วัดฉางข้าวน้อยใต้

วัดในจังหวัดลำพูน

วัดฉางข้าวน้อยใต้ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีเนื้อที่ 4 ไร่ 42 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา[1]

วัดฉางข้าวน้อยใต้
แผนที่
ชื่อสามัญวัดฉางข้าวน้อยใต้, วัดต้นยาง, วัดสันข้าวน้อย
ที่ตั้งตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดฉางข้าวน้อยใต้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดต้นยาง เนื่องจากมีต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นที่บริเวณด้านหลัง (ทิศตะวันตก) ของวัด วัดฉางข้าวน้อยใต้ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2330[2] โดยครูบาคัณธา เรวจฺจ พร้อมด้วยชาวบ้านได้อพยพมาจากสิบสองปันนาได้ช่วยกันสร้างวัด เดิมใช้ชื่อวัดว่า วัดสันข้าวน้อย ตามสภาพพื้นที่ซึ่งมีฉางข้าวสำหรับเก็บผลผลิตจากการทำนา วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2340 วัดฉางข้าวน้อยใต้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกจังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พื้นที่ของวัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน อันเนื่องจากมีถนนพหลโยธินตัดผ่าน พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งเสนาสนะสงฆ์ วิหารทรงโรงเป็นอาคารทึบ ฐานเป็นฐานเขียง[3] ที่ผนังด้านหลังพระประธานมีลายรดน้ำและมีช่องทางเชื่อมเข้าสู่องค์เจดีย์ซึ่งสร้างติดกับวิหาร หอไตรก่อด้วยอิฐถือปูน 2 ชั้น ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของเจดีย์ครูบาคางเป็ด (ครูบาคัณธา เรวจฺจ) และอุโบสถ เจดีย์ครูบาคางเป็ดเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐครูบาคัณธา เป็นเจดีย์ศิลปะแบบไทลื้อที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมแบบพม่า บริเวณรององค์เจดีย์มีประติมากรรมแสดงเรื่องราวจากชาดกเรื่องสิงห์คาบนาง[4]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดฉางข้าวน้อยใต้". เทศบาลตำบลป่าซาง.
  2. "วัดฉางข้าวน้อยใต้". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. พีระนันท์ นันทขว้าง. "การศึกษารูปแบบโบสถ์และวิหารล้านนาในเขตภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาถึงยุคครูบาศรีวิชัย พ.ศ. 2339-2481" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 151.
  4. "วัดฉางข้าวน้อยใต้ (วัดต้นยาง)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.