท คลิกแมน อดีตคนรักของแจ็กสัน พอลล็อก อย่างไรก็ดีกลางคริสต์ทศวรรษ 1970 ทั้งอิเลนและเดอ โกนิงก็ได้กลับมาอยู่ด้วยกันจนอิเลนได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1989

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ แก้

ปี ค.ศ. 1950 เขาได้ทำผลงาน การขุด ออกมาและได้รับการจัดแสดงที่ศาลาแสดงภาพอเมริกัน (American Pavilion) ในงานนิทรรศการเวนิสบีเอนนาเล นับเป็นการจัดแสดงต่างประเทศของเดอ โกนิงเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งสำคัญของเขา ในปีถัดมา เดอ โกนิงได้รับรางวัล Purchase Price จากสถาบันศิลปะชิคาโก เพียงแต่เส้นทางศิลปินของเขาจะเป็นที่ยอมรับในสถาบันศิลปะและนั่นหากยังเป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาศิลปะของเดอ โกนิงอีกด้วย เพราะหลังจากนั้นศิลปะได้สร้างผลงานชุด ผู้หญิง ออกมา[2]

ช่วงปี ค.ศ. 1950-1953 เดอ โกนิงได้วาดจิตรกรรมชุด ผู้หญิง จิตรกรรมชุดนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก โดยเป็นภาพที่แสดงภาวะของความจริงและนามธรรมเข้าด้วยกัน ผลงานชุดนี้ไม่ได้เป็นนามธรรมโดยแท้ เพราะยังพอเห็นเป็นรูปร่างว่าเป็นรูปอะไร หรือเรียกได้ว่า ภาพกึ่งนามธรรม (semi-abstract) แต่ลีลาการใช่พู่กันของเดอ โกนิงได้แสดงออกถึงกลุ่มลัทธิสำแดงพลังอารมณ์อย่างเต็มที่ ในปี ค.ศ. 1951 เดอ โกนิงได้ประกาศจุดยืนของเขาอย่างชัดเจนว่า "จิตรกรรมคือ การระบายสี เป็นวิถีทางของชีวิต เป็นรูปแบบหนึ่ง"[3] และเขาก็ได้วาดรูปในลักษณะนี้เรื่อยมาในปี ค.ศ. 1955-1966 เขาได้สนใจวาดภาพภูมิประเทศทั้งในเมืองที่เจริญและธรรมชาติในลักษณะนามธรรมอีกด้วย จนถึงขั้นย้ายไปอยู่ที่อีสต์แฮมป์ตันชั่วคราวและมีสตูดิโอขนาดใหญ่

บั้นปลายชีวิต แก้

ปี ค.ศ. 1963 เดอ โกนิงได้ย้ายออกจากนิวยอร์ก และเมื่อปี ค.ศ. 1964 เขาได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาคือ "เหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดี" จนในที่สุดไปลงหลักปักฐานที่อยู่บั้นปลายชีวิตที่ลองไอแลนด์ในปี ค.ศ. 1970 เขาได้หันไปทำงานประติมากรรมร่วมกับภาพจิตรกรรมเรื่อยมา จนกระทั่ง เดอ โกนิงได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1997 ขณะที่อายุ 92 ปี

รูปแบบการทำงาน แก้

เดอ โกนิงในวัยเด็กได้ฝึกฝนทักษะทางศิลปะตั้งแต่ตอนเรียนที่สถาบันศิลปะรอตเทอร์ดามและย้ายมานิวยอร์ก ตอนอายุแค่ 22 ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาก็อุทิศตัวทำงานเพื่อศิลปะในเมืองนี้เรื่อยมา แม้เดอ โกนิงจะได้รับอิทธิพลจากลัทธิบาศกนิยมอย่างชัดเจน แต่เขากลับให้สัมภาษณ์ว่า "ผมเป็นจิตรกรที่สรรหาแรงบันดาลใจจากแหล่งต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เวลาเปิดหนังสือศิลปะ ผมอาจแจอภาพเลียนแบบของใครบางคนแล้วเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาก็ได้"[4] เดอ โกนิงเห็นถึงความสำคัญของการสร้างงานศิลปะว่าเป็นการแสดงออกอย่างเสรี การวาดของเขาแต่ละครั้งจะใช้ฝีแปรงปาดอย่างรวดเร็วด้วยการเหวี่ยงแขนอย่างรุนแรง การสลัดพู่กันอย่างอิสระ และการใช้สีสันสดใส ซึ่งถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นของเดอ โกนิง เขาเคยกล่าวว่า ในธรรมชาติจริงมีแต่ความไร้ระเบียบ เป็นหน้าที่ของศิลปินที่ต้องจัดระเบียบของธรรมชาติในงานศิลปะ

ผลงานในคตินามธรรมของเดอ โกนิงปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1934 ซึ่งเป็นผลงานขณะอาศัยอยู่ร่วมกับกอร์กี ทั้งสองรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งในขณะนั้นเดอ โกนิงได้สร้างงาน 2 แบบร่วมกันคือ แนวนามธรรม โดยภาพยังสามารถเข้าใจถึงรูปทรงได้ง่าย ต่อมาได้รับอิทธิผลทางรูปแบบและความคิดของซูทีน (Soutine) จิตรกรสำคัญในลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ หลังจากนั้นจึงได้พัฒนารูปแบบสู่ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีความกล้าในการใช้ฝีแปรงที่เด็ดขาด รวดเร็วแสดงออกถึงความเข้มข้นของอารมณ์สีสันสดใสซึ่งถือเป็นลักษณะที่โดนเด่นของเดอ โกนิงที่ส่งผ่านงานในรูปแบบนามธรรมในแบบฉบับของเขาที่มีความเชื่อว่าอารมณ์ที่เขาส่งผ่านมานั้นผู้ชมจะสามารถรู้สึกถึงมันได้ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือภาพชุด ผู้หญิง

ผลงานชิ้นสำคัญ แก้

ผลงานชุด การขุด แก้

ภาพ การขุด (Excavation; ค.ศ. 1946-1950) ได้รับแรงบันดาลใจจากหลาย ๆ อย่างตามที่เขาเคยได้ให้สัมภาษณ์ ภาพนี้เป็นภาพที่ขนาดใหญ่ที่สุดของศิลปิน ขนาดของภาพบวกกับการใช้สีขาวงาช้างขุ่น ๆ ทำให้รู้สึกเหมือนกำแพงกราฟิกที่เต็มไปด้วยเส้นตัดสีดำแยกชิ้นส่วนของภาพออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทั้งนี้อาจเพราะช่วงปี ค.ศ. 1930 เดอ โกนิงได้เป็นส่วนหนึ่งของฝาผนังสาธารณะโดยรัฐบาลภายใต้โครงการพัฒนาชาติ

ความหยาบของเส้นทำให้นึกถึงการต่องสู้ที่คึกโครม เรามักได้ยินว่าภาพ การขุด นี้ได้รับอิทธิพลมาจากภาพต่อต้านสงคราวอย่างภาพ เกร์นีกา ของปีกัสโซ อีกทั้งฉากภาพยนตร์ขาวดำที่โด่งดังเรื่อง รีโซอามาโร รวมถึงเดอ โกนิงยังได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในชีวิตทั่ว ๆ ไป เช่น การขุดเจาะในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งชื่อผลงานนี้ด้วย ภาพ การขุด เป็นการแสดงถึงความประทับใจที่มีต่อภาพยุคก่อน ๆ ซึ่งได้มาจากการขุดค้นทางประวัติศาสตร์อันเป็นหลักฐานการล่มสลายของมนุษย์สมัยโบราณ โดยศิลปินมีบทบาทในการขุดภาพนั้นขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากต้องประสบกับฉากการทำลายล้างที่หดหู่ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ศิลปินในลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมจึงหันมาสนในกับศิลปะดั้งเดิมเช่นกัน[5]

ผลงานชุด ผู้หญิง แก้

ภาพชุด ผู้หญิง (Women; ค.ศ. 1950-1953) ได้นำไปจัดแสดงในห้องภาพชื่อดังอย่างห้องภาพของซิดนีย์ แจนิส โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า ภาพวาดในหัวข้อผู้หญิง พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากนิตยสารอาร์ตนิวส์ ด้วยความโด่งดังนี่เอง พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่จึงซื้อภาพชุด ผู้หญิง นี้ไป แต่ทั้ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ภาพชุด ผู้หญิง ของเดอ โกนิงกลับถูกผู้ชมและนักวิจารณ์หลายคนกล่าวถึงว่าเป็นเงามืดแห่งสกุลศิลปะนิวยอร์กซึ่งประสบความสำเร็จจากจิตรกรรมแบบนามธรรม แต่ผลงานของเดอ โกนิงกลับเห็นโครงร่างของมนุษย์ชัดเจน สลับกับจังหวะที่เป็นเชิงนามธรรมบ้าง มีลักษณะการวาดแนวตวัดแขนไปมา สลัดพู่กันหรือแปรงอย่างรุนแรงและอิสระ นักวิจารณ์ได้กล่าวถึงผู้หญิงของเดอ โกนิงว่า รูปร่างเหมือนคมสิ่ว ตาถลน ฟันเหยิน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะยุคโบราณซึ่งเป็นนัยยะของผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ปัจจัยความงามเป็นหลัก เช่น ภาพมาริลิน มอนโร (หนึ่งในชุด ผู้หญิง)

ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เดอ โกนิงต้องการพยายามหลีกเลี่ยงตัวเองจากการผูกมัดกับขั้วนามธรรมหรือรูปธรรมฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชัดเจน โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ศิลปินและนักวิจารณ์บางคนโจมตีผมที่วาดภาพชุด ผู้หญิง ออกมา แต่ผมกลับมองว่านั่นเป็นปัญหาของพวกเขา ไม่ใช่ปัญหาของผมสักนิด ทุกวันนี้ศิลปินบางคนอยากจะกลับไปวาดรูปที่สามารถจับต้องได้ แต่คำว่า รูปที่จับต้องได้ กลายเป็นเหมือนคำสาป ถ้าเอาแปรงไปจุ่มสีแล้วเอาไปวาดรูปจมูกใครสักคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในแง่ทฤษฎีหรือปฏิบัติคงตลกน่าดู เป็นเรื่องไร้สาระงี่เง่าจะตายไปสำหรับทุกวันนี้ หากเราจะเอาสีมาวาดภาพสักภาพให้เหมือนคน ลองมาคิด ๆ ดูแล้วปัญหามันยังอยู่ ไม่ว่าเราจะวาดหรือไม่วาดก็ตาม ทุกอย่างจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ถ้าไม่มีใครยอดวาดรูปเลย ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะวาดรูปตามใจต้องการ"[6]

อ้างอิง แก้

  1. http://www.theartstory.org/artist-de-kooning-willem.htm
  2. บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552, หน้า 50.
  3. กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554, หน้า 322.
  4. บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552, หน้า 56.
  5. บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552, หน้า 50.
  6. บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552, หน้า 56.

บรรณานุกรม แก้

  • กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ, 2545.
  • บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552.
  • Cateforis, David. Willem de Kooning. New York: Rizzoli International, 1994.
  • Hess, Thomas B. Willem de Kooning. New York: The Museum of Modern Art, 1968.
  • Metropolitan Museum of Art (New York, N.Y) and the High Museum of Art, Atlanta. Abstract Expressionism: Works on Paper. New York, 1993.
  • http://www.willem-de-kooning.com/
  • http://www.theartstory.org/artist-de-kooning-willem.htm
  • http://www.moma.org/search?query=de+kooning

แหล่งข้อมูลอื่น แก้