มหาสังฆิกะ
มหาสังฆิกะ[1] (สันสกฤต: महासांघिक mahāsāṃghika) เป็นนิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่แยกออกมาจากคณะสงฆ์ดั้งเดิมหรือฝ่ายเถรวาทเมื่อครั้งสังคายนาครั้งที่ 2 โดยแยกตัวออกไปทำสังคายนาต่างหาก ในระยะแรกนิกายนี้ไม่ได้รุ่งเรืองมาก เนื่องจากมีความขัดแย้งกับฝ่ายเถรวาทอย่างรุนแรง ต่อมาจึงมีอิทธิพลที่เมืองปาฏลีบุตร เวสาลี แคว้นมคธ ไปจนถึงอินเดียใต้ มีนิกายที่แยกออกไป 5 นิกาย คือ นิกายโคกุลิกวาท นิกายเอกัพโยหาริกวาท นิกายปัญญตติกวาท นิกายพหุสสุติกวาท และนิกายเจติยวาท และถือเป็นต้นกำเนิดของมหายานในปัจจุบัน
หลักธรรม
แก้โดยทั่วไปนิกายมหาสังฆิกะยอมรับหลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ 4 กฎแห่งกรรม ปฏิจสมุปบาท เช่นเดียวกับเถรวาท ส่วนที่ต่างออกไปคือ
พระพุทธเจ้า
แก้นิกายนี้ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยตรีกายคือ ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมาณกาย มีการนับถือพระโพธิสัตว์โดยถือว่าเป็นโลกุตตระแบบเดียวกับพระพุทธเจ้า
พระอรหันต์
แก้นิกายนี้ถือว่าพระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนในความฝันจนอสุจิเคลื่อนได้ พระอรหันต์มีอัญญาณได้ มีกังขาได้ พระอรหันต์จะรู้ตัวว่าตนบรรลุมรรคผลเมื่อได้รับการพยากรณ์จากผู้อื่น มรรคผลจะปรากฏเมื่อผู้บำเพ็ญเพียรเปล่งคำว่า ทุกข์หนอ ๆ
หลักธรรมอื่น ๆ
แก้นิกายนี้ถือว่าธรรมชาติของจิตเดิมแท้ผ่องใสแต่มัวหมองเพราะกิเลสจรมา ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดของปรัชญาจิตนิยมของนิกายโยคาจารที่เกิดขึ้นภายหลัง ปฏิเสธอันตรภพ ถือว่าพระโสดาบันอาจเสื่อมจากโสดาปัตติผลได้ เป็นต้น
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 329
- อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กทม. มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2539