วอก
วอก เป็นชื่อปีที่ 9 ของรอบปีนักษัตร มีสัญลักษณ์เป็นลิง พุทธศักราชที่ตรงกับปีวอก เช่น พ.ศ. 2511 พ.ศ. 2523 พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2571 พ.ศ. 2583 และ พ.ศ. 2595 เป็นต้น โดยวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดรอบปีนักษัตรไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับปฏิทินสากล และนับต่างกันระหว่างแบบจีนกับแบบไทย
โดยการใช้สัญลักษณ์ลิงเป็นตัวแทนประจำปีนั้นมีที่มาจากจีน โดยปรากฏมีหลักฐานทางโบราณว่าตั้งแต่ก่อนยุคราชวงศ์ฉิน (221 ปีก่อนค.ศ. – 207 ปีก่อนค.ศ.) ก็ปรากฏมีการใช้สัตว์ประเภทต่าง ๆ แทนปีนักษัตรแล้ว โดยลิงซึ่งเป็นตัวแทนปีวอกนั้น การออกเสียงในภาษาจีน (猴) เป็นคำพ้องเสียงกับการออกเสียงเรียกบรรดาศักดิ์ขั้นหนึ่งของขุนนางจีนในยุคโบราณ ดังนั้นลิงจึงเป็นนัยของการอวยพรถึงการมียศถาบรรดาศักดิ์ในยุคโบราณที่ยังมีการปกครองแบบราชาธิปไตย เทียบความหมายในยุคปัจจุบัน คือ ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน ในภาพจิตรกรรมแบบจีน ลิงจึงมักปรากฏในคติเช่นนี้ เช่น รูปลิงปีนต้นไม้แล้วแขวนตราประจำตำแหน่ง หรือลิงขี่ม้า หมายถึง ขอให้มีความก้าวหน้าในเร็ววัน[1]
ตามความเชื่อในเชิงโหราศาสตร์แบบจีน ผู้ที่เกิดปีวอกจะไม่ถูกกับผู้ที่เกิดปีขาล (เสือ) หากเป็นคู่สามีภรรยาที่ครองคู่ด้วยกันจะทะเลาะกันอย่างรุนแรง หากแต่ปีวอกนั้นจะสมพงษ์กับผู้ที่เกิดปีมะเส็ง (งูเล็ก)[2] และในส่วนคติความเชื่อแบบล้านนา ผู้ที่เกิดปีวอก พระเจดีย์ธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุพนม ณ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ หน้าจุดประกาย 2 วัฒนธรรม, ส่งท้ายปีลิง 'ลิง' ในวัฒนธรรมของชาวจีน โดย ดนุพล ศิริตรานนท์. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 30 ฉบับที่ 10345: วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560
- ↑ "ดูดวงเนื้อคู่ตามปีเกิด 12 นักษัตร ตำราจีน". สนุกดอตคอม. 2014-01-02. สืบค้นเมื่อ 2017-01-18.
- ↑ "ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด เสริมดวงปี 2558". สนุกดอตคอม. 2014-11-02. สืบค้นเมื่อ 2017-01-18.