รหัสยลัทธิ

(เปลี่ยนทางจาก รหัสยิก)

รหัสยลัทธิ[1] หรือลัทธิรหัสยนิยม (อังกฤษ: mysticism) คือลัทธิหรือความเชื่อที่ว่ามีรหัสยภาวะ (mystery) เป็นภาวะความจริงหรือคุณค่าบางอย่างซึ่งบุคคลจะรู้ได้ด้วยการใช้ความสามารถพิเศษเหนือกว่าการรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์ เช่น การเข้าฌาน การเข้าถึงพระเจ้า เป็นต้น ผู้ที่เข้าถึงรหัสยภาวะนี้ได้เรียกว่ารหัสยิก (mystic)

ความเข้าใจในปัจจุบัน

แก้

ความหมายของรหัสยลัทธิในปัจจุบันมาจากลัทธิเพลโตนิยมหรือลัทธินีโอเพลโตนิยมที่ใช้หมายถึงพิธีรับสมาชิกใหม่ของชาวอิลูซิส ซึ่งเป็นพิธีการรับเข้าสู่ความจริงและประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เพื่อแสวงหาการเป็นหนึ่งเดียวกับความตระหนักรู้เรื่องความเป็นจริงอันติมะ เทวสภาพ ความจริงทางจิตวิญญาณ หรือพระเจ้า โดยใช้ประสบการตรง การรู้เอง สัญชาตญาณ หรือดุลยพินิจ โดยปกติรหัสยลัทธิจะเน้นการปฏิบัติที่มุ่งสู่ประสบการณ์เหล่านี้ รหัสยนิยมอาจยึดแนวคิดแบบทวินิยมที่ถือว่าตัวตนกับพระเจ้าแตกต่างกัน หรืออาจเป็นอทวินิยมก็ได้ [2]

ศาสนาใหญ่ ๆ หลายศาสนาในโลกก็เกิดมาจากคำสอนของศาสดาซึ่งเป็นรหัสยิก เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู เล่าจื๊อ พระกฤษณะ เป็นต้น ศาสนาส่วนมากจึงสอนเรื่องประสบการณ์เชิงรหัสยะด้วย โดยอย่างน้อยที่สุดก็สอนจะแก่ศาสนิกเฉพาะในวงจำกัด ไม่เปิดเผยให้รู้โดยทั่วไป คำว่า enlightenment ในภาษาอังกฤษก็หมายปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ ส่วน “การตรัสรู้” ในทางพระพุทธศาสนาก็ใช้หมายถึงปรากฏการณ์การบรรลุในแบบรหัสยะเช่นกัน (แม้จะไม่เน้นใช้ศรัทธาอย่างรหัสยลัทธิอื่น ๆ)[3]

หลาย ๆ ศาสนาในปัจจุบันมีโครงสร้างองค์กรที่เป็นสถาบันมากขึ้น มีการปกครองตามลำดับชั้นบังคับบัญชา และยึดถือคัมภีร์เป็นแหล่งความรู้หลักที่ศาสนิกชนต้องเคารพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทำให้ความรู้เชิงรหัสยะภายในศาสนากลายเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นที่ยอมรับไป[4]

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 68
  2. W.F. Cobb. Mysticism and the Creed. BiblioBazaar, 2009. ISBN 978-1113209375
  3. Evelyn Underhill. Practical Mysticism. Wilder Publications, new edition 2008. ISBN 978-1604595086
  4. David Steindl-Rast. The Mystical Core of Organized Religion. ReVision, Summer 1989. 12 (1):11-14. Council on Spiritual Practices เก็บถาวร 2011-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 29 October 2011