วัดสุทธาโภชน์
วัดสุทธาโภชน์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในแขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
วัดสุทธาโภชน์ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดสุทธาโภชน์, วัดสุทธาวาส |
ที่ตั้ง | เลขที่ 39 ซอยฉลองกรุง 8 ถนนฉลองกรุง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
เจ้าอาวาส | พระครูวิมลสุทธาภิวัฒน์ (สมจิตร์ ฐานวุฑโฒ) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดสุทธาโภชน์เดิมมีชื่อว่า วัดสุทธาวาส สร้างโดยเจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4 ในที่ดินของท่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 เมื่อเจ้าจอมมารดากลิ่นได้ถวายบังคมลาออกจากพระบรมมหาราชวังมาอยู่กับพระโอรสภายนอก ท่านก็ชอบเดินทางไปตามหัวเมืองเพื่อพักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์อยู่เนือง ๆ รวมถึงย่านลาดกระบังนี้ด้วย ท่านได้มาทำบุญไหว้พระที่วัดสุทธาวาสอยู่บ่อยครั้ง แต่ในหน้าแล้งน้ำในคลองแห้งจนไม่สามารถพายเรือเข้ามาที่วัดได้ ท่านจึงมีดำริให้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ในที่ดินของท่าน[1] โดยในปี พ.ศ. 2455 เจ้าจอมมารดากลิ่นพร้อมด้วยพระมหาอ่อน มหากัณยาโณ และมรรคนายกอ๊อต ไชยนุต ได้ดำเนินการย้ายวัดมาตั้งอยู่บริเวณปากคลองมอญฝั่งเหนือ ริมคลองลำปลาทิวฝั่งตะวันออก และเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดสุทธาโภชน์"
วัดสุทธาโภชน์เป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชนมอญลาดกระบัง เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชน ประกอบด้วยอนุสรณ์สถานเจ้าจอมมารดากลิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง พิพิธภัณฑ์เรือท้องถิ่น ภายในวัดยังมีเรือนไม้สักทองอายุกว่า 100 ปี และสวนปลาธรรมชาติ[2]
งานประเพณี
แก้วัดยังมีประเพณีที่สำคัญทางวัดจะนำเรือออกมาใช้เป็นประจำทุกปีหลังวันออกพรรษา ในงานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกหลังวันออกพรรษาของทุกปี ถือเป็นวัฒนธรรมของชาวมอญที่สืบทอดกันมายาวนาน กิจกรรมประกอบด้วยพิธีตักบาตรพระสงฆ์มารับบิณฑบาตทางเรือ ลักษณะเป็นการตักบาตรคล้ายกับการตักบาตรเทโว แต่ใช้เรือมาดเป็นพาหนะมารับบิณฑบาต ซึ่งเป็นเรือที่เก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี โดยประชาชนจะนั่งคอยใส่บาตรพระเรียงรายอยู่ริมตลิ่งตามแนวคลองลำปลาทิว พิธีถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ ด้วยชุดสำรับคาวหวานและการแข่งขันเรือภายในท้องถิ่น[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ หนุ่มลูกทุ่ง (6 ตุลาคม 2552). "สัมผัสเสน่ห์มอญลาดกระบัง ตักบาตรพระร้อย วัดสุทธาโภชน์". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "ประวัติวัดสุทธาโภชน์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-14. สืบค้นเมื่อ 2021-01-14.
- ↑ "สืบสานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือที่วัดสุทธาโภชน์". ไทยโพสต์. 13 กันยายน 2563.