มงกุฎอิมพีเรียลสเตต
มงกุฎอิมพีเรียลสเตต (อังกฤษ: Imperial State Crown) เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักร มงกุฎอิมพิเรียลสเตตนี้มีการสร้างทดแทนขึ้นหลายยุคสมัยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ซึ่งรุ่นล่าสุดนี้มีลักษณะคล้ายมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดอยู่ไม่น้อย
มงกุฎอิมพีเรียลสเตต Imperial State Crown | |
---|---|
รายละเอียดของมงกุฎจากด้านหน้า | |
รายละเอียด | |
สำหรับ | สหราชอาณาจักร |
ผลิตเมื่อ | ค.ศ. 1937 |
ผู้ครอบครอง | พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร |
น้ำหนักสุทธิ | 0.9 กิโลกรัม |
จำนวนโค้ง | 2 โค้ง |
วัตถุดิบหลัก | ทองคำ เงิน ทองคำขาว |
วัสดุซับใน | กำมะหยี่สีม่วง กรุขอบด้วยขนเออร์มิน |
อัญมณีสำคัญ | เพชรคัลลินัน 2, ทับทิมเจ้าชายดำ, แซฟไฟร์เซนต์เอ็ดเวิร์ด, แซฟไฟร์สจวต |
องค์ก่อนหน้า | มงกุฎอิมพีเรียลสเตตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย |
ตัวมงกุฎนั้นมีฐานประกอบด้วยกางเขนแพตตี (cross pattée) จำนวนสี่กางเขน สลับกับเฟลอ-เดอ-ลีส์ (fleur-de-lis) หรือดอกลิลลี่จำนวนสี่ดอก ส่วนเหนือจากฐานขึ้นไปเป็นโค้งจำนวนสี่โค้งตัดกันที่มียอดเป็นด้านบนจุดตัดเป็นกางเขนอีกหนึ่ง ภายในตรงกลางมงกุฎเป็นหมวกกำมะหยี่ที่มีขอบเป็นขนเออร์มิน มงกุฎฝังด้วยอัญมณีหลายชนิดที่รวมทั้ง: เพชร 2,868 เม็ด, ไข่มุก 273 เม็ด, แซฟไฟร์ 17 เม็ด, มรกต 11 เม็ด, และทับทิม 5 เม็ด
มงกุฎอิมพิเรียลสเตตประกอบด้วยอัญมณีที่มีชื่อเสียงหลายชิ้น กางเขนบนมงกุฎฝังอัญมณีที่เรียกว่าแซฟไฟร์เซนต์เอ็ดเวิร์ดที่นำมาจากแหวน (หรือ จุลมงกุฎ) ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ, ทับทิมเจ้าชายดำ (Black Prince's Ruby) (ความจริงแล้วคือสปิเนล ที่ฝังอยู่บริเวณกางเขนด้านหน้าของมงกุฎ และเพชรคัลลินันที่ฝังด้านหน้ามงกุฎบริเวณฐาน ด้านหลังฝังด้วยแซฟไฟร์สจวตหนัก 104 กะรัต (20.8 กรัม) บนขอบ นอกจากนี้ยังมีไข่มุกของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธประดับอีกด้วย
การใช้งาน
แก้มงกุฎนี้ทรงใช้สวมในตอนเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จออกจากแอบบีเวสต์มินสเตอร์[1] ซึ่งตามปกติแล้วอิมพีเรียลสเตตจะไม่ใช่มงกุฎที่ทรงสวมในระหว่างพระราชพิธี ยกเว้นในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เพราะทรงเห็นว่ามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดหนักเกินไป (กว่าสองกิโลกรัม)
พระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 ทรงมงกุฎอิมพีเรียลสเตตเป็นประจำทุกปีในการรัฐพิธีการเปิดประชุมรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร[1] ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วมงกุฎและเครื่องเพชรพลอยจะถูกนำมายังพระราชวังเวสต์มินสเตอร์โดยรถม้าต่างหากก่อนที่พระราชินีจะเสด็จพระราชดำเนินมาถึง และนำไปไว้ที่ห้องฉลองพระองค์ที่พระองค์ทรงฉลองพระองค์คลุมและทรงสวมมงกุฎ
มงกุฎองค์ปัจจุบัน
แก้มงกุฎอิมพีเรียลสเตตองค์ปัจจุบันนั้นสร้างขึ้นเพื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในปี ค.ศ. 1937 โดยบริษัทการ์ราร์ด แอนด์ โค (Garrard & Co.) ที่สร้างลอกแบบมาจากมงกุฎอิมพีเรียลสเตตองค์เดิม (รูปประกอบด้านขวามือ) ที่สร้างสำหรับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แต่มีน้ำหนักเบากว่าและสวมสบายกว่า มงกุฎองค์ใหม่นี้มีน้ำหนักเพียง 910 กรัม ซึ่งเคยได้ถูกปรับปรุงสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2[2] เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้นต่อการสวมใส่โดยอิสตรี โดยลดความสูงลงประมาณ 1 นิ้ว
ในปกตินั้นพระมหากษัตริย์มักจะซ้อมสวมมงกุฎก่อนที่จะถึงเวลาเปิดรัฐพิธีเปิดประชุมสภา (ข้าราชสำนักรายงานว่าได้เห็นพระราชินีเอลิซาเบธทรงมงกุฎขณะที่เสวยพระกระยาหารเช้าและทรงอ่านหนังสือพิมพ์ในวันเปิดรัฐสภา)
โครงเดิมของมงกุฎอิมพีเรียลสเตตองค์เดิมของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1, สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 และสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้เก็บรักษาไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอน เพราะความที่ใช้บ่อยมงกุฎอิมพีเรียลสเตตจึงได้รับการสร้างแทนหรือซ่อมแซมเสมอตามอายุของมงกุฎ, น้ำหนัก, รสนิยมของผู้สวม หรือจากความเสียหายที่เกิดจากการใช้งาน
มงกุฎอิมพีเรียลสเตตปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน
แกลอรี่
แก้-
ภาพเขียนสีน้ำมงกุฎพระเจ้าจอร์จที่ 1 ในปีค.ศ. 1714
-
มงกุฎองค์สำหรับของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1838
-
มงกุฎองค์สำหรับพระเจ้าจอร์จที่ 5
-
พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงมงกุฎในปีค.ศ. 1911
-
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ค.ศ. 1953
-
ด้านหลังของมงกุฎ ค.ศ. 2012
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 The Royal Household 2011, The Crown Jewels.
- ↑ Garrard & Co staff 2012, heritage.
บรรณานุกรม
แก้- Kenneth J. Mears; Simon Thurley; Claire Murphy (1994). The Crown Jewels. Historic Royal Palaces. ASIN B000HHY1ZQ.
- Dale Hoak (2002). Tudor Political Culture. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-52014-0.
- The Royal Household (September 2008). "The Crown Jewels: Gallery". The Official Website of the British Monarchy. สืบค้นเมื่อ 30 June 2012.
- Garrard & Co staff (2012). "Heritage". Garrard & Co. สืบค้นเมื่อ 30 June 2012.}
- The Royal Household (8 August 2011). "The Crown Jewels". The Official Website of the British Monarchy. สืบค้นเมื่อ 30 June 2012.