วัดช้างค้ำ (จังหวัดเชียงใหม่)

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดช้างค้ำ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

วัดช้างค้ำ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดช้างค้ำ, วัดการโถม
ที่ตั้งตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดช้างค้ำ หรือ วัดการโถม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามังรายมหาราชยังครองเวียงกุมกามอยู่ ราว พ.ศ. 1831 มีพระเถระชาวลังกาจำนวน 5 รูป ซึ่งนำโดยพระมหากัสสปะ ได้จารึกมาจากกรุงสุโขทัยขึ้นไปจนถึงเวียงกุมกามบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ต้นมะเดื่อใหญ่ เมื่อพระเจ้ามังรายมหาราชทรงทราบ จึงได้เสด็จไปนมัสการพระเถระ แล้วทรงสนทนาธรรมกับพระมหาเถระ พระมหาเถระเจ้าได้ถวายพระธรรมเทศนาเรื่อง ปัฏฐังคุลีชาดก ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อพระหัตถ์พระพุทธรูป พระเจ้ามังรายได้สดับฟังก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมากจึงโปรดให้สร้างพระอารามถวายแก่พระเถระ และยังหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้น 5 องค์ เป็นพระนั่ง 3 องค์และพระยืน 2 องค์ โดยมีองค์หนึ่งสูงใหญ่เท่าพระองค์จริงของพระเจ้ามังรายมหาราช ปัจจุบันเหลือพระพุทธรูปองค์นั่ง 1 องค์ ซึ่งเป็นพระประธาน ส่วนพระพุทธรูปยืน 1 องค์ ปัจจุบันยังประดิษฐานอยู่ในมณฑปวัดพระเจ้ามังราย (วัดกาละคอด หรือ วัดคานคอด)

ต่อมาพระเจ้ามังรายมหาราช ทรงโปรดให้ตั้งชื่อพระวิหารตามชื่อของช่างไม้คนโปรดว่า วิหารกานโถม ซึ่งปัจจุบัน เหลือเพียงซากของวิหารที่หันหน้าลงสู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำปิงสายเก่า และเมื่อ พ.ศ. 1834 พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์ ฐานกว้าง 6 วาสูง 9 วา ทำซุ้งคูหาทั้งสี่ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 2 ชั้น ชั้นล่างไว้พระพุทธรูปนั่ง 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืน 1 องค์[1]

กรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินงานขุดแต่งและบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2527 พบชุมชนโบราณบริเวณนี้ สันนิษฐานว่าอยู่ร่วมสมัยเดียวกับเมืองหริภุญไชย จากหลักฐานพระพิมพ์ ภาชนะดินเผา จารึกอักษรมอญ ฯลฯ วิหารของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการก่อสร้างของวัดอื่น ๆ ในเขตเวียงกุมกาม ที่ส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามคติการก่อสร้างเดิม และวัดที่สร้างให้หันหน้าไปทางทิศเหนือเข้าสู่แม่น้ำปิง ที่เคยไหลผ่านในแนวทิศเหนือตัวเวียง จึงคาดว่าน่าจะเป็นวัดที่สร้างหรือซ่อมบูรณะในระยะหลัง[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "วัดกานโถม วัดเก่าแก่ของเวียงกุมกาม". เชียงใหม่นิวส์.
  2. "วัดช้างค้ำ (วัดกานโถม)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.