ท่านผู้หญิงพัน[1] ลางแห่งสะกดว่า พรรณ์[2] (พ.ศ. 2364 – 21 มิถุนายน พ.ศ. 2430) เป็นภรรยาเอกคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ท่านผู้หญิง
พัน
Siamese lady of title, wife of Prime Minister, Bangkok, Siam Wellcome L0055546.jpg
เกิดพัน (หรือ พรรณ์)
พ.ศ. 2364
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
เสียชีวิต21 มิถุนายน พ.ศ. 2430 (66 ปี)
อาณาจักรสยาม
สัญชาติสยาม
คู่สมรสสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)
บิดามารดา
  • พระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง) (บิดา)
  • บัว (มารดา)

ประวัติแก้ไข

ท่านผู้หญิงพันเกิดราว พ.ศ. 2364[2] เป็นธิดาของพระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง) ต้นสกุลบุรานนท์[1][3] กับมารดาชื่อบัว[1][2] และเป็นหลานสาวของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ซึ่งสืบเชื้อสายจากเฉกอะหมัด ขุนนางแขกเจ้าเซ็นแต่ยุคกรุงเก่า[4] ท่านสมรสกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งทั้งคู่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน[5] ในงานเขียนของแอนนา ลีโอโนเวนส์ สตรีชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งเข้ามาถวายงานเป็นพระอาจารย์ในราชสำนักสยาม ระหว่างปี พ.ศ. 2405-2410 ได้กล่าวถึงเรื่องการสมรสของทั้งคู่นี้ไว้ว่า "...เขาแต่งงานกับเธอหลังเลิกรากับคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันมาหลายปี..."[6] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งให้เธอเป็น ท่านผู้หญิง[2] ท่านผู้หญิงพันมีน้องสาวร่วมอุทรคนหนึ่งชื่อ หยาด เป็นอดีตภรรยาของนายรักษ์ภูวนารถ (หยอด บุนนาค) หลังสามีถึงแก่กรรมจึงเข้ามาเป็นภรรยาอีกคนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ร่วมกันกับท่านผู้หญิงพัน[1][2]

แอนนา ลีโอโนเวนส์ อธิบายถึงบุคลิกลักษณะของท่านผู้หญิงพันไว้ว่า "คุณหญิงพันไม่ใช่ทั้งคนสวยหรือสง่างาม แต่เป็นแม่บ้านแม่เรือนและอารมณ์เย็นที่สุด ตอนเจอกันครั้งแรกเธอน่าจะอายุราว 40 ปี ตัวล่ำหนา ผิวคล้ำ เสน่ห์เดียวของเธอคือสายตากับวาจาที่อ่อนโยน...คุณหญิงพันรักดอกไม้เป็นชีวิตจิตใจซึ่งเธอถือว่าเป็นลูกรัก"[6][7] และยังเป็นสตรีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมบรรดาอนุภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทุกคน "...สุภาพสตรีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในครัวเรือนท่านมหาเสนาบดีมีความปรานีต่อบรรดาสาวน้อยในฮาเร็มสามีเธอ เธอใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของพวกนางอย่างฉันมิตรที่สุด ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกนางอย่างผาสุกเหมือนแม่กับลูกสาว ต่างไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมักแก้ต่างให้พวกนางกับสามี ผู้ที่เธอต้องอาศัยการโน้มน้าวเชิงบวกอย่างละเอียดรอบคอบ"[6][7] และยังกล่าวอีกว่า ท่านผู้หญิงพันจัดการรับบุตรของสามีที่ไม่ยอมรับเพราะเป็นบุตรที่เกิดกับอดีตภรรยามาเป็นบุตรบุญธรรม ด้วยเกิดความเห็นอกเห็นใจในความผิดพลาดของภรรยาเก่า และทดแทนความรวดร้าวว่างเปล่าของตัวท่านเอง แอนนาชื่นชมอีกว่า ท่านผู้หญิงพันคือผู้ร้อยรัดความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับบุตรในสายเลือด ที่แม้จะไม่ใช่บุตรแท้ ๆ ของท่านผู้หญิงก็ตาม อันเป็นสายใยความผูกพันที่ละเอียดอ่อนแต่ไม่เปราะบาง[8]

ท่านผู้หญิงพันเคยกล่าวอุทานเชิงเยาะเย้ยว่า "โถพ่อคุณ พ่อจะอยู่ไปได้สักกี่วัน" กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งกำลังประชวรด้วยไข้ป่า ในงานพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระประชวรและเสียพระราชหฤทัยจนไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง เหตุที่ท่านผู้หญิงพันกล้ากล่าวกับเจ้านายชั้นสูงได้เช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ช่วงต้นรัชกาล[7]

ท่านผู้หญิงพันมีความชราภาพ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2430 เมื่ออายุ 66 ปี (ราชกิจจานุเบกษาระบุว่าเมื่ออายุ 69 ปี)[9] พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2440 ส่วนเรือนทรงจัตุรัสและครัวของท่านผู้หญิงพันถูกรื้อไปและได้แปรสภาพเป็นสถานศึกษาตามความประสงค์ของท่าน เพราะท่านไม่มีบุตร ปัจจุบันที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา[5]

อ้างอิงแก้ไข

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 3 สกุลเฉกอะหมัด ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (PDF). 2473. p. 1, 33. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 เครือญาติสกุลบุนนาค ลำดับแต่พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) (PDF). พระนคร: การพิมพ์พาณิชย์. 2497. p. 33. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  3. เครือญาติสกุลบุนนาค ลำดับแต่พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) (PDF). พระนคร: การพิมพ์พาณิชย์. 2497. p. 13. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  4. "ราชินิกุล". ชมรมสายสกุลบุนนาค. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 "ถิ่นฐานและบ้านเรือนของสกุลบุนนาค". ชมรมสายสกุลบุนนาค. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 ""ฮาเร็ม" ของ "เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์" จากบันทึกแหม่มแอนนา จริงหรือที่สภาพ "น่าเวทนานัก"". ศิลปวัฒนธรรม. 19 มกราคม 2565. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 "เมื่อภรรยาท่านช่วง…กล่าวเย้ยรัชกาลที่ 5". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (Matichon Academy). สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ลีโอโนเวนส์, แอนนา แฮร์เรียต (เขียน), สุภัตรา ภูมิประภาสและสุภิดา แก้วสุขสมบัติ (แปล). อ่านสยามตามแอนนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562, หน้า 58-59
  9. "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 5 (ตอน 11): หน้า 112. 2 สิงหาคม 1888. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2021.