วัดพระแก้ว (จังหวัดชัยนาท)
วัดพระแก้ว เป็นวัดที่เก่าแก่ เดิมเรียกว่าวัดแก้วหรือวัดพบแก้ว ตั้งอยู่ที่ บ้านบางน้ำพระ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ทางด้านทิศใต้ นอกกำแพงเมืองโบราณสรรค์บุรี ห่างจากวัดมหาธาตุประมาณ 3 กิโลเมตร เดิมมีทางน้ำเชื่อมไปทางเมืองโบราณดงคอนที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด แต่ปัจจุบันบริเวณนั้นเป็นทุ่งนาไปแล้ว เป็นวัดเก่าแก่รุ่นเดียวกับวัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี
วัดพระแก้ว | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดแห่งนี้ไม่มีประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี สามารถระบุได้ว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น น.ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่าเดิมเรียกว่า วัดป่าแก้ว อันเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระฝ่ายอรัญวาสี หรือวิปัสสนาธุระ ซึ่งเป็นคณะพระสงฆ์โบราณคณะหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในป่าห่างไกลจากเมือง ต่อมามีคนพบพระพุทธรูปองค์เล็กเท่าปลายนิ้วมือจากในเจดีย์ เป็นพระที่ทำด้วยแก้วมีหลากสีส่องประกายสายงามเมื่อต้องแสงไฟ จึงเรียกติดปากกันมาว่าวัดพบแก้ว หรือวัดพระแก้วตั้งแต่ตอนนั้น
ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้มีสภาพเป็นวัดร้าง เต็มไปด้วยป่าไผ่ จนเมื่อ ตาเปรื่อง ตาแหยม ตาโป๋ ได้ชักชวนชาวบ้าน มาช่วยกันถากถางป่า แล้วสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ประมาณปี พ.ศ. 2450 จากนั้นได้อาราธนาหลวงพ่อสอนให้มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดตั้งแต่เริ่มปฏิสังขรณ์ใหม่ [1]
ภายในวัดมี "ราชินีแห่งเจดีย์ในเอเชียอาคเนย์" ซึ่งเป็นเจดีย์แบบละโว้ทรงสูงผสมกับศิลปะทวารวดีตอนปลาย ฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้เป็นศิลปะสุโขทัยและศรีวิชัยผสมกัน บริเวณหน้าเจดีย์มีวิหารหลวงพ่อฉาย ซึ่งที่ด้านหลังของพระพุทธรูปมีทับหลังแกะสลักติดอยู่ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะขนย้ายมาจากปราสาทแห่งหนึ่งในบริเวณนี้ วัดนี้จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นวัดสำคัญของจังหวัดชัยนาท
โบราณสถาน
แก้เจดีย์ประธาน
แก้เจดีย์ประธาน ที่วัดพระแก้วมีรูปแบบเดียวกันกับเจดีย์บางองค์ในเมืองสุพรรณบุรี เช่นเจดีย์วัดพระรูป แสดงถึงการเกี่ยวข้องระหว่างสองเมืองอย่างใกล้ชิด เจดีย์ในกลุ่มนี้คงไม่มีเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งที่เป็นต้นแบบให้สร้าง หรือไม่ได้อยู่ในสายวิวัฒนาการของเจดีย์แบบใดแบบหนึ่ง แต่สร้างขึ้นโดยถอดองค์ประกอบเจดีย์จากเจดีย์ต่างๆมาปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์เดียวกัน องค์ประกอบเจดีย์พระพุทธรูปและลวดลายยังแสดงรูปแบบที่สัมพันธ์กับศิลปะในชุมชนต่างๆ ได้แก่ ศิลปะสุโขทัยเช่นซุ้มหน้านาง แต่เด่นชัดที่สุดคือศิลปะหริภุญชัยและศิลปะล้านนา โดยเฉพาะองค์ประกอบเจดีย์เช่นรูปแบบของเรือนธาตุสี่เหลี่ยมและส่วนยอดรวมทั้งพระพุทธรูปภายในจระนำ แต่แสดงรูปแบบที่คลี่คลายมาจากต้นแบบแล้วการกำหนดอายุของเจดีย์วัดพระแก้วสรรคบุรีจึงน่าจะอยู่ในช่วงระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือต้น 20[2]
ลักษณะของเจดีย์ฐานล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นที่ 3 เป็นแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูง มีซุ้มพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน ในซุ้มตรงกลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางถวายเนตร คือพระหัตถ์ซ้อนกันอยู่เหนือพระชงฆ์ ท่าทางประทับยืน ขนาบสองข้างด้วยพระพุทธรูปปางประทานอภัย ลักษณะพระพุทธรูปปูนปั้นจัดเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยเข้าผสมอยู่แล้ว เช่นมีรัศมีเป็นเปลวเพลิง ถัดจากแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูงขึ้นไป เป็นแท่งแปดเหลี่ยม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตรประทับยืนทั้ง 4 ทิศอีก แต่ไม่มีพระพุทธรูปขนาบข้าง คงมีแต่เพียงด้านละองค์ เหนือนั้นขึ้นไปก็เป็นย่อเหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง บางทีอาจจะมีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ตอนบนด้วยก็ได้ แต่ปรักหักพังไปหมดแล้ว ที่ยังคงเหลืออยู่เป็นรูปซุ้มคล้ายหน้าต่างรูปโค้งเกือกม้า หรือ กูฑุในศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ต่อจากนั้นจึงเป็นลาดบัวกลม ก่อนถึงองค์ระฆังทรงกลม ลักษณะองค์ระฆังเป็นแบบที่เรียกกันว่าทรงลังกา เหนือองค์ระฆังตรงส่วนบัลลังก์ เป็นรูปแปดเหลี่ยมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงถึงปล้องไฉนและปลียอด แต่ส่วนบนสุดได้หักหายไปเสียแล้ว
ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล สันนิธฐานว่า “เจดีย์ที่วัดพระแก้วนี้ คงสืบต่อลงมาจากเจดีย์สูงทางด้านทิศตะวันออกนอกเมืองสุโขทัยเก่า เจดีย์สูงมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมลังกา ตั้งอยู่เหนือฐานแปดเหลี่ยม และฐานสี่เหลี่ยมสูง อันอาจจัดอยู่ได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยปลายสุโขทัย เหตุนั้นเจดีย์ที่วัดพระแก้วนี้ จึงอาจจัดอยู่ได้ในตอนต้นสมัยอยุธยา เพราะมีวิวัฒนาการเครื่องตกแต่งมากยิ่งกว่าเจดีย์สูง ในขณะนั้นแม้ว่า ณ. พระนครศรีอยุธยา จะนิยมสร้างพระปรางค์เลียนแบบลพบุรีก็จริง แต่แถบเมืองสรรค์อยู่ใกล้สุโขทัยมากกว่า เหตุนั้นจึงนิยมเลียนแบบสุโขทัยยิ่งกว่าแบบลพบุรี …เช่นเดียวกันกับเจดีย์องค์ใหญ่ในวัดมหาธาตุเมืองสรรค์บุรีที่ปรักหักพังไปแล้วนั้น ก็คงมีรูปร่างเหมืองกับเจดีย์วัดพระแก้วนี่เอง”[3]
วิหารหลวงพ่อฉาย
แก้วิหารหลวงพ่อฉาย เป็นวิหารที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน ภายในมีพระพุทธรูปศิลาประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ศิลปะเป็นตามท้องถิ่นเมืองสรรค์ เรียกว่าหลวงพ่อฉาย ซึ่งตั้งตาม หลวงสรรค์บุรานุรักษณ์(ฉาย อัมพศวตร) ผู้บูรณะวัดในสมัยรัชกาลที่ 5 ศิลาชิ้นหนึ่งที่นำมาใช้เดิมเป็นทับหลังในศิลปะลพบุรี อันอาจเห็นได้ทางด้านหลังขององค์พระ แต่ตั้งเอาหัวกลับลงเสีย ทับหลังชิ้นนี้คงมีอายุราว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่เหนือหน้ากาล ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุลสันนิธฐานว่า “แผ่นทับหลังศิลาดังกล่าวคงจะนำมาจากที่อื่น เพราะในเขตอำเภอสรรค์บุรีนี้ยังไม่ปรากฏว่าได้พบปราสาทในศิลปะลพบุรีเลย “ ทาง ศรีศักร วัลลิโภดม สันนิธฐานว่า “แผ่นศิลาจำหลักแผ่นนี้คงนำมาจากโบราณสถานโคกปราสาท ในเมืองโบราณดงคอน ซึ่งไม่ได้อยู่ไกลไปจากวัดพระแก้วแห่งนี้มากนัก”[4] หรือเป็นไปได้ว่าวัดพระแก้วจะสร้างทับโบราณสถานแบบขอมอยู่[5]
พระอุโบสถหลังเก่า
แก้พระอุโบสถหลังเก่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน ภายในเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรายจำหลักปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 2.13 ม. ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อลอย เป็นพระที่ชาวบ้านได้นำมาจากวัดท้ายย่าน ซึ่งในสมัยนั้นเป็นวัดร้าง การที่พระอุโบสถหลังนี้ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ก็เพราะแต่เดิมมีลำแม่น้ำอยู่ทางด้านนั้น ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินไปหมดแล้ว ใบเสมารอบพระอุโบสถสลักด้วยหินทรายสีแดง ซึ่งอาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันพระอุโบสถหลังนี้หลงเหลือเพียงพื้นและกำแพงบ้างส่วนเท่านั้น ส่วนหลวงพ่อลอย ได้มีการนำไปประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถหลังใหม่แทน[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ พระครูรัตนวิสุทธิธรรม ,”วัดพระแก้ว”,2543.
- ↑ ธนธร กิตติกานต์,”เจดีย์วัดพระแก้ว สรรคบุรี จังหวัดชัยนาท” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ,มหาวิทยาลัยศิลปากร , 2549
- ↑ 3.0 3.1 "ห้องสมุด ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล". www.thapra.lib.su.ac.th.
- ↑ ศรีศักร วัลลิโภดม, “แพรกศรีราชาหรือสรรคบุรี " เมืองโบราณ 1,1 (กันยายน 2517): 45.
- ↑ คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชัยนาท (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2542. พิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542), 84.