ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัย"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
หน้าใหม่: thumb|กองทหารจาก[[กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ยิงสลุตจากปืนมหาชัยในระหว่างสรงน้ำมูรธาภิเษกของพระราชพิธีบรมราชาภ...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 19:45, 11 กันยายน 2564

การยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัย เป็นการยิงสลุตโดยใช้ปืนใหญ่ขนาดเล็กยิงในการพระราชพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลและเอาฤกษ์เอาชัย

กองทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ยิงสลุตจากปืนมหาชัยในระหว่างสรงน้ำมูรธาภิเษกของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ปืนยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัยมีทั้งหมด 4 กระบอก ประกอบด้วย ปืนมหาฤกษ์, ปืนมหาชัย, ปืนมหาจักร, และปืนมหาปราบยุค การยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัยทำการยิงโดย "กองแก้วจินดา" หน่วยทหารโบราณในสังกัดทหารปืนใหญ่ จำนวนสลุตเป็นไปตามพระฤกษ์ที่โหรหลวงคำนวณตามกำลังวัน โดยจะยิงสลุตในขณะสรงน้ำมุรธาภิเษกและขณะทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์, ขัตติยราชวราภรณ์, และพระแสง[1]

ประวัติ

การยิงปืนใหญ่เป็นสัญญาณเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยในสงคราม มีมาแต่สมัยอยุธยา ปืนมหาฤกษ์ใช้ยิงเมื่อเริ่มการเดินทัพเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย และปืนมหาชัยใช้ยิงเมื่อได้รับชัยชนะเพื่อต้อนรับกองทหารที่ได้ชัยกลับมา[2]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างปืนใหญ่ขนาดเล็กใช้ในการพระฤกษ์ ประกอบด้วย ปืนมหาฤกษ์, ปืนมหาชัย, ปืนมหาจักร, และปืนมหาปราบยุค ตั้งบนรางเกวียน เรียกว่า "ปืนรางเกวียน" เพื่อใช้ยิงสลุตในการพระราชพิธีสำคัญ อย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเป็นการหล่อปืนขึ้นมาใหม่ทดแทนปืนใหญ่ซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกัน[3]: 118 

ปืนใหญ่

 
ปืนใหญ่ยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัยทั้งสี่กระบอก

ปืนยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัยมีทั้งหมด 4 กระบอก ประกอบด้วย ปืนมหาฤกษ์, ปืนมหาชัย, ปืนมหาจักร, และปืนมหาปราบยุค ตัวกระบอกปืนหล่อขึ้นในประเทศไทย ทำมาจากทองเหลืองผสมทองแดง, ตะกั่ว, และดีบุก ตามรูปแบบสากล เช่นเดียวกับปืนใหญ่ของต่างชาติ ในสมัยนั้น ปืนใหญ่ประกอบเข้ากับชุดแท่นล้อลากปืน หรือรางเกวียน มีกล่องเก็บกระสุน, ดินปืน, และชุดเครื่องอุปกรณ์การยิง อันถือเป็นภูมิปัญญาฝีมือช่างไทยในอดีต โดยชื่อของปืนใหญ่ทั้ง 4 กระบอกนั้นเป็นมงคลนาม จากคติความเชื่อที่ใช้ในการตั้งชื่อปืนใหญ่สำคัญประจำพระนคร หรือราชอาณาจักร อันสืบต่อมานับตั้งแต่สมัยอยุธยาสู่สมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ[4]

ปืนมหาฤกษ์ นามมีปรากฏในสมัยอยุธยา หมายถึง ช่วงเวลาอันเป็นสวัสดิมงคลสูงสุด ใช้ยิงเพื่อประกาศเริ่มพิธีมงคล รวมทั้งเพื่อเป็นอาณัติสัญญาณ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับราษฎร

ปืนมหาชัย นามมีปรากฏในสมัยอยุธยา หมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ใช้ยิงเป็นการประกาศฉลองชัยชนะ และความสำเร็จ โดยนับแต่โบราณจะใช้ยิงควบคู่ไปกับปืนมหาฤกษ์

ปืนมหาจักร นามมีปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ หมายถึง จักรศัตราวุธแห่งองค์พระนารายณ์ ใช้ยิงเพื่อเป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะสมมุติเทพ พระนารายณ์อวตาร เพื่อทำลายเหล่าอธรรมศัตรูทั้งหลาย ด้วยจักรศัตราวุธของพระองค์ รวมทั้งจักร ยังเป็นสัญลักษณ์ของเหล่าทหารไทยด้วยเช่นกัน

ปืนมหาปราบยุค นามมีปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ หมายถึง การทำให้สิ้นลงหรือเอาชนะความเดือดร้อนทุกข์ยากแห่งยุคสมัย ใช้ยิงเพื่อเป็นการประกาศพระราชกรณียกิจของ องค์พระมหากษัตริย์ด้วยการปกครองรักษาไว้ซึ่ง ความเป็นธรรม ตามคติความเชื่อของฮินดูที่ว่าเมื่อใดศีลธรรมของมนุษษย์เสื่อมลงจนสังคมเดือดร้อนไปทั่ว เมื่อนั้น พระนารายณ์จะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญ[5]

การใช้งาน

 
กองทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ยิงสลุตจากปืนมหาปราบยุคในระหว่างสรงน้ำมูรธาภิเษกของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

การยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัยถูกนำไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493 ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร: เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเศวตพัสตร ทรงสะพักขาวขลิบทอง ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ (ตั่งไม้มะเดื่อ) ภายในมณฑปพระกระยาสนาน เพื่อทรงรับน้ำสรงจากสหัสธารา ขณะทรงสรงพระมุรธาภิเษก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร มโหระทึกและเครื่องดุริยางค์ กองแก้วจินดายิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค 21 นัด (ตามกำลังวันศุกร์) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว: เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม มีการประกอบพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี ได้แก่ การสรงน้ำพระมุรธาภิเษก, ทรงรับน้ำอภิเษก, และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง

ในระหว่างพระราชพิธีได้จัดให้มีกองแก้วจินดาจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ถวายความเคารพ กองทหารยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค 10 นัด (ตามกำลังวันเสาร์) รวมเป็น 40 นัด จังหวะการยิงจะห่างกัน 10 วินาที ใช้เวลายิงรวม 40 นัด 6 นาที 30 วินาที เพื่อเฉลิมพระเกียรติ บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าตึกสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง[6][7]

การยิง

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กองแก้วจินดาจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์เป็นผู้ยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัย โดยผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่ยิงสลุตสั่ง "กองร้อย ประจำตำแหน่ง" ผู้บังคับหมู่, พลลำกล้อง, พลบรรจุ, และพลชนวน ตบเท้าออกไปยืนประจำตำแหน่งข้างปืน ต่อมา ผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่ยิงสลุตสั่ง "กองร้อย บรรจุ" พลลำกล้องจึงเริ่มทำความสะอาดลำกล้องปืนและรังเพลิง หลังจากนั้นพลบรรจุ นำกระสุนซึ่งทำจากดินดำบรรจุลงในลำกล้อง โดยใช้ไม้ทองเหลืองดันลูกกระสุนจนสุดรังเพลิง จากนั้น พลชนวนนำเหล็กเจาะลงรูชนวน จนทะลุกระดาษสา และนำชนวนซึ่งทำจากผ้าชุบดินประสิวใส่ลงไป รอฟังคำสั่งยิง ผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่ยิงสลุตสั่ง "ยิง" จะทำการยิงปืนใหญ่ยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัย[8][9]

อ้างอิง

  1. ราชาภิเษก : 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10
  2. ยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  3. กระทรวงวัฒนธรรม. ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชภิเษก. 2562.
  4. ราชาภิเษก : 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10
  5. ปืนใหญ่โบราณ 4 กระบอก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  6. ทบ.ยิงปืนใหญ่โบราณ "มหาฤกษ์–มหาชัย–มหาจักร–มหาปราบยุค" ถวายพระเกียรติ "ร.10" ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  7. เชิญปืนใหญ่โบราณอายุกว่า 150 ปี ยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10
  8. การฝึกซ้อมยิงสลุตปืนใหญ่โบราณ 4 กระบอก
  9. จิรายุ จูฑะพุทธิ. ปืนใหญ่โบราณ - กระสุนดินดำ ยิงสลุตพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. พีพีทีวี.