มาร์ทีน นีเมิลเลอร์

ฟรีดริช กุสทัฟ เอมีล มาร์ทีน นีเมิลเลอร์ (เยอรมัน: Friedrich Gustav Emil Martin Niemöller) เป็นบาทหลวงนิกายลูเทอแรน นักเทววิทยา และอดีตทหารเรือในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งชาวเยอรมัน[1][2] มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้ต่อต้านระบอบนาซี และเป็นเจ้าของวลีโด่งดังที่สุดในการต่อต้านระบอบนาซี

มาร์ทีน นีเมิลเลอร์
Martin Niemöller
เกิด14 มกราคม ค.ศ. 1892
ลิพชตัท จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต6 มีนาคม ค.ศ. 1984(1984-03-06) (92 ปี)
วีสบาเดิน ประเทศเยอรมนีตะวันตก
อาชีพทหารเรือ, บาทหลวง, นักเทววิทยา
คู่สมรสเอ็ลเซอ บรุนเนอร์

หลังทษวรรษที่ 1950 เป็นต้นไป เขาเป็นนักกิจกรรมใผ่สันติและต่อต้านสงคราม เขาดำรงตำแหน่งรองประธานขององค์การผู้ต่อต้านสงครามนานาชาติระหว่างค.ศ. 1966 ถึง 1972 และยังเป็นแกนนำผู้เรียกร้องการปลดอาวุธนิวเคลียร์[3]

ประวัติ แก้

นีเมิลเลอร์เกิดที่เมืองลิพชตัท (Lippstadt) มณฑลเว็สท์ฟาเลิน จักรวรรดิเยอรมัน เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1892 เขาเติบโตมาในครอบครัวหัวเก่า ซึ่งมีบิดาเป็นบาทหลวงนิกายลูเทอแรน ต่อมาในปีค.ศ. 1900 ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองเอ็ลแบร์เฟ็ลด์ (Elberfeld)

 
นีเมิลเลอร์ในเครื่องแบบทหารเรือเยอรมัน

เขารับราชการเป็นนายทหารเรือ ปฏิบัติหน้าที่บนเรืออูในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เรือเอกนีเมิลเลอร์มีผลงานประจักษ์จนได้รับกางเขนเหล็กชั้นหนึ่ง เมื่อสงครามสิ้นสุด จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 สละราชสมบัติ นีเมิลเลอร์ไม่ยอมรับรัฐบาลประชาธิปไตยจึงลาออกจากราชการทหารและผันตัวเป็นครูสอนศาสนา เขาบวชเป็นบาทหลวงเต็มตัวเมื่อค.ศ. 1924[4] ต่อมาเขาย้ายไปเป็นบาทหลวงประจำเมืองดาเลิมในกรุงเบอร์ลินเมื่อปีค.ศ. 1931[5]

นีเมิลเลอร์เป็นคนหัวเก่าเช่นเดียวกับบาทหลวงส่วนใหญ่ในเยอรมนี เขาต่อต้านรัฐบาลไวมาร์ซึ่งเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย ในตอนแรก เขายินดีกับการเรืองอำนาจของฮิตเลอร์ในปีค.ศ. 1933 โดยเชื่อว่าฮิตเลอร์จะฟื้นฟูประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งดังเช่นอดีตได้อีกครั้ง ในหนังสือเกี่ยวกับเรืออูของเขาซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1933 เรียกยุคสาธารณรัฐไวมาร์ว่าเป็น "ยุคมืด" และยกย่องฮิตเลอร์ว่าเป็นผู้ริเริ่ม "บูรณชาติ"[6]: 235  หนังสือของนีเมิลเลอร์เล่มนี้ได้รับผลตอบรับทางบวกจากหนังสือพิมพ์และกลายเป็นหนังสือขายดีอันดับต้นๆในขณะนั้น

แต่เมื่อรัฐบาลนาซีออกบทบัญญัติ "วรรคอารยัน" (Arierparagraph) ซึ่งตัดสิทธิ์หลายประการของชาวยิว รวมไปถึงสิทธิ์ในการนับถือลูเทอแรน นีเมิลเลอร์จึงผันตัวเป็นฝ่ายตรงกับระบอบนาซี เขาร่วมลงชื่อในภาคีนักบวชโปรแตสแตนท์ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนาซีและประกาศว่าวรรคอารยันไม่สอดคล้องกับหลักเมตตาธรรมของชาวคริสต์[7] ในค.ศ. 1934 เขาร่วมจัดตั้งโบสถ์สารภาพ (Bekennende Kirche) ซึ่งเป็นกลุ่มคริสต์ที่ต่อต้านการครอบงำศาสนจักรโดยระบอบนาซี

การต่อต้านระบอบนาซีของเขาทำให้เขาถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 เขาถูกไต่สวนโดยศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เขาถูกพิพากษาปรับ 2,000 ไรชส์มาร์คและถูกกักขังเป็นเวลาเจ็ดเดือน แต่ทันทีที่ถูกปล่อยตัว เขาก็ถูกจับกุมซ้ำโดยตำรวจลับขององค์การเอ็สเอ็ส และถูกส่งตัวไปค่ายกักกันซัคเซินเฮาเซินและค่ายกักกันดาเคา ระหว่างนั้น เขาเคยเสนอตัวเป็นผู้บังคับการเรือดำน้ำ แต่ถูกปฏิเสธ[8] เขาถูกกักขังจนสิ้นสุดสงครามในปีค.ศ. 1945

วลีของนีเมิลเลอร์ แก้

 
วลีของนีเมิลเลอร์ ฉบับในสหรัฐ แต่ฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับที่ถูกต้องตามต้นฉบับ

วลีของนีเมิลเลอร์มีอยู่หลายฉบับหลายคำแปลด้วยกัน ฉบับที่ได้รับความนิยมที่สุดปรากฏตามพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ แต่ฉบับดังกล่าวไม่ใช่ฉบับที่ถูกต้อง[9] และด้านล่างนี้คือฉบับที่มูลนิธิมาร์ทีน-นีเมิลเลอร์ ยอมรับนับถือเป็นต้นฉบับ

Als die Nazis die Kommunisten holten, habe ich geschwiegen; ich war ja kein Kommunist.
Als sie die Sozialdemokraten einsperrten, habe ich geschwiegen; ich war ja kein Sozialdemokrat.
Als sie die Gewerkschafter holten, habe ich geschwiegen; ich war ja kein Gewerkschafter.
Als sie mich holten, gab es keinen mehr, der protestieren konnte.[10]
เมื่อนาซีมาจับพวกคอมมิวนิสต์ ฉันนิ่งเงียบ เพราะฉันไม่ใช่พวกคอมมิวนิสต์
เมื่อเขามาเอาตัวพวกสังคมประชาธิปไตย ฉันนิ่งเงียบ เพราะฉันไม่ใช่พวกสังคมประชาธิปไตย
เมื่อเขามาจับพวกสหภาพแรงงาน ฉันนิ่งเงียบ เพราะฉันไม่ใช่พวกสหภาพแรงงาน
เมื่อเขามาจับฉัน ฉันไม่เหลือใคร ออกมาต่อสู้ให้ฉัน

อ้างอิง แก้

  1. Pace, Eric (8 March 1984). "Martin Niemoller, Resolute Foe Of Hitler". New York Times.
  2. "Niemöller, (Friedrich Gustav Emil) Martin" The New Encyclopædia Britannica (Chicago: University of Chicago, 1993), 8:698.
  3. Rupp, Hans Karl. "Niemöller, Martin", in The World Encyclopedia of Peace. Edited by Linus Pauling, Ervin László, and Jong Youl Yoo. Oxford : Pergamon, 1986. ISBN 0-08-032685-4, (vol 2, p.45-6).
  4. Current Biography 1943, pg.555
  5. "Niemöller", 8:698.
  6. Shirer, William L (1960). The rise and fall of the Third Reich: a history of Nazi Germany (ภาษาอังกฤษ). New York: Simon & Schuster. ISBN 978-0-671-72869-4. OCLC 22888118.
  7. Martin Stöhr, „…habe ich geschwiegen“. Zur Frage eines Antisemitismus bei Martin Niemöller
  8. Niemoeller Volunteers for U-Boat Service; Nazis Reject Imprisoned Pastor's Offer
  9. Marcuse, Harold. "Martin Niemöller's famous confession: "First they came for the Communists ... "". University of California at Santa Barbara.
  10. Quellen: So hat Niemöller es geschrieben. Es wurde sehr häufig abgewandelt. Martin-Niemöller-Stiftung