วัดศาลาแดง (กรุงเทพมหานคร)
วัดศาลาแดง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร
วัดศาลาแดง | |
---|---|
ที่ตั้ง | แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ (ประจวบ อาทโร ,ดร.) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดศาลาแดงเป็นวัดโบราณ ที่เดิมเป็นป่า การคมนาคมไม่สะดวก ต้องอาศัยการเดินทางด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงแรกก่อนตั้งวัด การเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ มีศาลาพักร้อนหลังหนึ่งมุงด้วยกระเบื้องมอญสีแดง เมื่อมีการสร้างวัดจึงถือเอาลักษณะของศาลาพักร้อน ที่มีหลังคาเป็นสีแดง เรียกว่า "วัดศาลาแดง" เดิมวัดมีเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา โดยได้รับการถวายที่ดินจาก นายยิ่ง นางเหม รอดทอง ซึ่งเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน ในขณะนั้นได้ทำการถวายให้เป็นที่ก่อตั้งวัดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2419 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2454
ปัจจุบันมีการซื้อที่ดินบริเวณโดยรอบเพิ่มเติม ตั้งแต่ในสมัยพระครูวิหารกิจจารักษ์ (ผล เกสโร) พ.ศ. 2514 ซื้อทางทิศเหนือของวัดจำนวน 1 ไร่ ให้ขยายเป็นที่ตั้งอาคารเรียน ชั้นประถมปีที่ 5 ถึง 7 ของโรงเรียนวัดศาลาแดง ต่อมาปี พ.ศ. 2522 ได้ย้ายโรงเรียนมาอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัด โดยได้ซื้อที่ดินของ นายจันทร์ นางทองรัก พลอยแก้ว จำนวนประมาณ 3 ไร่ มอบให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนวัดศาลาแดง ในภายหลัง สมัยพระครูสุนทรพัฒนโกศล เป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ได้ซื้อที่ดินรอบบริเวณวัดเพิ่มขึ้นโดยลำดับ จนมีเนื้อที่รวมได้ 13 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา[1]
อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
แก้อุโบสถกว้าง 8 เมตร ยาว 21 เมตร หลังคา 2 ชั้น แบบโบราณ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในประดิษฐานพระประธานนามว่า หลวงพ่อใหญ่ หล่อเมื่อ พ.ศ. 2458 กุฏิสงฆ์แบบแถวเดียวจำนวน 30 ห้อง ยังมีทรงไทยเป็นหลัง ๆ จำนวน 4 หลัง หอสวดมนต์ 2 ชั้น ศาลาการเปรียญมีช่อฟ้าใบระกา สร้างติดต่อกัน 3 หลังโปร่ง[2] ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปปางลีลาหน้าศาลาการเปรียญ พระพุทธชินราชจำลอง พระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธเจ้า 5 องค์ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2503 และพระบรมสารีริกธาตุบรรจุเมื่อ พ.ศ. 2530 ปูชนียวัตถุอื่น ๆ ได้แก่ รูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จังหวัดภูเก็ต รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) และรูปเหมือนหลวงพ่อผล เกสโร (อดีตเจ้าอาวาส)
กิจกรรมประเพณี
แก้ทางวัดมีงานสักการะบูชาปิดทองหลวงพ่อใหญ่เป็นประจำทุกปี ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 ถึง ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3
อ้างอิง
แก้- ↑ "แหล่งการเรียนรู้ของภายในเขตบางแค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-28. สืบค้นเมื่อ 2021-02-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ สมคิด ทองสิมา, บุญมา ศรีสุรเมธี (2526). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. p. 288–289.