พลาสติกกันกระแทก

พลาสติกกันกระแทก หรือ บับเบิ้ลแรป เป็นวัสดุพลาสติกใสยืดหยุ่นได้ซึ่งใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับห่อสิ่งของที่เปราะบางแตกหักง่าย มีคุณสมบัติการดูดซับแรงกระแทกเกิดจากฟองอากาศ (กระเปาะอากาศ) ที่มีขนาดสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับแผ่นโฟมหรือกระดาษลูกฟูกทำ แต่พลาสติกกันกระแทกมีความยืดหยุ่นในการห่อหุ้มมากกว่า และอาจนำไปรีไซเคิลได้ดีกว่า

แผ่นพลาสติกกันกระแทก

"Bubble wrap" (บับเบิ้ลแรป) เป็นเครื่องหมายการค้าทั่วไปของ บริษัท ซีลด์แอร์ (Sealed Air Corporation)[1] โดยในปีพ. ศ. 2500 จากความคิดในการสร้างวอลล์เปเปอร์พลาสติกสามมิติ ของนักประดิษฐ์สองคนชื่อ Alfred Fielding และ Marc Chavannes แม้ว่าความคิดนี้ล้มเหลว แต่ได้พบว่าสิ่งที่พวกเขาทำขึ้นสามารถใช้เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ได้ หลังจากนั้นบริษัท Sealed Air ได้ถูกก่อตั้งโดย Fielding ในปีพ. ศ. 2503[2]

ซึ่งชือบับเบิ้ลแรปนี้ ได้ถุกนำไปใช้เป็นชื่อสามัญของพลาสติกกันกระแทกหรือสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันเช่น บับเบิ้ลแพ็ค [note 1] [3] แอร์บับเบิ้ลแพ็ค บับเบิ้ลแรปปิ้ง หรือ แอโรพลาสต์ ทั้งที่ในความเป็นจริง บับเบิ้ลแรป (Bubble Wrap และ BubbleWrap) ยังคงเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ Sealed Air[4] [5]

การออกแบบ แก้

 
พลาสติกกันกระแทกมาตรฐานและมีเครื่องหมายสีเป็น วัสดุป้องกันไฟฟ้าสถิต และขนาดกระเปาะที่ต่างกัน

กระเปาะอากาศที่ช่วยกันกระแทกสำหรับวัตถุที่เปราะบางหรือแตกหักง่ายบนแผ่นพลาสติกกันกระแทก โดยทั่วไปมีให้เลือกหลายขนาดขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของวัตถุที่บรรจุ และระดับความจำเป็นในการป้องกันการกระแทก อาจจำเป็นต้องใช้หลายชั้นเพื่อเพิ่มการป้องกันการกระแทก และการสั่นสะเทือน ในขณะที่การใช้ชั้นเดียวอาจใช้เพื่อช่วยป้องกันพื้นผิวของวัตถุที่บรรจุ นอกจากเป็นแผ่นแล้ว พลาสติกกันกระแทกยังออกแบบให้อยู่ในรูปซองหรือถุงในหลายขนาด

พลาสติกกันกระแทกมักขึ้นรูปจากแผ่นฟิล์มโพลีเอทิลีน ( LDPE ) โดยการประกบกันของแผ่นฟิล์มตั้งแต่ 2 แผ่นขี้นไป โดยทั่วไปจะใช้สองแผ่นคือ แผ่นฟิล์มแบบเรียบ และแผ่นฟิล์มที่ขึ้นรูปนูน กดประกบติดกันด้วยความร้อน หลังจากการประกบติดกันอากาศจะถูกขังในส่วนที่นูนพองซึ่งเล็ดลอดออกมาได้ยาก[6] มีลักษณะเป็นกระเปาะอากาศพลาสติกกันกระแทกบางประเภทมีฟิล์มกันการรั่วซึมออกของอากาศ เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะการทนทานต่อสภาวะที่มีแรงดันอากาศต่ำมากหรือสภาวะไร้แรงดันอากาศ (vacuum)

ฟองอากาศบนพลาสติกกันกระแทก โดยทั่วไปมีขนาดเล็กถึง 6 มิลลิเมตร (0.24 นิ้ว) และใหญ่ถึง 26 มิลลิเมตร (1.0 นิ้ว) หรือมากกว่า เพื่อเพิ่มระดับการดูดซับแรงกระแทกระหว่างการขนส่ง ขนาดฟองที่พบมากที่สุดหรือขนาดมาตรฐาน คือ 1 เซนติเมตร[ต้องการอ้างอิง]

ระดับการป้องกันแรงกระแทก นอกจากจะได้จากขนาดของฟองอากาศในพลาสติกกันกระแทกแล้ว คุณสมบัติทางวัสดุของพลาสติกในแบบต่าง ๆ ยังสามารถให้การปกป้องจากปัญหาอื่น ๆ เช่น การป้องกันการสะสมของไฟฟ้าสถิตย์ เมื่อจัดส่งชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่ละเอียดอ่อนจะมีการใช้พลาสติกกันกระแทกที่ช่วยกระจายประจุไฟฟ้าสถิต จึงช่วยปกป้องจากไฟฟ้าสถิตซึ่งอาจทำให้ชิปอิเล็กทรอนิกส์เกิดความเสียหายได้ หนึ่งในการใช้พลาสติกกันกระแทกที่แพร่หลายครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2503 ในการจัดส่งคอมพิวเตอร์ IBM 1401 ซึ่งขณะนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นวัสดุบรรจุภัณฑ์นี้มาก่อน[7]

ความบันเทิง แก้

 
การเล่นกดฟองอากาศของพลาสติกกันกระแทก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเล่นในภาษาไทยว่า แผ่นเป๊าะแป๊ะ

เนื่องจากการบีบกระเปาะอากาศบนพลาสติกกันกระแทกให้แตก ทำให้เกิดเสียงที่สร้างความรู้สึกสบายใจ จึงมักใช้เป็นแหล่งระบายอารมณ์ หรือแหล่งบันเทิง จากการรับรู้ถึงการใช้งานลักษณะนี้ ทำให้มีเว็บไซต์บางแห่งตอบสนองความต้องการโดยการสร้างโปรแกรมพลาสติกกันกระแทกเสมือนจริง ซึ่งผู้ใช้คลิกที่รูปกระเปาะอากาศและฟังเสียงฟองอากาศแตก ในขณะที่ Mugen Puchipuchi เป็นของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกะทัดรัดที่จำลองเสียงการแตกของฟองอากาศ

Bubble Wrap Appreciation Day มีการเฉลิมฉลองในวันจันทร์สุดท้ายของเดือนมกราคมทุกปี[8] [9] โดยสถานีวิทยุแห่งหนึ่งใน บลูมมิงตัน รัฐอินเดียนา ซึ่งได้รับการจัดส่งไมโครโฟนที่ห่อด้วยพลาสติกกันกระแทก ซึ่งหลังจากแกะห่อออกนั้นมีกระเปาะอากาศแตกและเสียงได้ออกอากาศโดยบังเอิญ

ในประเทศไทย แผ่นพลาสติกกันกระแทกมีชื่อเล่นในภาษาไทยว่า แผ่นเป๊าะแป๊ะ จากเสียงแตกนี้

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุน แก้

ในปี 2558 Sealed Air ได้ตัดสินใจที่จะสร้างพลาสติกกันกระแทกแบบใหม่ เรียกในขณะนั้นว่า iBubble ซึ่งจะไม่สามารถบีบแตกได้ ปัจจุบันมีการใช้งานพลาสติกกันกระแทกแบบใหม่นี้อย่างแพร่หลายที่เรียกว่า ถุงพองลมกันกระแทก (Inflatable air cushion) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ทำจากแผ่นพลาสติกประกบกันและสูบลมเข้าไปให้ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อจะใช้งาน เพื่อประหยัดพื้นที่ในการเก็บ ลดค่าขนส่งและค่าเก็บรักษาที่สูงแบบพลาสติกกันกระแทก(แบบฟอง)[10] และยังอาจสามารถนำกลับมาใช้ได้หลายรอบ ต่างจากพลาสติกกันกระแทกที่เมื่อกระเปาะอากาศเสียหายจะไม่สามารถกันกระแทกได้อย่างเดิม[11] ถุงพองลมกันกระแทกช่วยในการลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิตบรรจุภัณฑ์กันกระแทกได้มากกว่าแผ่นพลาสติกกันกระแทก เนื่องจากกระเปาะอากาศของถุงพองลมที่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ช่วยลดการใช้ซ้ำ ๆ หลายชั้นหรือในการเติมเต็มช่องว่างในกล่องพัสดุ

อย่างไรก็ตาม พลาสติกกันกระแทกนับเป็นส่วนหนึ่งของขยะบรรจุภัณฑ์ (packing waste) ที่รวมถึงขวดพลาสติก ภาชนะอาหารพลาสติก ถุงพลาสติก ซึ่งขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีสัดส่วนเป็นอันดับต้นของขยะพลาสติก ที่มีปริมาณมากถึง 146 ล้านตันโดยประมาณในปีค.ศ. 2015[12] และคาดว่าจะมีปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นมากจากรูปแบบการค้าปลีกออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ที่ต้องอาศัยการจัดส่งพัสดุแบบแบ่งย่อยเป็นจำนวนมาก

พลาสติกกันกระแทกสามารถนำกลับไปใช้เป็นวัสดุพลาสติกได้ (รีไซเคิล) เช่นเดียวกับขวดพลาสติก และภาชนะพลาสติก ซึ่งต้องการการจัดการเก็บรวบรวมกลับสู่ขบวนการรีไซเคิลตามปกติ ในลักษณะเดียวกับการเก็บรวบรวมกระดาษ แต่พลาสติกกันกระแทกบางประเภทยังไม่สามารถรีไซเคิลตามปกติโดยตรง คือ ซองกันกระแทก ซึ่งเป็นส่วนผสมของกระดาษและแผ่นพลาสติกกันกระแทกซึี่งต้องใช้แรงงานในการแยกส่วน และมีบางส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เลย อย่างไรก็ตามพลาสติกกันกระแทกมีข้อดีกว่าแผ่นโฟมห่อพัสดุ เนื่องจากโฟมมีความหนาแน่นต่ำซึ่งทำให้รีไซเคิลได้ยาก และคุณสมบัติน้ำหนักเบาที่ต้องใช้พื้นที่มากกว่าในกระบวนการจัดเก็บก่อนการรีไซเคิล[6]

ในการตัดวงจรขยะพลาสติก มีการคิดค้นกระดาษรังผึ้งสำหรับกันกระแทก (Honeycomb Cushioning Wrap Perforated-Packing) ซึ่งเป็นกระดาษกันกระแทกที่ถูกออกแบบโครงสร้างมาให้ใช้งานได้ง่าย โดยเป็นกระดาษห่อ จัดเก็บได้ในพื้นที่จำกัด เมื่อใช้งานโดยดึงขยายแผ่นกระดาษออกและที่ปรุไว้จะเปลี่ยนโครงสร้างเป็นสามมิติมีรูปทรงคล้ายรังผึ้ง (ซึ่งต่างจากกระดาษลูกฟูกที่ตายตัวจากโรงงานและมีลักษณะเป็นลอน) [13][14] สามารถรองรับการใช้งานในลักษณะของการห่อได้ในแบบเดียวกับแผ่นพลาสติกกันกระแทก

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. The term "bubble pack" can also refer to a blister pack
  1. Petch, Michael (December 2, 2019). "The hype and rise of 3D printing and Avi Reichental". 3DPrintingIndustry.com. สืบค้นเมื่อ December 17, 2019.
  2. "Bubble Film and Bags". Packaging Knowledge. สืบค้นเมื่อ September 28, 2010.
  3. "Bubble pack". Your Dictionary. สืบค้นเมื่อ July 19, 2014.
  4. "BUBBLE WRAP - Trademark Details". Justia Trademarks. สืบค้นเมื่อ June 20, 2017.
  5. "BUBBLEWRAP - Trademark Details". Justia Trademarks. สืบค้นเมื่อ June 20, 2017.
  6. 6.0 6.1 Rajapack. How is bubble wrap made? สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2563.
  7. Time-Life Books (Aug 2016). American Inventions: Big Ideas That Changed Modern Life. Liberty Street. ISBN 9781683306313.
  8. River, Nate (January 26, 2009). "For Stress Release: Bubblewrap Appreciation Day". Regular Folks United. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 20, 2012. สืบค้นเมื่อ September 23, 2009.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  9. "Bubble Wrap Appreciation Day". Sealed Air North America. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 24, 2011. สืบค้นเมื่อ February 27, 2011.
  10. Techhub บอกลา”แผ่นกันกระแทก”แบบเก่าได้ เมื่อผู้ผลิตเตรียมทำแบบใหม่ให้บีบเล่นไม่ได้แล้ว 5 กรกฎาคม 2558.
  11. Catdumb ผู้ผลิต Bubble Wrap เตรียมทำรุ่นใหม่แบบ ‘บีบเล่นไม่ได้’ งานนี้แทบร้องไห้!! เก็บถาวร 2020-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 3 กรกฎาคม 2558.
  12. Ritchie, Hannah; Roser, Max (September 1, 2018). "Plastic Pollution". Our World in Data. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2563.
  13. กระดาษห่อพัสดุรังผึ้ง สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2563.
  14. SolidSprout แผ่นกันกระแทกที่ไม่ใช่พลาสติก 14 ธันวาคม 2562.