มูลปริยายสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยเรื่องราวอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง เป็นพระสูตรแรกในหมวดย่อย หรือวรรคที่ชื่อมูลปริยายวรรค หมวดใหญ่มูลปัณณาสก์ ของมัชฌิมนิกาย ในสุตตันตปิฎก ทั้งนี้ อรรถกถา หรือคัมภีร์ที่อธิบายเนื้อความของมูลปริยายสูตร คือคัมภีร์ปปัญจสูทนี ของพระพุทธโฆสะ

ที่มา แก้

พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ ณ โคนไม้พญารัง หรือไม้สาละ ในป่าสุภควัน เขตเมืองอุกกัฏฐา เพื่อที่จะแสดงธรรมแก่บรรดาภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องราวอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง หรือ สัพพธัมมมูลปริยาย ซึ่งเมืองอุกกัฏฐา เป็นเมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ในแคว้นโกสล ในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ให้อรรถาธิบายว่า อุกกัฏฐา ได้นามเช่นนั้น เพราะชาวเมืองพากันชูคบเพลิงด้วยหวังว่า จะไม่พลาดซึ่งวันมงคล และฤกษ์งามยามดี ส่วนป่าสุภควัน หรือป่าอันสง่างาม เป็นป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่ได้ชื่อเช่นนั้น เพราะป่าแห่งนี้มีสิ่งที่พึงประสงค์อันสวยงาม ผู้คนทั้งหลายจึงพากันนำอาหารเครื่องดื่มไปดื่มกินเที่ยวเล่นสนุกสนานอยู่ในป่านั้นนั่นแลตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังพากันตั้งความปรารถนาถึงสิ่งที่ดี ในป่าแห่งนั้น [1]

เนื้อหา แก้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องราวอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง (สัพพธัมมมูลปริยาย) มีใจความสำคัญแบ่งออกเป็น 8 ส่วน หรือ 8 นัย เนื่องด้วยปุถุชน หรือ คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส มีจำนวน 1 นัย เนื่องด้วยเสขะ หรือพระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา หมายถึง พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี มีจำนวน 1 นัย เนื่องด้วยพระขีณาสพ หรือ พระอรหันต์ ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานมีจำนวน 4 นัย เนื่องด้วยพระศาสดา 2 นัย. ทั้งนี้ เพื่อกล่าวโดยรวบรัดถึงบุคคลผู้เกี่ยวข้องแท้ ๆ แล้วมี เพียง 4 ประเภท [2] [3]

พระผู้มีพระภาคทรงเอ่ยถึงบุคคลระดับชั้นต่าง ๆ แล้วยกมูลแห่งธรรมต่างๆ ไล่ไปตามลำดับดังนี้ คือ ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, ธาตุลม, สัตว์, เทวดา, มาร, พระพรหม, อาภัสสรพรหม, สุภกิณพรหม, เวหัปผลพรหม, อสัญญีสัตว์, อากาสานัญจายตนพรหม, วิญญาณัญจายตนพรหม, เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม, รูปที่ตนเห็น, เสียงที่ตนฟัง, อารมณ์ที่ตนทราบ, วิญญาณที่ตนรู้แจ้ง, ความที่สักกายะเป็นอันเดียวกัน, ความที่สักกายะต่างกัน และสักกายะทั้งปวง แล้วทรงชี้แจงว่า บุคคลต่างๆ กำหนดรู้และปล่อยวางมูลธรรมต่างๆ ในลักษณะใดบ้าง มีดังนี้ [4]

1. ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมรู้ตามความจำ (สญฺชานาติ) ถึงสิ่งต่าง ๆ แล้วยึดถือว่าเป็นของเราเพราะไม่ได้กำหนดรู้ตามเป็นจริงซึ่งสิ่งนั้นๆ นี้เป็นกำหนดภูมิปุถุชนนัยที่ 1

2. ภิกษุผู้เป็นเสขะ รู้ยิ่งด้วยปัญญา (อภิชานาติ) ซึ่งสิ่งต่างๆ เพลาๆ การยึดถือว่าเป็นของเราลง เพราะสิ่งนั้น ๆ พระเสขะควรกำหนดรู้ได้. นี้เป็นกำหนดภูมิพระเสขะนัยที่ 2

3. ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ รู้ยิ่งด้วยปัญญาซึ่งสิ่งต่างๆ ย่อมไม่ถือว่าเป็นของเรา เพราะ 1. ได้กำหนดสิ่งนั้นๆ แล้ว และ 2. เพราะสิ้นราคะความกำหนัดยินดี 3. เพราะความสิ้นโทสะความคิดประทุษร้าย และ 4. เพราะสิ้นโมหะความหลง นี้เป็นกำหนดภูมิพระขีณาสพนัยที่ 3, 4, 5 และ 6

4. พระศาสดา รู้ยิ่งด้วยปัญญาซึ่งสิ่งต่าง ๆ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะ 1. ได้กำหนดรู้ในสิ่งนั้นๆ แล้ว 2. เพราะสิ้นตัญหาด้วยประการทั้งปวง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว นี้เป็นกำหนดภูมิพระศาสดานัยที่ 7 และ 8 [5] [6]

อ้างอิง แก้

  1. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 34 - 35
  2. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 205
  3. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, มูลปริยายสูตร หน้า 1 - 15
  4. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, มูลปริยายสูตร หน้า 1 - 15
  5. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 205
  6. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, มูลปริยายสูตร หน้า 1 - 15

บรรณานุกรม แก้

  • Lahiri, B. (1974), Indigenous States of Northern India (Circa 300 B.C. to 200 A.D.), Calcutta: University of Calcutta.
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, มูลปริยายสูตร
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพมหานคร. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.

ตัวบท แก้