วาซีลี อาร์ฮีปอฟ
วาซีลี อเล็กซานโดรวิช อาร์ฮีปอฟ (รัสเซีย: Василий Александрович Архипов, สัทอักษรสากล: [vɐˈsʲilʲɪj ɐlʲɪkˈsandrəvʲɪtɕ arˈxʲipəf], 30 มกราคม ค.ศ. 1926 – 19 สิงหาคม ค.ศ. 1998) เป็นนายทหารเรือโซเวียตที่คัดค้านการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ระหว่างวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา อาร์ฮีปอฟเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการและรองผู้บังคับการเรือดำน้ำพลังดีเซล B-59 ที่ปฏิเสธคำอนุมัติของผู้บังคับการในการโจมตีกองทัพเรือสหรัฐด้วยตอร์ปิโดนิวเคลียร์ ซึ่งหากการโจมตีเกิดขึ้นอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์[1]
วาซีลี อาร์ฮีปอฟ | |
---|---|
ชื่อพื้นเมือง | Василий Александрович Архипов |
เกิด | 30 มกราคม ค.ศ. 1926 Zvorkovo, แคว้นมอสโก, สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย, สหภาพโซเวียต |
เสียชีวิต | 19 สิงหาคม ค.ศ. 1998 Zheleznodorozhny, แคว้นมอสโก, รัสเซีย | (72 ปี)
รับใช้ | สหภาพโซเวียต |
แผนก/ | กองทัพเรือโซเวียต |
ประจำการ | 1945–1980s |
ชั้นยศ | พลเรือโท |
การยุทธ์ | |
บำเหน็จ |
|
คู่สมรส | โอลกา อาร์ฮีโปวา |
ทอมัส แบรนตัน ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐกล่าวในค.ศ. 2002 ว่าอาร์ฮีปอฟนั้นได้ "ปกป้องโลกไว้"[2]
ชีวิตช่วงต้น
แก้อาร์ฮีปอฟเกิดในครอบครัวชาวนาใกล้กรุงมอสโกในค.ศ. 1926 เขาเรียนที่โรงเรียนนายเรือ Pacific Higher Naval School และปฏิบัติงานบนเรือกวาดทุ่นระเบิดในสงครามโซเวียต–ญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 หลังจากนั้นเขาถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนนายเรือ Caspian Higher Naval School หลังเรียนจบในค.ศ. 1947 อาร์ฮีปอฟปฏิบัติงานบนเรือดำน้ำในทะเลดำ ทะเลเหนือและทะเลบอลติก[3] ในค.ศ. 1961 เขาได้รับตำแหน่งรองผู้บังคับการเรือดำน้ำ K-19 แต่ในการเดินทางครั้งแรกเรือประสบปัญหาระบบหล่อเย็นล้มเหลว ทำให้ผู้บังคับการนิโคไล ซาเตเยฟสั่งซ่อมแซมโดยด่วนเพื่อป้องกันการหลอมละลายนิวเคลียร์ แม้จะซ่อมแซมระบบสำเร็จแต่ลูกเรือทั้งหมดได้รับรังสี ในช่วงเวลาสองปีมีลูกเรือกว่า 20 คนเสียชีวิตด้วยรังสีจากเหตุการณ์นี้[4]
วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา
แก้วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1962 ระหว่างวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา กลุ่มเรือพิฆาต 11 ลำและเรือบรรทุกอากาศยาน USS Randolph ของกองทัพเรือสหรัฐตรวจพบเรือดำน้ำพลังดีเซล B-59 ในน่านน้ำสากลใกล้คิวบา กองทัพเรือสหรัฐหย่อนระเบิดน้ำลึกลงไปเพื่อกดดันให้เรือดำน้ำลอยตัวขึ้นมาระบุตัวตน ด้านเรือดำน้ำไม่ได้รับคำสั่งจากมอสโกมาหลายวันและอยู่ลึกเกินกว่าจะรับสัญญาณคลื่นวิทยุได้ ลูกเรือจึงไม่ทราบว่าสงครามเริ่มขึ้นแล้วหรือไม่[5][6] วาเลนติน ซาวิตสกี ผู้บังคับการเรือดำน้ำคาดว่าสงครามเริ่มขึ้นแล้วและต้องการสั่งยิงตอร์ปิโดนิวเคลียร์[7]
อย่างไรก็ตามการอนุมัติคำสั่งยิงต้องได้รับมติเอกฉันท์จากนายทหารอาวุโสบนเรือสามนายได้แก่ ผู้บังคับการซาวิตสกี นายทหารการเมืองมาสเลนนิคอฟและนายทหารเสนาธิการอาร์ฮีปอฟ ซึ่งมีเพียงอาร์ฮีปอฟคนเดียวที่คัดค้านคำอนุมัติ[8] ที่สุดแล้วอาร์ฮีปอฟเกลี้ยกล่อมให้ซาวิตสกีนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อรอรับคำสั่งจากมอสโกได้สำเร็จ ก่อนจะเดินทางกลับสหภาพโซเวียต[3]
เมื่อกลับถึงสหภาพโซเวียต ผู้บังคับการต้องรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจอมพลอันเดรย์ เกรชโค ผู้ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโซเวียต เกรชโคโกรธจัดที่ลูกเรือล้มเหลวในการทำภารกิจลับนี้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งรายงานว่าเกรชโคนั้น "ปาแว่นตาของตนลงบนโต๊ะอย่างเดือดดาลจนแว่นแตกละเอียด แล้วเดินออกจากห้องไปในทันที"[9]
โรเบิร์ต แม็กนามารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบากล่าวในค.ศ. 2002 ว่า "เราเฉียดเข้าใกล้" สงครามนิวเคลียร์ "มากกว่าที่เรารู้ในตอนนั้น"[10] ด้านอาร์เธอร์ เอ็ม. เชลซินเจอร์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีและนักประวัติศาสตร์กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในสงครามเย็น แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษย์"[11]
บั้นปลายและชีวิตส่วนตัว
แก้หลังเหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา อาร์ฮีปอฟยังคงปฏิบัติงานในกองทัพเรือโซเวียต เขาได้รับยศพลเรือตรีในค.ศ. 1975 และพลเรือโทในค.ศ. 1981 ก่อนจะเกษียณช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 ภายหลังอาร์ฮีปอฟย้ายไปอยู่ที่เมืองคูปาฟนาจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไตในค.ศ. 1998 ซึ่งอาจมีส่วนมาจากรังสีที่เขาได้รับในค.ศ. 1961[12]
ด้านชีวิตส่วนตัว อาร์ฮีปอฟแต่งงานกับโอลกา อาร์ฮีโปวา ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คนชื่อ เยเลนา
ดูเพิ่ม
แก้- สตานิสลาฟ เปตรอฟ นาวาอากาศโทประจำสถานีเตือนภัยขีปนาวุธโซเวียต ผู้ยับยั้งสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในค.ศ. 1983
อ้างอิง
แก้- ↑ Noam Chomsky, in his book Hegemony or Survival: America's Quest for Global Dominance[1] cited we were "one word away from nuclear war" and "a devastating response would be a near certainty", and also noted that President Dwight Eisenhower stated "a major war would destroy the northern hemisphere"(Chomsky, pp. 74)
- ↑ Lloyd, Marion (13 October 2002). "Soviets Close to Using A-Bomb in 1962 Crisis, Forum is Told". The Boston Globe. pp. A20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 July 2021. สืบค้นเมื่อ 7 August 2012.
- ↑ 3.0 3.1 Roberts, Priscilla Mary (2012). https://books.google.com/books?id=P-VNltHyq0sC&pg=PA13. Cuban Missile Crisis: The Essential Reference Guide. Abc-Clio Inc. pp. 13–14. ISBN 9781610690652.
{{cite book}}
:|chapter-url=
missing title (help) - ↑ Bivens, Matt (January 3, 1994). "Horror of Soviet Nuclear Sub's '61 Tragedy Told". The Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ March 8, 2022.
- ↑ Michael Dobbs, One Minute to Midnight, Vintage, Random House, 2009. Includes photograph of B-59 surfacing.
- ↑ "Chronology of Submarine Contact During the Cuban Missile Crisis". National Security Archive of the George Washington University. สืบค้นเมื่อ 15 November 2010.
- ↑ Wilson, Edward (27 October 2012). "Thank you Vasili Arkhipov, the man who stopped nuclear war". The Guardian. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2021. สืบค้นเมื่อ 31 October 2012.
- ↑ Chomsky, Noam (2004). Hegemony or Survival: America's Quest for Global Dominance. New York: Henry Holt. p. 74. ISBN 0-8050-7688-3.
- ↑ Savranskaya, Svetlana (24 January 2007). "New Sources on the Role of Soviet Submarines in the Cuban Missile Crisis" (PDF). Journal of Strategic Studies. 28 (2): 248. doi:10.1080/01402390500088312. S2CID 154967351. สืบค้นเมื่อ 21 February 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Leonard, Mark; Blackhurst, Rob (19 May 2002). "'I don't think anybody thought much about whether Agent Orange was against the rules of war'". The Observer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 June 2012.
- ↑ Lloyd, Marion (13 October 2002). "Soviets Close to Using A-Bomb in 1962 Crisis, Forum is Told". The Boston Globe. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 July 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2017.
- ↑ Krulwich, Robert (March 25, 2016). "You (and Almost Everyone You Know) Owe Your Life to This Man". The National Geographic. สืบค้นเมื่อ March 8, 2022.