ระวังสับสนกับ รักเร่ ซึ่งเป็นพืช

ลักเล่ห์สีดำสนิท จัดเป็นลักเล่ห์แบบที่คุ้นเคยที่สุด
ลักเล่ห์หางผีเสื้อ หรีอบัตเตอร์ฟลายเทล

ลักเล่ห์ หรือที่นิยมสะกดว่า รักเล่ห์ (อังกฤษ: Telescope eye, Moor; ญี่ปุ่น: デメキン; โรมะจิ: demekin) เป็นสายพันธุ์ของปลาทองสวยงามสายพันธุ์หนึ่ง

ลักษณะเด่นของลักเล่ห์ คือ ดวงตาที่โปนยื่นออกมาจนดูคล้ายกับกล้องส่องทางไกล หรือกล้องดูดาว สอดคล้องกับชื่อในภาษาอังกฤษ มีต้นกำเนิดที่ประเทศจีนราวศตวรรษที่ 15-16 แต่มีการพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นที่รู้จักในปัจจุบันที่ประเทศญี่ปุ่น

เดิมทีนั้นคำว่าลักเล่ห์ จะใช้เรียกเฉพาะปลาที่มีสีดำสนิทเท่านั้น ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า "Black moor" ส่วนปลาที่มีสีอื่น ๆ จะเรียกว่า "ตาโปนญี่ปุ่น" จะไม่ใช้คำว่าลักเล่ห์ แม้จะมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่างก็ตาม แต่ต่างกันเพียงสีก็ตาม

นอกจากนี้แล้วยังมียังมีปลาตาโปนที่มีสีส้ม, ส้ม-ขาว, ขาวแดง และยังมีตาโปนสามสี ที่มีสีส้ม, ดำ, ฟ้า หรือเท่ารวมกันอยู่บนตัว ต่อมาก็ถูกพัฒนาให้มีครบ 5 สี เรียกว่า "ตาโปนห้าสี" นอกจากนี้ยังมีลักเล่ห์ทับทิมที่มีลำตัวสีเหลืองนวล, ลักเล่ห์แพนด้าที่มีสีสลับดำ-ขาว ดูคล้ายกับหมีแพนด้า, ลักเล่ห์สีนากที่มีลำตัวสีน้ำตาลแกมเขียวหรือชื่อหนึ่ง ก็คือ ลักเล่ห์สีช็อกโกแล็ต หรือ ลักเล่ห์บัตเตอร์ฟลาย ที่มองจากด้านบนแล้วจะเห็นครีบหางที่กางแผ่ออกเหมือนปีกผีเสื้อ

ลักษณะที่ดีของปลาทองลักเล่ห์ คือ ดวงตาทั้งสองข้างต้องโตเท่ากัน แก้วตากลมไม่แบน และอวัยวะส่วนอื่น ๆ อยู่ในสภาพปกติ ครีบต่าง ๆ ต้องไม่พับ หัก หรือโค้งงอ ลักเล่ห์เมื่อยังอายุน้อยอยู่ลูกตาจะไม่โปนออกมา โดยทั่วไปจะให้ปลามีอายุได้สัก 3-6 เดือน ลูกตาจึงค่อย ๆ ยื่นออกมาให้เห็น ลักเล่ห์เป็นปลาทองที่มีครีบหรือกระโดงหลัง แต่โดยรวมเป็นปลาทองที่มีขนาดไม่ใหญ่นนัก โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ราว 3-4 นิ้ว การเลี้ยงที่ดีควรเลี้ยงในน้ำที่มีความลึกประมาณ 40 เซนติเมตร สามารถเลี้ยงในตู้ได้ แต่มุมมองที่สวยที่สุด คือ การมองจากด้านบน หรือท็อปวิว คือการเลี้ยงในอ่างเช่นเดียวกับรันชูหรือสิงห์ญี่ปุ่น

ชื่อ "ลักเล่ห์" ในภาษาไทยนั้น มีที่มาจากร้านค้าที่ชื่อ "เล่ห์ประดิษฐ์" เป็นบริษัทผู้ผลิตไม้แบตมินตัน และจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาย่านสี่พระยา ซึ่งเจ้าของร้านได้เป็นผู้นำเอาปลาทองลักเล่ห์จำนวนมากเข้ามาเลี้ยงเป็นผู้แรกในประเทศไทย จนเป็นที่เผยแพร่และรู้จักกันในหมู่นักเลี้ยงปลาในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีชาวจีนนำเข้ามาแล้วบ้างแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่า แต่เดิมเรียกสั้น ๆ ว่า "เล่ห์" หรือ "ร้านเล่ห์" แล้วเพี้ยนกลายเป็นคำว่า "ลักเล่ห์" เช่นในปัจจุบัน[1]

อ้างอิง แก้

  1. หน้า 34-39, ลักเล่ห์ตาโต๊โต. "ColorFul Cyprinids" โดย Teenueng. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 47 ปีที่ 4: พฤษภาคม 2014

แหล่งข้อมูลอื่น แก้