วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ)

วัดในจังหวัดร้อยเอ็ด

วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ) เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

วัดบ้านน้ำคำ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ), วัดสระเกตุ
ที่ตั้งตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ) ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2236 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่ทราบนามผู้สร้างและไม่มีประวัติเป็นที่แน่ชัด มีเรื่องเล่าว่า ชาวข่าละแดเป็นผู้สร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2469[1] เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วิหารและอุโบสถ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เขต 8 อุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2545

อาคารเสนาสนะ แก้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหาร (อาฮาม) และอุโบสถ (สิม) รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นอีสานที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของศิลปะลาวและศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วิหาร (อาฮาม) แต่เดิมเป็นอุโบสถ ต่อมาได้ถอดถอนพัทธสีมาออก แล้วใช้เป็นวิหารโดยชาวบ้านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนตั้งอยู่คู่กันทางทิศเหนือ ขนาดของวิหารกว้าง 8.5 เมตร ยาว 9 เมตร หันหน้าทางทิศตะวันออก เป็นวิหารทึบ ฐานปัทม์ยกสูงแบบที่เรียกว่าฐานแอวขัน มีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้า (ทิศตะวันออก) และบันไดสำหรับพระสงฆ์ทางด้านข้าง (ทิศใต้) ใกล้กับฐานชุกชีมีหน้าต่างบานเล็ก ๆ ที่ผนังด้านข้าง ด้านละ 1 บาน หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ดปัจจุบัน (พ.ศ. 2543) ชำรุดพัง ทางวัดจึงใช้สังกะสีมุงแทน หน้ามุขตกแต่งด้วยลายฮังผึ้ง (รวงผึ้ง) และไม้จำหลักลวดลายพรรณพฤกษา ภาพกลางเป็นภาพมาร (ราหู) อมจันทร์

อุโบสถ (สิม) ตั้งอยู่คู่กับวิหารสร้างขึ้นในภายหลังระหว่างปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5[2] ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 10 เมตร เป็นสิมโปร่ง ฐานปัทม์ยกสูงแบบแอวขัน ด้านหน้าโล่ง ผนังด้านข้างและด้านหลังก่อด้วยอิฐ มีช่องหน้าต่างเล็ก ๆ ที่ผนังด้านข้างด้านละ 2 บ้าน หลังคาเดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ปัจจุบัน (ข้อมูล พ.ศ. 2543) มีสภาพชำรุดเช่นเดียวกับวิหาร ทางวัดจึงใช้สังกะสีมุงคลุมอาคารเอาไว้ หน้ามุขสลักลวดลายเถาไม้ ลายพรรณพฤกษา และมาร (ราหู) อมจันทร์ ส่วนหน้าบันทำเป็นลายตาเวนหรือตะวัน สิมสร้างขึ้นภายหลังระหว่างปลายรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5[3]

วัดมีธาตุเก่า 2 องค์ตั้งอยู่ทางนอกกำแพงรั้ววัดด้านทิศเหนือ และตั้งอยู่ข้างวิหาร อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ ศาลาการเปรียญ กว้าง 13 เมตร ยาว 28 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 กุฏิสงฆ์ 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง อาคารตึก 1 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2555 และศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2542[4]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระขันตรี พ.ศ. 2463–2465
  • พระปราโมทย์ พ.ศ. 2465–2479
  • พระวัน พ.ศ. 2480-2483
  • พระครูสุนทรสารกิจ พ.ศ. 2492–2529
  • พระกลม สุกฺกธมฺโม พ.ศ. 2533–2534
  • พระชัง อายุวฒฺโก พ.ศ. 2536–2543
  • พระครูประทีปพัฒนคุณ พ.ศ. 2543 –

อ้างอิง แก้

  1. "วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ)". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "สิมคู่ วัดสระเกตุ". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-20. สืบค้นเมื่อ 2022-12-20.
  3. กรมศิลปากร. "วัดสระเกตุ" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 20 ธันวาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  4. "วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ)".