วัดทิพพาวาส
วัดทิพพาวาส เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในแขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 20 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับที่ธรณีสงฆ์ ทิศตะวันออกติดต่อกับลำรางข้างวัดทิพพาวาส ทิศใต้ติดต่อกับซอยฉลองกรุง 53 และทิศตะวันตกติดต่อกับคลองลำกอไผ่ วัดยังมีที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง มีเนื้อที่ 36 ไร่ 92 ตารางวา
วัดทิพพาวาส | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดทิพพาวาส, วัดลำกอไผ่, วัดต้นไทร |
ที่ตั้ง | ซอยฉลองกรุง 53 ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
เจ้าอาวาส | พระวชิรวุฒาจารย์ (เคลือบ ธมฺมเตโช) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดทิพพาวาสสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 ไม่มีประวัติเกี่ยวกับผู้สร้างวัด ประชาชนนิยมเรียกชื่อตามภูมิประเทศที่ตั้งวัดว่า วัดลำกอไผ่ เนื่องจากที่คลองลำกอไผ่มีกอไผ่กอหนึ่งมองเห็นได้แต่ไกล และบางคนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดต้นไทร เนื่องจากมีต้นไทรใหญ่อยู่ในบริเวณวัดมองเห็นได้แต่ไกลเช่นกัน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2432[1] ด้านการศึกษา วัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2490 และให้ราชการสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ และได้ให้ที่ดินสร้างสถานีอนามัยอีกประมาณ 1 ไร่
อาคารเสนาสนะสำคัญได้แก่ อุโบสถ กว้าง 9.60 เมตร ยาว 16.50 เมตร ทรงไทยโบราณ เครื่องบนเป็นไม้สักทั้งหมด กุฏิสงฆ์ จำนวน 8 หลัง หอสวดมนต์ และศาลาการเปรียญ[2]
บริเวณรอบวัดมีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าชาวมอญบริเวณวัดทิพพาวาสคงอพยพเข้ามาในสมัยของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ในระยะแรกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่พระประแดง (จังหวัดสมุทรปราการ) จากนั้นส่วนหนึ่งได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ในช่วงวันสงกรานต์ ชุมชนจะจัดให้มีประเพณีสงกรานต์แบบมอญขึ้นที่วัดเป็นประจำทุกปี นอกจากการทำบุญสรงน้ำพระแล้วยังมีการเล่นสะบ้าอีกด้วย[3]
รายนามเจ้าอาวาส
แก้- พระอาจารย์หลุย
- พระอาจารย์อยู่ ติกฺขญาโน
- พระอาจารย์มี
- พระครูจักร ธนปาโล
- พระครูถาวรธรรมวงศ์
- พระวชิรวุฒาจารย์ วิ. (เคลือบ ธมฺมเตโช)
อ้างอิง
แก้- ↑ "วัดทิพพาวาส". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ สมคิด ทองสิมา, บุญมา ศรีสุรเมธี (2526). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. p. 102.
- ↑ "การแสดงสะบ้ารำ วัดทิพพาวาส". โครงการจัดทำแผนที่แหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีชีวิต.