กัญชาในประเทศไทย

กัญชาเคยเป็นสารเสพติดประเภท 5 ภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกไกลที่มีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ใน พ.ศ. 2561 ต่อมาใน พ.ศ. 2565 ไทยถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการควบคุม

ประวัติศาสตร์ แก้

ดูเหมือนมีการนำกัญชาเข้าสู่ประเทศไทยจากประเทศอินเดีย โดยอ้างหลักฐานจากความคล้ายของชื่อไทยกับคำว่า गांजा (ganja) ในภาษาฮินดี[1] เดิมกัญชาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนประกอบอาหาร เครื่องเทศ ยาและเป็นแหล่งของเส้นใย[2]

กัญชาเป็นสมุนไพรพื้นบ้านหลายศตวรรษก่อนถูกห้ามในคริสต์ทศวรรษ 1930 ทราบกันว่าผู้ใช้แรงงานใช้กัญชาเป็นยาคลายกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าใช้เพื่อบรรเทาการเจ็บครรภ์ของหญิงได้[3]

พระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. 2477 กำหนดให้การครอบครอง ขายและใช้กัญชาเป็นความผิดตามกฎหมาย[4] กฎหมายอีกสองฉบับที่มีความสำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518[5]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคภูมิใจไทยเสนอนโยบายกัญชาเสรี มีใจความว่า "ภูมิใจไทยสนับสนุนการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือน หากเหลือจึงขาย โดยรัฐจะเป็นคนรับซื้อ และดูแลพื้นที่การปลูกโดยการซื้อขายต้องผ่านรัฐ ไม่สามารถซื้อขายได้โดยตรง และรัฐจะอุดหนุนให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมกันคิดพัฒนาทำวิจัยกัญชาด้วย"[6]

ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้กัญชาและกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ได้จากการปลูกหรือผลิตในประเทศ ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และ เส้นใย รวมถึงสารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัด ซึ่งต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่น ๆ ได้ ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดดังกล่าว ไปประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค เป็นต้น ส่วนการนำเข้ากัญชาสามารถทำได้ โดยขออนุญาตเป็นยาเสพติด ยกเว้น เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดตามประกาศนี้[7][8]

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการเสนอขึ้นทะเบียน "กัญชาไทย" เป็นมรดกโลก[9]

ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขถอดกัญชาและกัญชงจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5[10]

การวางระเบียบ แก้

ก่อนการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด แก้

การครอบครอง การเพาะปลูกและการขนส่ง (นำเข้า/ส่งออก) กัญชาขนาดไม่เกิน 10 กิโลกรัมอาจมีโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ การครอบครอง การเพาะปลูกและการขนส่งกัญชาตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไปมีโทษจำคุก 2 ถึง 15 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่ถูกจับฐานครอบครองกัญชาปริมาณเล็กน้อยมักได้รับโทษปรับมากกว่าจำคุก ตำรวจยาเสพติดมองว่ายาบ้า (เมตแอมเฟตามีน) เป็นปัญหาร้ายแรงกว่า[2]

พบว่ากัญชามีขายอย่างเปิดเผยในบาร์และร้านอาหารในบางพื้นที่ของประเทศ[11] ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านพบกัญชาได้ทั่วไป ธุรกิจขายสินค้า "ความสุข" ซึ่งบรรจุกัญชา ผู้ค้ากัญชาบางครั้งทำงานกับตำรวจซึ่งไปรีดไถเอาสินบนกับลูกค้า กระนั้น นักท่องเที่ยวหลายคนลงเอยด้วยโทษจำคุกแม้ประเทศมีทัศนะผ่อนปรนต่อกัญชา[12]

กัญชาทางการแพทย์ แก้

สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบกัญชาทางการแพทย์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 นับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกไกลที่มีกฎหมายดังกล่าว[13]

ทั้งนี้ ตาม "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563" ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 กัญชาที่ได้จากการปลูกหรือผลิตในประเทศ ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และ เส้นใย รวมถึงสารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัด ซึ่งต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่น ๆ[14][15]

หลังการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด แก้

หลังการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า การประกาศว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอาจขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ อาจส่งผลทำให้ไทยถูกจับตา เสียสิทธิทางยา หรืออาจเสียความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น[16]

หลังจากนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับ "กัญชาเสรี" มากมาย เช่น มีหลายคนได้รับผลกระทบทางสุขภาพหลังบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยผู้ขายไม่แจ้ง[17] ต่อมามีความพยายามเข้ามาควบคุมการใช้กัญชา เช่น ต้องขอใบอนุญาตก่อนขายเครื่องดื่มผสมกัญชา[18] ต้องระบุการผสมกัญชาในฉลาดให้ชัดเจน และห้ามขายแก่บุคคลอายุไม่ถึง 20 ปี[19]

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 การพิจารณาร่างกฏหมายควบคุมการใช้กัญชา ถูกถอนออกจากวาระประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยการลงมติจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก โดยมีจำนวนผู้ลงมติ 346 คน, เห็นด้วยให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ออกจากวาระประชุม 198 คน, ไม่เห็นด้วย 136 คน งดออกเสียง 12 คน ส่งผลให้การใช้กัญชาในประเทศไทย ยังอยู่ในภาวะสูญญากาศต่อไป[20]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Martin, Marie Alexandrine (January 1975). "Ethnobotanical Aspects of Cannabis in Southeast Asia". ใน Rubin, Vera (บ.ก.). Cannabis and Culture. Mouton Publishers. pp. 63–76. ISBN 9027976694. สืบค้นเมื่อ 2018-12-12.
  2. 2.0 2.1 Blair, Eric (2001-07-11). "History of Marijuana Use and Anti-Marijuana Laws in Thailand". Thailand Law Forum. สืบค้นเมื่อ 2018-12-12.
  3. Kapoor, Kanupriya; Thepgumpanat, Panarat (2018-12-12). "Weeding out foreigners: strains over Thailand's legalization of marijuana". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2018-12-12.
  4. "พระราชบัญญัติกันชา พุทธศักราช ๒๔๗๗" (PDF). Royal Thai Government Gazette. 52: 339–343. 5 May 1935. สืบค้นเมื่อ 6 December 2016.
  5. "Criminal Drug Offences in Thailand". Siam Legal. สืบค้นเมื่อ 2018-12-12.
  6. ""กัญชา"ปมร้อน"ขู่ถอนตัว" ลุ้นส.ว.คว่ำนโยบาย"ภูมิใจไทย"". กรุงเทพธุรกิจ. 17 June 2022. สืบค้นเมื่อ 4 August 2022.
  7. "ลงราชกิจจาแล้ว ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกทุกส่วนของกัญชา กัญชง พ้นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก และเมล็ดกัญชา พร้อมชูเป็นพืชเศรษฐกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-08. สืบค้นเมื่อ 2021-10-08.
  8. "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563" (PDF). Royal Thai Government Gazette. 52: 339–343. 14 December 2020. สืบค้นเมื่อ 8 October 2021.
  9. เสนอขึ้นทะเบียน "กัญชาไทย" เป็นมรดกโลก
  10. ปลดล็อกกัญชา เริ่มวันนี้ 9 มิ.ย. 65 ทำอะไรแล้วไม่ผิดกฎหมายบ้าง
  11. "Best Places To Smoke Or Buy Weed In Thailand". stonercircle.net.แม่แบบ:DL
  12. Rodgers, Greg (2018-05-22). "Drugs in Thailand". tripsavvy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-14. สืบค้นเมื่อ 2018-12-12.
  13. Paddock, Richard C. (26 December 2018). "Thailand to Allow Medical Marijuana, a First in Southeast Asia". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  14. "ลงราชกิจจาแล้ว ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกทุกส่วนของกัญชา กัญชง พ้นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก และเมล็ดกัญชา พร้อมชูเป็นพืชเศรษฐกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-08. สืบค้นเมื่อ 2021-10-08.
  15. "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563" (PDF). Royal Thai Government Gazette. 52: 339–343. 14 December 2020. สืบค้นเมื่อ 8 October 2021.
  16. "อนุทินแจง ไทยไม่ผิดกฎหมายโลก กรณี "เสรีกัญชา"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 4 August 2022.
  17. "แม่โพสต์อุทาหรณ์ ลูกเผลอกินบราวนี่กัญชา อาการหนักจนต้องส่งโรงพยาบาล". อมรินทร์ทีวี. 3 August 2022. สืบค้นเมื่อ 4 August 2022.
  18. "เตือน ! ร้านขายอาหาร "เครื่องดื่มผสมกัญชา" ต้องขอรับใบอนุญาต". กรุงเทพธุรกิจ. 9 July 2022. สืบค้นเมื่อ 4 August 2022.
  19. "อย.คุมเข้ม! ฉลากสินค้าผสม กัญชา-กัญชง ชี้ต้องมีข้อความเตือน อายุต่ำกว่า 20ปี ห้ามจำหน่าย". PPTV. สืบค้นเมื่อ 4 August 2022.
  20. "ถอนร่างกฎหมาย กัญชา กัญชง = เกิดสุญญากาศนานขึ้นเพื่อประโยชน์ของใคร? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์". mgronline.com. 2022-09-16.