วัดรวก (จังหวัดสมุทรปราการ)

วัดในจังหวัดสมุทรปราการ

วัดรวก เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ วัดรวกมีชื่อเสียงด้านวัตถุมงคลอย่างพระปิดตาและเหรียญหลวงพ่อสาย

วัดรวก
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 19 หมู่ที่ 12 ถนนพระราชวีริยาภรณ์ ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 คาดว่าที่ตั้งเดิมเป็นปาไม้รวก จึงได้ใช้ชื่อนี้ วัดรวกได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2320 ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2320[1] แต่เดิมบริเวณนี้ก็น่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ จนชาวมอญอพยพมาอาศัยอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์ ได้ทำนุบำรุงรวมถึงสร้างเสาหงส์ขึ้นเป็นสัญลักษณ์ด้วย วัดรวกมีชื่อเสียงด้านวัตถุมงคล มีพระปิดตาและเหรียญหลวงพ่อสาย นอกจากนั้นมีการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับกระดูกด้วยยาหม้อและต่อกระดูก

ในยุคหลวงพ่อสายเป็นเจ้าอาวาส มีการปฏิสังขรณ์ของเก่าที่ชำรุดให้สมบูรณ์ และสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนประชาบาล และได้อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ชาวบ้าน รวมถึงท่านยังช่วยรักษาชาวบ้านด้วยแพทย์แผนโบราณ[2]

อาคารเสนาสนะ แก้

ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะ ได้แก่ พระอุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2502 กุฎีสงฆ์ จำนวน4 หลัง เป็นอาคารไม้และครึ่งตึกครึ่งไม้ หอสวดมนต์ เป็นอาคารไม้ ศาลาการเปรียญคอนกรีต 2 ชั้น พระประธานในอุโบสถและพระประจำทิศในอุโบสถ สร้างด้วยศิลาแลงบุทองเป็นพระพุทธรูปของเก่า[3]

พระปิดตา แก้

พระปิดตาวัดรวกเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยเจ้าอาวาสองค์แรก คือ พระครูดำ ท่านเป็นสหธรรมมิกกับท่านสมภารบัว วัดบางหัวเสือ ท่านนิมนต์หลวงปู่บัวให้มาช่วยสร้างเสนาสนะ หลวงปู่บัวท่านจึงเดินทางมาจำพรรษาที่วัดรวกช่วงเวลาหนึ่ง ราวปี พ.ศ. 2390 ท่านได้เทหล่อพระปิดตาพิมพ์นั่งยองขึ้นมา เป็นพระเนื้อตะกั่วผสมปรอทแบบพระปิดตามหาอุด แล้วได้แจกจ่ายชาวบ้าน ส่วนหนึ่งได้นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ของวัดรวก จนในช่วงสงครามอินโดจีน ราวปี พ.ศ. 2484–2485 เจดีย์เกิดพังทลายทำให้พระเครื่องที่บรรจุไว้ภายในจึงแตกออกมา เจ้าอาวาสในขณะนั้นคือ หลวงพ่อสาย ได้รวบรวมและแจกจ่ายแก่ทหารและตำรวจที่ไปสู้รบ ปรากฏผู้ได้รับเกิดแคล้วคลาดปลอดภัยกันทุกคน จึงเป็นที่เลื่องลือ

มีการสร้างพระปิดตามากกว่า 40–50 พิมพ์ แต่ละพิมพ์สร้างเพียงหลักสิบ พิมพ์ออกแบบสองแบบคือ พิมพ์นั่งยองและพิมพ์กระปุกตังฉ่าย โดยรวมเรียกว่า พระปิดตานั่งยองหลวงปู่บัววัดรวก มีการสร้างจนถึงปัจจุบัน มีพุทธคุณ ด้านคงกะพันชัดเจน และแคล้วคลาด มีประสบการณ์มากมายมาช้านาน[4]

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติวัด". หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ.
  2. "วัดรวก (ตำนานพระปิดตา) ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง สมุทรปราการ". ทัวร์วัดไทย.
  3. "วัดรวก". ห้องสมุดประชาชนอำเภอป่าติ้ว.
  4. "พระปิดตาเนื้อตะกั่ว พิมพ์นั่งยอง หลวงปู่บัว วัดรวก #2". นิตยสารพระท่าพระจันทร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-08-19.