มาร์ดุก (อักษรรูปลิ่ม: 𒀭𒀫𒌓 dAMAR.UTU; ภาษาซูเมอร์: amar utu.k "บุตรแห่งพระอาทิตย์"; ภาษากรีก Μαρδοχαῖος,[1] Mardochaios; ภาษาฮีบรู: מְרֹדַךְ, marōḏaḵ) เป็นเทพเมโสโปเตเมียในยุคหลัง มาร์ดุกเป็นเทพประจำเมืองบาบิโลน และเป็นเทพแห่งน้ำ พืชพันธุ์ การพิพากษา และเวทมนตร์ พระองค์เป็นโอรสของเทพอีอา (เองกีในซูเมอร์)[2] กับดัมกัลนูนา[3] มีพระชายาคือซาปาร์นิต และมีโอรสคือเนโบ เทพแห่งปัญญาและการรู้หนังสือ มีอาวุธประจำกายคืออาวุธแห่งสายลมอิมฮุลลู และพาหนะเป็นมังกรมุชคุชชู ในช่วงที่บาบิโลนปกครองโดยพระเจ้าฮัมมูราบี มาร์ดุกมีความเกี่ยวข้องในทางโหราศาสตร์กับดาวพฤหัสบดี[4]

มาร์ดุก (เบล)
  • เทพประจำเมืองบาบิโลน
  • พระผู้สร้าง เทพแห่งน้ำ พืชพันธุ์ การพิพากษา และเวทมนตร์
รูปเคารพเทพมาร์ดุกประทับบนมังกรมุชคุชชู จากจารึกทรงกระบอกสมัยศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสตกาล
ที่ประทับบาบิโลน
ดาวพระเคราะห์ดาวพฤหัสบดี
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองซาปาร์นิต
บุตร - ธิดาเนโบ
บิดา-มารดาเองกีและดัมกัลนูนา
พี่น้องนินซาร์, นินคูร์รา, อุตตู, นินตี

ที่มาของพระนามมาร์ดุกมาจาก amar-Utu ("บุตรผู้เป็นอมตะของอูตู" หรือ "บุตรเยาว์วัยของสุริยเทพอูตู")[5] สะท้อนถึงที่มาหรือความเกี่ยวข้องกับเมืองซิปปาร์ซึ่งมีอูตูเป็นเทพประจำเมือง[6] สถานภาพเดิมของมาร์ดุกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ภายหลังพระองค์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับน้ำ พืชพันธุ์ การพิพากษา และเวทมนตร์[7] ตามเอนูมาเอลิช ตำนานการถือกำเนิดของบาบิโลเนียกล่าวว่า มาร์ดุกซึ่งเป็นเทพที่แข็งแกร่งที่สุดในหมู่เทพรุ่นหลังได้ทำสงครามกับเทพยุคแรกเริ่มติอามัตเป็นเวลา 12 วันจึงปราบติอามัตลงได้ จากนั้นมาร์ดุกทรงสร้างสวรรค์และโลกจากร่างติอามัต และปรึกษากับเทพอีอาก่อนจะสร้างมนุษย์คนแรกชื่อลัลลูจากชิ้นส่วนเทพที่สนับสนุนติอามัตเพื่อให้เป็นบริวาร[8] ชาวบาบิโลเนียมีการเฉลิมฉลองชัยชนะของมาร์ดุกเหนือติอามัตในเทศกาลแซกมัก หรือวันขึ้นปีใหม่ช่วงเดือนธันวาคมเป็นเวลา 12 วัน[9] โดยกษัตริย์บาบิโลนจะเป็นตัวแทนมาร์ดุก ประกอบพิธีเฮียรอสกามอสและต่อสู้ในการรบแบบจำลอง[10]

มาร์ดุกเป็นเทพประจำเมืองบาบิโลน เมื่อบาบิโลนกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจในหุบเขายูเฟรตีสในรัชสมัยพระเจ้าฮัมมูราบีราวศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล มาร์ดุกค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นเทพสูงสุดของปวงเทพบาบิโลเนีย และแทนที่เทพเอนลิลในฐานะเทพสูงสุดอย่างสมบูรณ์หลังรัชสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 1 ช่วงศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล[11] ต่อมาในสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล มาร์ดุกได้รับการบูชาในพระนามเบล อันเป็นการผสานเทพมาร์ดุก เทพเอนลิล และเทพดูมูซิด[12][13] มีการประดิษฐานรูปเคารพมาร์ดุกไว้ที่วิหารอีซากิลาและซิกกุรัตอีเทเมนันกี[14] ซึ่งภายหลังเฮโรโดตัสบันทึกว่าถูกเซิร์กซีสที่ 1 แห่งจักรวรรดิอะคีเมนิดขนย้ายออกไปตอนพระองค์ปราบกบฏในบาบิโลนเมื่อ 482 ปีก่อนคริสตกาล[15] หลังจากนั้นวิหารก็ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นซากปรักหักพังช่วงบาบิโลนตกอยู่ใต้อำนาจจักรวรรดิพาร์เธียราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล[16]

อ้างอิง

แก้
  1. identified with Marduk by Heinrich Zimmeren (1862-1931), Stade's Zeitschrift 11, p. 161.
  2. Arendzen, John. "Cosmogony". The Catholic Encyclopedia, 1908. Robert Appleton Company. สืบค้นเมื่อ 26 March 2011.
  3. C. Scott Littleton (2005). Gods, Goddesses and Mythology, Volume 6. Marshall Cavendish. p. 829.
  4. Jastrow, Jr., Morris (1911). Aspects of Religious Belief and Practice in Babylonia and Assyria, G.P. Putnam's Sons: New York and London. pp. 217-219.
  5. Helmer Ringgren, (1974) Religions of The Ancient Near East, Translated by John Sturdy, The Westminster Press, p. 66.
  6. The Encyclopedia of Religion - Macmillan Library Reference USA - Vol. 9 - Page 201
  7. [John L. McKenzie, Dictionary of the Bible, Simon & Schuster, 1965 p 541.]
  8. Mark, Joshua J. (May 4, 2018). "Enuma Elish - The Babylonian Epic of Creation - Full Text". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 9, 2020.
  9. Gill, N.S. (September 24, 2018). "Marduk the Mesopotamian Creation God". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ November 9, 2020.
  10. Roy, Christian (2005). Traditional Festivals: A Multicultural Encyclopedia Volume 1. Santa Barbara, California, US: ABC-CLIO. p. 5–7. ISBN 9781576070895.
  11. Lambert, W. G. (1984). "Studies in Marduk". Bulletin of the School of Oriental and African Studies, University of London. 47 (1): 1–9. doi:10.1017/S0041977X00022102. ISSN 0041-977X. JSTOR 618314.
  12. Fontenrose 1980, p. 440.
  13. Doniger 1990, p. 120.
  14. "Marduk - Babylonian god". Britannica. สืบค้นเมื่อ November 9, 2020.
  15. Sancisi-Weerdenburg 2002, p. 579.
  16. Mark, Joshua J. (December 9, 2016). "Marduk". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 9, 2020.