วัดฉาง

วัดในจังหวัดปทุมธานี

วัดฉาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา

วัดฉาง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อแปดหมื่น
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดฉางสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2360 โดยชาวมอญเมาะตะมะที่อพยพครอบครัวมาอยู่ในตำบลบ้านฉาง จึงได้สร้างวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลตามประเพณีและตั้งชื่อว่า “วัดฉาง” อุโบสถหลังเก่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ปัจจุบันได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘ และมี เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๔๓ เมตร ได้ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘[1]

ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมเก่าอยู่ 2 แห่ง คือ วิหารเก่า เป็นอาคารขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน มีประตูเดียว หน้าต่างด้านละ 2 คู่ ประดับลายรดน้ำ หน้าบันปูนปั้นประดับลวดลายดอกไม้ฝีมืองามมาก เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีงานปูนปั้นอย่างชาวจีนปรากฏอยู่ที่หน้าบันของวิหาร และพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อฉาง"[2] และศาลาท่าน้ำ ลักษณะเป็นอาคารไม้สร้างแบบโปร่ง หลังคาทรงจั่วผสมปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าวหรือซีเมนต์ ตรงส่วนที่เป็นเชิงชายและหน้ากระดานคอสองเป็นไม้ฉลุลายละเอียดประณีตมาก เสาอาคารลบเหลี่ยมสี่มุม ประดับบัวรอบเสาทุกต้น ระเบียงมีราวลูกกรมไม้ระแนงตีตามแนวนอนและแนวตั้ง[3][4] และภายในหอสวดมนต์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิที่สร้างจากสตางค์แดงจำนวน ๘๔,๐๐๐ เหรียญตามพระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฏก บ้างเรียกว่าหลวงพ่อแปดหมื่นหรือหลวงพ่อสตางค์แดง คาดว่าสร้างในปี ๒๔๖๐[5]

- ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

๑. ไม่ทราบนามแต่เรียกท่านว่าหลวงปู่บ้าง หลวงลุงบ้าง[6]

๒. พระอธิการกรุด ตั้งแต่ พ.ศ. - ถึง พ.ศ. -

  ๓. พระอธิการล่าย ตั้งแต่ พ.ศ. - ถึง พ.ศ. -

  ๔. พระครูปทุมเถระสถาน ตั้งแต่ พ.ศ. - ถึง พ.ศ. -

  ๕. พระอธิการพะอ๊อก ผุพฺพรมฺโม ตั้งแต่ พ.ศ.2460 ถึง พ.ศ.2507

  ๖. พระครูทองใบ อหึสโก ตั้งแต่ พ.ศ.2507 ถึง พ.ศ.2530

  ๗. พระครูอนุกูลศาสนการ ตั้งแต่ พ.ศ.2530 ถึง พ.ศ.2541  

  ๘. พระครูวิภัชปทุมกิจ ตั้งแต่ พ.ศ.2541 ถึง พ.ศ.2564

  ๙. พระปลัดอัครเดช ญาณเตโช ตั้งแต่ พ.ศ.2564 ถึง ปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. สมคิด ทองสิมา, บุญมา ศรีสุรเมธี (2526). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. p. 587–588.
  2. "วัดฉาง". ท่องเที่ยววิถีชุมชน สายน้ำเจ้าพระยา.
  3. "วัดฉาง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "วัดฉาง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  5. ข้อมูลจากเจ้าอาวาส
  6. จากบันทึกของหลวงปู่พอ๊อก