โฌแซ็ฟ ฟูเช ดยุกที่ 1 แห่งโอตรันโต (ฝรั่งเศส: Joseph Fouché, 1st Duc d'Otrante) เป็นรัฐบุรุษแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 เขาเป็นที่จดจำจากการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ก่อจลาจลในลียงระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1793 และหลังนโปเลียนก่อรัฐประหารเดือนบรูว์แมร์ในปี ค.ศ. 1799 เขาก็ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการตำรวจและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งโอตรันโต

ดยุกแห่งโอตรันโต
Duc d'Otrante
ประธานคณะมนตรีฝ่ายบริหารฝรั่งเศส
ดำรงตำแหน่ง
22 มิถุนายน 1815 – 7 กรกฎาคม 1815
กษัตริย์นโปเลียนที่ 2
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปตาแลร็อง-เปรีกอร์
(ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 พฤษภาคม ค.ศ. 1759(1759-05-21)
เลอแปลแร็ง, ฝรั่งเศส
เสียชีวิต26 ธันวาคม ค.ศ. 1820(1820-12-26) (61 ปี)
ตรีเยสเต, อิตาลี
ศาสนาลัทธิแห่งเหตุผล
ต่อมา โรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองฌากอแบ็ง (1789–1795)
ฌีรงแด็ง (1792–1793)
ลามงตาญ (1793–1794)
Thermidorian (1794–1799)

โฌแซ็ฟ ฟูเช เกิดที่เลอแปลแร็ง หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้กับเมืองน็องต์ เขาเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยโบสถ์ในน็องต์ เขาเดินทางมาปารีสด้วยความตั้งใจอยากเป็นครู ซึ่งก็ทำให้เขาประสบความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เขาได้เป็นอาจารย์ในวิทยาลัยหลายแห่งของปารีส ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ เขาและรอแบ็สปีแยร์มีการพบปะกันทั้งในช่วงก่อนการปฏิวัติและในช่วงต้นของการปฏิวัติ ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1790 เขาถูกเรียกตัวกลับไปสอนที่เมืองน็องต์ การที่ฟูเชเป็นคนหัวประชาธิปไตยและต่อต้านศาสนจักร ก็ทำให้เขากลายเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนเมืองน็องต์ และทำให้เขาได้เป็นผู้นำระดับท้องถิ่นของฌากอแบ็ง

หลังระบอบกษัตริย์ล่มสลายลงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1792 ฟูเชก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนของจังหวัดลัวรัตล็องติกในที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ ช่วงแรกเขาไปคลุกคลีอยู่กับฝ่ายฌีรงแด็ง แต่เนื่องจากพวกฌีรงแด็งไม่สนับสนุนการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทำให้ฟูเชตัดสินใจย้ายไปอยู่ฝ่ายลามงตาญ ฟูเชสนับสนุนอย่างแรงกล้าให้มีการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในทันที

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1793 ฟูเชเดินทางไปเมืองลียงกับฌ็อง-มารี กอโล แดร์บัว เพื่อประหารเหล่าผู้ก่อกบฎจำนวน 271 คน[1] มีการใช้โซ่ล่ามผู้ต้องโทษเข้าด้วยกันและใช้ปืนใหญ่ระดมยิงกระสุนพวงเพื่อสังหาร ทำให้ฟูเชได้รับฉายาว่า "เครื่องประหารแห่งลียง"[2] ความโหดร้ายของฟูเชทำให้รอแบ็สปีแยร์เกิดหวั่นใจขึ้นมา รอแบ็สปีแยร์พยายามกำจัดฟูเชให้พ้นจากสโมสรฌากอแบ็งในวันที่ 14 กรกฎาคม 1794 แต่ฟูเชไหวตัวทันและหลบซ่อนตัวอยู่ในปารีสภายใต้การคุ้มครองของปอล บารัส และร่วมวางแผนโค่นล้มรอแบ็สปีแยร์ การโค่นล้มรอแบ็สปีแยร์ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1794 นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เรียกว่าคณะดีแร็กตัวร์

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1799 ฟูเชได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการตำรวจในห้วงเวลาที่ปารีสเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แอมานุแอล โฌแซ็ฟ ซีเยแย็ส สมาชิกดีแร็กตัวร์คนใหม่ ต้องการควบคุมพวกฌากอแบ็งที่พยายามเปิดสโมสรขึ้นมาอีกครั้ง ฟูเชได้สั่งปิดสโมสรฌากอแบ็งตามความต้องการของซีเยแย็ส พร้อมทั้งตามล่านักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ทั้งของฝ่ายฌากอแบ็งและฝ่ายนิยมเจ้า เมื่อนายพลนโปเลียนกลับจากอียิปต์ถึงฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม ฟูเชเข้าร่วมกับนโปเลียนและซีเยแย็สเพื่อโค่นล้มอำนาจของคณะดีแร็กตัวร์ ภายหลังรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ ฟูเชก็กลายเป็นคนสนิทของนโปเลียน นโปเลียนคงตำแหน่งรัฐมนตรีตำรวจของฟูเชไว้ตามเดิม

อ้างอิง แก้

  1. Hanson, P.R. (2003) The Jacobin Republic Under Fire. The Federalist Revolt in the French Revolution, p. 193.
  2. Schom, Alan (1997). "Fouche's Police". Napoleon Bonaparte. HarperCollins Publishers, New York. pp. 253–255. ISBN 0-06-092958-8.