ยางรัก คือน้ำยางที่เก็บได้จากไม้ในสกุล Gluta และ Toxicodendron ซึ่งเป็นสกุลไม้ยืนต้น ในวงศ์มะม่วง (Anacardiaceae) โดยยางที่ได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นสารเคลือบในการผลิตเครื่องลงรัก ใช้ประโยชน์งานวิจิตรศิลป์เป็นตัวยึดติดในการปิดประดับทองคำเปลว เงินเปลว ผงทอง ผงโลหะมีค่าต่าง ๆ เป็นต้น หรือใช้เป็นกาวธรรมชาติในการซ่อมแซมเครื่องใช้เซรามิคที่ชำรุด ซึ่งเป็นเทคนิคของญี่ปุ่นเรียกว่า คินสึกิ (ญี่ปุ่น: 金継ぎโรมาจิkintsugiทับศัพท์: คินสึกิ)[1]

ยางรัก

ชนิดของยางรัก

แก้

ยางรักโดยทั่วไปที่นำมาใช้ในการทำงานรักมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ซึ่งได้มาจากพืชต่างชนิดพรรณกันคือ

ยางรักใหญ่

แก้

ยางรัก ยางรักดำ ยางรักใหญ่ ยางรักพม่า เป็นยางไม้ที่ได้จากต้นรักใหญ่ หรือต้นฮักหลวง (คำเมือง) (Gluta usitata) เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์มะม่วง (Anacardiaceae) สามารถพบได้ในป่าผสมพลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา รวมถึงป่าเขาหินปูน พบที่ความสูง 300-1,000 เมตรจากระดับทะเล พันธุ์นี้กระจายอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียตั้งแต่อินเดียถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบมากในป่าเต็งรังและป่าเต็งรังผสมสน โดยเฉพาะในทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย[2]

ขนาดไม้ที่เริ่มเจาะยางรักได้นั้น วัดโดยรอบลำต้นตั้งแต่ 80 ซม. ขึ้นไป ฤดูเจาะยางรักเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิ้นปี ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไปต้นรักจะเริ่มผลัดใบ เป็นระยะออกดอกออกผล อันเป็นระยะพักของการเจาะยางรัก เนื่องจากเพราะหน้าแล้ง ปริมาณน้ำน้อย จึงทำให้ได้ยางรักน้อย ฤดูพักตั้งแต่ปลายมกราถึงเดือนพฤษภาคม คุณภาพของยางรักขึ้นอยู่กับฤดูที่่เก็บเกี่ยวโดยยางที่เก็บเกี่ยวในฤดูหนาวจะเป็นยางที่คุณภาพดีที่สุด

ยางรักที่ได้จากต้นรักใหญ่มีสารสำคัญคือ thisiol ซึ่งมาจากคำว่า thitsi (သစ်စေ) ซึ่งเป็นคำเรียกยางรักรวมถึงต้นรักชนิดนี้ในภาษาพม่า ยางรักชนิดนี้เมื่อแรกเจาะจะมีสีเทาขุ่น เมื่อถูกอากาศจะกลายเป็นสีดำ มีความเป็นเงา[3]

ยางรักใหญ่แบ่งคุณภาพได้เป็น 3 ชั้น ซึ่งเป็นวิธีการจัดคุณภาพยางรักแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเป็นการแบ่งตามช่วงระยะเวลาที่เก็บเกี่ยว

  • ฮักนาย - เป็นยางรักชั้นหนึ่งที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม มีลักษณะข้นเหนียว สะอาดกว่ายางรักที่เก็บได้ในฤดูอื่น จึงจัดเป็นยางรักที่มีคุณภาพดีมาก
  • ฮักแซว - เป็นยางรักชั้นสองที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม น้ำยางมีปริมาณมาก มีลักษณะใสกว่าเพราะมักมีการปนเปื้อนกับน้ำฝน และมีเศษผงเศษฝุ่นจากเปลือกไม้ปะปนลงในยางรักด้วย
  • ฮักเฮื้อ - เป็นยางรักชั้น 3 ที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในฤดูปลายหนาวต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นหน้าแล้ง กรีดน้ำยางได้น้อย น้ำยางไหลช้า มักแห้งกรังติดรอบเจาะ จึงต้องขูดออก การขูดมักทำให้ผิวไม้และเปลือกไม้หลุดปนออกมากับยางด้วย ทำให้สกปรกมาก[3]

ยางรักจีน

แก้

ยางรักจีน หรือ ยางรักญี่ปุ่น เป็นยางไม้ที่ได้จากต้นรักจีน (Toxicodendron vernicifluum) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และอนุทวีปอินเดีย ปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี[4] ลำต้นสูงได้ 20 เมตร มีใบขนาดใหญ่ แต่ละใบมีใบย่อยตั้งแต่ 7 ถึง 19 ใบ (ส่วนใหญ่มักจะเป็น 11–13 ใบ) ในญี่ปุ่นมีการปลูกมากทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือกับทางเหนือและใต้ของประเทศญี่ปุ่น ในแง่คุณสมบัติแล้วยางรักจีนหรือยางรักญี่ปุ่นมีคุณภาพบริสุทธิ์เหนือกว่ายางรักชนิดอื่น ๆ[3]

ยางรักที่ได้จากต้นรักจีนมีสารสำคัญคือ urushiol ซึ่งมาจากคำว่า อุรุชิ (ญี่ปุ่น: โรมาจิurushiทับศัพท์: อุรุชิ) ซึ่งเป็นคำเรียกยางรักจีนและต้นรักจีนในภาษาญี่ปุ่น

ยางรักจีนหรือยางรักญี่ปุ่นแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะซึ่งแยกตามลักษณะการใช้งานคือ

  • ยางรักดิบ - คือยางรักที่ได้จากการเก็บเกี่ยวผ่านขึ้นตอนการทำให้สะอาดปราศจากเศษฝุ่นผงอย่างเดียว ลักษณะน้ำยางเป็นสีน้ำตาลขุ่นคล้ายสีชานม
  • ยางรักใส - คือยางรักที่ได้จากการนำยางรักดิบไปผ่านกระบวนการไล่ความชื้นออกจากน้ำยาง ส่งผลให้ลักษณะน้ำยางมีความใสโปร่งแสงขึ้นเป็นสีน้ำตาลอมแดง แบ่งย่อยเป็น 2 ประเภทคือ
    • ยางรักใสผสมน้ำมัน - ผสมน้ำมันแห้ง (Drying oil) ลงในเนื้อยางรักเพื่อให้ยางรักเป็นเงามันมากขึ้นเมื่อแข็งตัว
    • ยางรักใสไม่ผสมน้ำมัน
  • ยางรักดำ - คือยางรักดิบที่ผ่านกระบวนการไล่ความชื้นเช่นเดียวกับยางรักใส แต่ในระหว่างขั้นตอนมีการเติมสารประกอบธาตุเหล็กเช่น เฟอร์รัส ซัลไฟด์ (ferrous sulfide)[5] หรือ ไอรอน ไฮดรอกไซด์ (iron hydroxide)[6]ลงไปทำให้น้ำยางรักที่ได้เป็นสีดำ[7]
  • ยางรักสี - เกิดจากนำยางรักใสมาผสมกับรงควัตถุต่าง ๆ ให้เกิดเป็นยางรักสีขึ้นเช่น ยางรักสีแดง เกิดจากการนำผงชาดแดงมาผสมกับยางรักใสเป็นต้น[8]

ยางรักเวียดนาม

แก้

ยางรักเวียดนาม เป็นยางไม้ที่ได้จากต้นรักเวียดนาม หรือ แกนมอ (Toxicodendron succedaneum) อยู่ในสกุลเดียวกันกับรักญี่ปุ่น ต้นรักอายุ 5-6 ปีจะมีความสูงประมาณ 5 เมตร การเก็บยางรักในประเทศเวียดนาม เริ่มทำได้ตั้งแต่รักอายุประมาณ 2 ปี 4 เดือน จนกระทั่งต้นรักอายุได้ 6-7 ปี การเก็บยางรักทำได้ตลอดปี ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง แต่การกรีดยางมักไม่นิยมทำกันในฤดูฝน

ยางรักที่ได้จากต้นรักเวียดนามมีสารสำคัญคือ laccol อยู่ในจำพวกเดียวกับ urushiol ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของรักญี่ปุ่น แต่เมื่อเทียบกันแล้วคุณภาพต่ำกว่ารักญี่ปุ่นเล็กน้อย รักที่เก็บได้มักมีเปลือกไม้และของอื่นเจือปนอยู่ด้วย[3]

ขั้นตอนการผลิต

แก้

เก็บเกี่ยว

แก้

การเก็บเกี่ยวยางรักทำได้โดยวิธีกรีดเจาะยางรักจากต้นรัก โดยมีวิธีกรีด 4 วิธีคือ

1. การกรีดแบบท้องถิ่น

แก้

การกรีดแบบท้องถิ่น (ภาคเหนือ) เป็นวิธีที่นิยมใช้กันเป็นประจำในการเก็บเกี่ยวยางรักในภาคเหนือของไทย วิธีการคือเปิดปากแผลเป็นรูปตัววี (V) โดยแซะเปลือกให้เป็นร่องจนถึงกระพี้ ใช้กระบอกไม้ไผ่ตอกตอดกับต้องรักรองรับน้ำยางตรงจุดปลายแหลมของแผลรูปตัววี ให้น้ำยางไหลลงกระบอก ท้งไว้ 10 วัน จึงกลับมาเก็บน้ำยางรัก เมื่อเก็บแล้วทำการเปิดแผลให้กว้างขึ้นทางสูง ทิ้งไว้ 10 วันจึงกลับมาเก็บยางรัก แล้วเปิดปากแปลให้กว้างขึ้นไปข้างบนอี ทิ้งไว้อีก 10 วันจึงไปเก็บยางรัก ถ้าเห็นว่าต้นรักยังคงให้น้ำยางดีอยู่ให้เปิดแผลให้กว้างเต็มเนื้อที่ภายในรูปตัววี ทิ้งไว้ 10 วันจึงไปเก็บยางรักครั้งสุดท้าย รวมเวลาทั้งหมด 40 วัน

2. การกรีดแบบญี่ปุ่น

แก้

เตรียมแผลโดยการค่อย ๆ เปิดเปลือกเพียงผิวไม่ให้ลึกเพื่อให้น้ำยางรักมาคั่งอยู่บริเวณรอบ ๆ แปล แต่ละแผลห่างกันประมาณ 4-5 ซม ให้เป็นระเบียบแล้วเปิดแผลรูปขีดขวางกับลำต้นยาวประมาณ 5-8 ซม กรีดซ้ำอีกครั้งแล้วทิ้งไว้ 4-5 วันจึงกลับมาใช้พายขูดน้ำยางที่ค้างอยู่ที่แผลที่เจาะไว้ นำไปใส่ภาชนะ พร้อมกับกรีดแผลใหม่เหนือแผลเดิมประมาณ 1-2 ซม แล้วเก็บน้ำยางรักพร้อมกับกรีดแผลใหม่แล้วทิ้งไว้ 4-5 วันทำเช่นนี้เรื่อยไปจนครบ 3 แผล รวมระยะเวลาการเจาะยางรักแบบญี่ปุ่นทั้งหมด 12 - 15 วัน การเจาะยางรักทำตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงปลายเดือนตุลาคม

3. การกรีดแบบเวียดนาม

แก้

เตรียมแผลปบบเดียวกับวิธีเจาะยางรักแบบญี่ปุ่น เพื่อให้ยางรักมาคั่งบริเวณแผลก่อน แล้วใช้เครื่องมือกรีดเป็นรูปตัววี รองรับน้อยยางด้วยกระบอกไม้ไผ่ทิ้งไว้ 5 วัน จึงกลับมาเก็บยางรักพร้อมกับเปิดแผลใหม่ให้เป็นรูปตัววี สูงขึ้นไปอีก 3 ซม. ทำเรื่อยไปจนครบ 3 แผล รวมระยะเวลาเจาะยางรักแบบเวียดนามทั้งหมด 15 วัน

4. การกรีดแบบผสม

แก้

เตรียมแผลโดยแซะผิวให้เป็นรูปขีดขวางลำต้นลึกถึงกระพี้ เพื่อให้น้ำยางมาคั่งอยู่รอบ ๆ บริเวณแผลแล้วเปิดเปลือกเป็นรูปตัววี เหนือรอยขีดขวาง ใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับ 5 วันจึงไปเก็บยางรัก พร้อมทั้งกรีดแผลเป็นรูปตัววใหม่เหนือแผลเดิมขึ้นไปประมาณ 3-4 ซม. หลังจากนั้น 5 วันก็ไปเก็ยน้ำยางรักพร้อมทั้งเจาะแผลรูปตัววีใหม่ แต่ต้องกรีดตรงกลางที่ระยะระหว่างปลายแปลมของรูปตัววีให้ติดต่อกันเพื่อเป็นทางไหลของน้ำรัก รวมเวลาทำการเจาะเก็บยางรักแบบผสมทั้งหมด 15 วัน[3]

การปรับปรุงคุณภาพ

แก้

ในแต่ละวัฒนธรรมการใช้ยางรักก็มีวิธีการปรับปรุงคุณภาพยางรักก่อนนำไปใช้งานที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ก็มีวิธีการหลัก ๆ ร่วมกันอยู่ 2 วิธีการคือ การทำให้ตกตะกอนและการกรองแยกสิ่งสกปรก

การทำให้ตกตะกอน

แก้
  • ในวิถีท้องถิ่นไทยในการปรับปรุงคุณภาพยางรักด้วยการตกตะกอนนั้นจะทำกับน้ำยางชั้นสองและชั้นสามคือ ฮักแซว และ ฮักเฮื้อ โดยในส่วนยางรักชั้นสอง (ฮักแซว) ซึ่งมีน้ำฝนเจือปนอยู่มากเมื่อเก็บมาแล้วจะเทรวมกันแล้วใช้ไม้คน น้ำฝนที่ผสมมากับยางรักก็จะแยกตัวลงไปข้างล่าง และนำพาเอาของสกปรกต่าง ๆ ติดลงไปด้วย เพราะยางรักมีน้ำมันอยู่มากจึงลอยอยู่เหนือน้ำ ในส่วนของยางรักชั้นสาม (ฮักเฮื้อ) จะใช้วิธีเติมน้ำเข้าไปแล้วใช้ไม้คนให้น้ำพาเอาฝุ่นละอองต่าง ๆ ตกตะกอนลงไปอยู่ในน้ำ[9]
  • ในส่วนของรักจีนหรือรักญี่ปุ่นมีวิธีการทำให้ตกตะกอนต่างออกไป โดยกรรมวิธีของการรักญี่ปุ่นจะนำยางรักที่เพิ่งได้มาจากการเก็บเกี่ยวผสมกับใยฝ้ายแล้วนำไปเข้าเครื่องเหวี่ยงตกตะกอน (Centrifuge)

การกรองแยกสิ่งสกปรก

แก้

การกรองเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพยางรัก โดยการกรองเอาเศษสิ่งสกปรกต่างที่เจือปนในยางรักออกโดยใช้ตะแกรงหรือผ้าในการกรอง ในการทำยางรักใหญ่นั้นชาวบ้านจะนำยางรักมากรองโดยการไล่ระดับเป็นชั้น ๆ เริ่มจากหยาบไปจนถึงละเอียด โดยการใช่ตาข่ายไนลอนและผ้าตาถี่เพื่อให้ได้น้ำยางรักที่สะอาดที่สุดในขั้นตอนสุดท้าย[10] ซึ่งยางรักที่ได้จากการกรองในชั้นนี้ใช้สำหรับทารองพื้น หลังจากนั้นจึงนำยางรักที่กรองในชั้นนี้ไปกรองต่อด้วยกระดาษสาอีกประมาณ 3 ครั้งเพื่อที่จะได้ยางรักที่ใช้สำหรับลงเงาขั้นสุดท้าย[11] ส่วนการกรองของยางรักจีนหรือรักญี่ปุ่นนั้นจะกรองโดยเยื่อกระดาษกรองเฉพาะที่มีความละเอียดสูง ทำให้น้ำยางรักที่ได้ในขั้นตอนสุดท้ายนั้นมีความสะอาดมากที่สุดก่อนนำไปใช้ โดยจะทำการกรองใหม่ทุกครั้งก่อนใช้

เทคนิคเฉพาะการทำยางรักญี่ปุ่น

แก้

การทำยางรักใสและยางรักดำด้วยเทคนิคเฉพาะของญี่ปุ่นประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอนหลักคือ

  • นายาชิ(なやし)- คือขั้นตอนการคนหรือกวนยางรักดิบ เพื่อให้น้ำยางรักเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งความเร็วและระยะเวลาในการกวนส่งผลต่อความเงาและการแห้งของยางรัก สามารถปรับตามความต้องการได้
  • คูโรเมะ(くろめ)- คือขั้นตอนการไล่ความชื้นออกจากน้ำยางโดยการใช้ความร้อน ซึ่งระยะเวลาที่ให้ความร้อนส่งผลต่อความข้นและการแห้งของยางรัก[12] ซึ่งสามารถปรับตามความต้องการได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธีย่อยคือ
    • เท็มบิงูโรเมะ(天日ぐろめ)- เป็นขั้นตอนการกวนความชื้นกลางแสงแดด โดยการนำยางรักใส่ถาดกลมขนาดใหญ่ตั้งกลางแสงแดดแล้วใช้ไม้พายคนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ระดับที่ต้องการซึ่งใช้ระยะเวลานาน[13]
    • คิไกงูโรเมะ (機会ぐろめ)- เป็นขั้นตอนการไล่ความชื้นด้วยเครื่องจักรทันสมัย โดยมีเป็นถังกวนที่ให้ความร้อนกับน้ำยางและมีไม้พายคนอยู่ตลอดเวลา ควบคุมด้วยไฟฟ้า[14]

อ้างอิง

แก้
  1. "Mugi Urushi". Kintsugi Oxford (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-14. สืบค้นเมื่อ 14 March 2023.
  2. ลักษวุธ, พิศุทธิ์; มังกิตะ, วรรณา; พงษ์การัณยภาส, กฤษดา; อาษานอก, แหลมไทย (2022). "ลักษณะสังคมพืชและศักยภาพถิ่นที่ขึ้นของรักใหญ่ (Gluta usitata (Wall.) Ding Hou) ในป่าเต็งรัง บริเวณโครงการอนุรักษ์ต้นรักและการพฒันาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากยางรักอันเนื่องมาจากพระราชดาริจังหวัดเชียงใหม่" (PDF). วารสารวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้เมืองไทย. 6 (1): 63–81.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 พรหมโชติกุล, มนตรี. "ยางรัก และ เครื่องเขิน" (PDF). สำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้. สืบค้นเมื่อ 14 March 2023.
  4. "Toxicodendron vernicifluum". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 10 December 2013.
  5. "Types of urushi". Tamenuri Studio. 4 October 2022. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
  6. "Lacquer types". UrushiLAB (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
  7. "Types of urushi". Tamenuri Studio. 4 October 2022. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
  8. "Types of urushi". Tamenuri Studio. 4 October 2022. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
  9. Charoenwong, Kaenmanee. A study of Thai Lacquer Resin: Augmenting Local Wisdon with a Sustainable Development. p. 30.
  10. "AP MAK OMKOI". AP MAK OMKOI. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
  11. Charoenwong, Kaenmanee. A study of Thai Lacquer Resin: Augmenting Local Wisdon with a Sustainable Development. p. 32.
  12. "INTRODUCING URUSHI LACQUER MAKING". Urushi Tsutsumi. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
  13. "Urushi – everything you always wanted to know (but didn't know whom to ask)". INKED HAPPINESS. 21 October 2019. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
  14. "漆の濾過・精製(なやし・くろめ)について - Urushi Art Hariya" (ภาษาญี่ปุ่น). 24 November 2021. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.