ยัน แอวังแกลิสตา ปูร์กิแญ
ยัน แอวังแกลิสตา ปูร์กิแญ (เช็ก: Jan Evangelista Purkyně, ออกเสียง: [ˈjan ˈɛvaŋɡɛlɪsta ˈpurkɪɲɛ] ( ฟังเสียง); 17 ธันวาคม ค.ศ. 1787 – 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1869) หรือ โยฮัน เอวังเกลิสท์ พัวร์คินเยอ (เยอรมัน: Johann Evangelist Purkinje) เป็นนักกายวิภาคศาสตร์และนักสรีรวิทยาชาวเช็ก
ยัน แอวังแกลิสตา ปูร์กิแญ | |
---|---|
ยัน แอวังแกลิสตา ปูร์กิแญ ใน ค.ศ. 1856 | |
เกิด | 17 ธันวาคม ค.ศ. 1787 ลิบอคอวิตแซ ราชอาณาจักรโบฮีเมีย จักรวรรดิฮาพส์บวร์ค |
เสียชีวิต | กรกฎาคม 28, 1869 ปราก จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี | (81 ปี)
สัญชาติ | เช็ก |
อาชีพ | นักกายวิภาคศาสตร์, นักสรีรวิทยา |
มีชื่อเสียงจาก | เซลล์เพอร์คินจี |
ประวัติ
แก้ยัน แอวังแกลิสตา ปูร์กิแญ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1787 ที่เมืองเล็ก ๆ ในโบฮีเมีย (ปัจจุบันคือประเทศเช็กเกีย) เขาเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชาลส์ และต่อมาได้เป็นศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยา เขาเป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์เพอร์คินจี ซึ่งอธิบายว่าทำไมมนุษย์จึงมองเห็นสีแดงได้ลดลงเมื่อเทียบกับสีน้ำเงิน และตีพิมพ์ผลงาน 2 เล่ม คือ Observations and Experiments Investigating the Physiology of Senses และ New Subjective Reports about Vision ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิชาจิตวิทยาเชิงทดลอง
ปูร์กิแญเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานค้นพบหลายอย่าง ในปี ค.ศ. 1823 เขาเขียนวิทยานิพนธ์ที่ว่าด้วยลักษณะ 9 แบบของลายนิ้วมือ สิบปีต่อมา เขาก็ค้นพบต่อมเหงื่อ ต่อมาในปี ค.ศ. 1837 เขาก็ค้นพบเซลล์เพอร์คินจี ซึ่งเป็นเซลล์ประสาทขนาดใหญ่ที่มีเดนไดรต์หลายแขนงในซีรีเบลลัม และค้นพบเพอร์คินจีไฟเบอร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งกระแสไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องล่าง นอกจากนี้ เขายังค้นพบภาพสะท้อนเพอร์คินจี (Purkinje images) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของวัตถุที่เกิดจากโครงสร้างในดวงตา รวมถึงริเริ่มการใช้คำว่าพลาสมาและโพรโทพลาสซึม
ปูร์กิแญเสียชีวิตที่กรุงปรากเมื่อ ค.ศ. 1869 รวมอายุได้ 81 ปี[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Jan Evangelista Purkyně - Monoskop". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-17. สืบค้นเมื่อ 2015-02-08.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ยัน แอวังแกลิสตา ปูร์กิแญ