วัดป่ายาง (อำเภอบ้านธิ)

วัดในอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

วัดป่ายาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน มีเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 51 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา

วัดป่ายาง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดป่ายาง, วัดสันพระเจ้าแดง
ที่ตั้งตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระกฤษดา สุเมโธ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดป่ายาง เดิมมีชื่อว่า วัดสันพระเจ้าแดง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2405 ตามประวัติวัดแจ้งว่าเดิมเป็นที่วัดร้าง ต่อมามีชาวบ้านมาอาศัยอยู่มากขึ้น จึงร่วมใจกันสร้างวัด โดยในขั้นแรกได้สร้างวิหารก่อน จากนั้นจึงได้มีการอาราธนาพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งทาชาดสีแดงมาเป็นพระประธานในวิหาร จึงให้ชื่อวัดว่า "วัดสันพระเจ้าแดง" ในเวลาต่อมามีชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีกหลายหลังคาเรือน ประกอบกับบริเวณหมู่บ้านมีต้นยางขึ้นหนาแน่น จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจากเดิมมาเป็น "วัดป่ายาง" ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2481 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 50 เมตร ยาว 60 เมตร

วัดเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างในยุคสมัยของพระครูอุดมขันติธรรม (ครูบาขันแก้ว) เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2464–2526) ภายหลังจากสิ้นครูบาขันแก้ว วัดป่ายางได้ตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม จวบจนครูบากฤษดา สุเมโธ เข้ามารักษาการแทนเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. 2539 ท่านจึงเริ่มปรับปรุงและพัฒนาวัดเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้[1]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

อุโบสถหลังปัจจุบัน กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ลักษณะทรงล้านนา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ภายในอุโบสถมีพระประธานศิลปะเชียงแสน พระนามว่า พระเจ้าแดง ขนาดหน้าตักกว้าง 7 ศอก ลงรักปิดทองทั้งองค์ วิหารพระปัจเจกโพธิกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร ลักษณะทรงล้านนา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเทวดาและพระสงฆ์น้อมโมทนาคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้า วิหารพระอุปคุตกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ลักษณะทรงล้านนา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังจำลองสถานที่ใต้ท้องทะเล ซึ่งมีความเชื่อกันว่าสถานที่จำพรรษาของท่านนั้นอยู่ในปราสาทแก้ว กลางมหาสมุทร

เจดีย์พระธาตุโมลีศรีหริภุญชัยกว้างด้านละ 4 ศอก มีความสูง 12 เมตร ด้านบนเจดีย์ในส่วนของระฆังคว่ำบรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกเพิ่มจากเดิมเข้าไปด้วย วิหารพระพุทธไสยาสน์กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร ลักษณะทรงล้านนา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง[2]

อ้างอิง แก้

  1. "ร่วมบุญบูรณะวัดป่ายาง รับวัตถุมงคล ครูบากฤษดา". คมชัดลึก.
  2. "ประวัติวัดป่ายาง (สันพระเจ้าแดง)".[ลิงก์เสีย]