พระเจ้าไชเมที่ 1 แห่งอารากอน
พระเจ้าไชเมที่ 1 (อารากอน: Chaime I; สเปน: Jaime I; กาตาลา: Jaume I) หรือ ไชเมผู้พิชิต (อารากอน: Chaime o Conqueridor; สเปน: Jaime el Conquistador; กาตาลา: Jaume el Conqueridor) เป็นกษัตริย์แห่งอารากอน, มาจอร์กา และบาเลนเซีย (ค.ศ. 1208–1276) และเคานต์แห่งบาร์เซโลนา (ค.ศ. 1214–1276) เป็นบุคคสำคัญในการพิชิตดินแดนกลับคืนมา (หรือเรกองกิสตา) ของอารากอนและกาตาลุญญา
พระเจ้าไชเมที่ 1 | |
---|---|
กษัตริย์แห่งอารากอน, มาจอร์กา และบาเลนเซีย เคานต์แห่งบาร์เซโลนา | |
ประสูติ | 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1208 มงเปอลีเย |
สวรรคต | 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1276 |
พระมเหสี | เลโอนอร์แห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งอารากอน โยลานแห่งฮังการี สมเด็จพระราชินีแห่งอารากอน |
พระราชบุตร | บิโยลันแห่งอารากอน สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา พระเจ้าเปโดรที่ 3 แห่งอารากอน พระเจ้าไชเมที่ 2 แห่งมาจอร์กา อิซาเบลแห่งอารากอน สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส และอื่น ๆ |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์บาร์เซโลนา |
พระราชบิดา | พระเจ้าเปโดรที่ 2 แห่งอารากอน |
พระราชมารดา | มารีแห่งมงเปอลีเย |
วัยเยาว์
แก้พระเจ้าไชเมที่ 1 เสด็จพระราชสมภพที่มงเปอลีเยในเคาน์ตีตูลูซเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1208 โดยเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเปโดรที่ 2 แห่งอารากอนกับพระนางมารีแห่งมงเปอลีเย พระองค์มีสองสายเลือดสำคัญอยู่ในตัว คือ สายเลือดราชวงศ์บาร์เซโลนาของอารากอน และสายเลือดจักรพรรดิไบแซนไทน์ที่ได้มาจากพระราชมารดา ทรงมีช่วงชีวิตในวัยเด็กที่ยากลำบากเมื่อพระเจ้าเปโดรไม่แยแสพระราชินีของพระองค์เอง ทำให้ขุนนางและนักบวชส่วนหนึ่งกลัวว่าพระองค์จะไม่มีทายาทจึงร่วมมือกันวางแผนให้พระเจ้าเปโดรหลับนอนกับพระนาง โดยหลอกพระองค์ให้เชื่อว่าพระนางคือคนรักของพระองค์ แม้จะทำให้มารีตั้งครรภ์ได้สำเร็จ แต่พระเจ้าเปโดรกลับละเลยไชเมน้อยและตกลงส่งตัวพระราชโอรสให้แก่ซีมง เดอ มงฟอร์ เพื่อให้ตนเองได้สมรสกับอามีซี ธิดาของเดอ มงฟอร์
พระเจ้าเปโดรได้จับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มนอกรีตแอลบิเจนเซียน เสด็จสวรรคตในระหว่างการต่อสู้กับอัศวินครูเสดที่ถูกส่งมาทำสงครามกับฝ่ายของพระองค์ในสมรภูมิมูว์แร (ค.ศ. 1213) ในช่วงสงครามครูเสดแอลบิเจนเซียน (ค.ศ. 1209–1229) ซึ่งขณะนั้นไชเมมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษาและอยู่ที่การ์กาซอนในราชอาณาจักรฝรั่งเศส ในกำมือของซีมง เดอ มงฟอร์ ผู้นำกลุ่มอัศวินครูเสด
พระองค์ได้รับการปล่อยตัวในเดือนเมษายน ค.ศ. 1214 และได้รับการยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอารากอนและกาตาลุญญาภายใต้การคุ้มครองของกลุ่มอัศวินเทมพลาร์ในมอนซอน พระองค์อยู่ในการดูแลและได้รับการศึกษาโดยอัศวินกลุ่มดังกล่าว โดยมีซันโช เคานต์แห่งรูซียง พระปิตุลาของพระราชบิดาผู้ล่วงลับทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน กระทั่งในปี ค.ศ. 1218 ซันโชได้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากถูกต่อต้านจากกลุ่มขุนนางส่วนหนึ่งของอารากอนและกาตาลุญญา การก่อกบฏที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นทำให้พระเจ้าไชเมตกอยู่ในอันตรายหลายต่อหลายครั้ง ประสบการณ์อันยากลำบากเหล่านั้นได้หล่อหลอมอุปนิสัยของพระองค์ขึ้นมา ทำให้พระองค์ไม่เกรงกลัวใครมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย ทรงต่อสู้กับขุนนางอารากอนแบบตัวต่อตัวและมีส่วนร่วมในสงครามสำคัญต่าง ๆ
การพิชิตดินแดนกลับคืนมา
แก้ในปี ค.ศ. 1227 พระเจ้าไชเมเข้ามาบริหารราชอาณาจักรของพระองค์อย่างเต็มรูปแบบ หนึ่งในการเคลื่อนไหวแรก ๆ ที่พระองค์ตัดสินใจทำด้วยพระองค์เองคือการโจมตีป้อมปราการเปนิสโกลาที่อยู่ในการครอบครองของชาวมุสลิมในปี ค.ศ. 1225 ซึ่งประสบความล้มเหลว การสู้รบกับมุสลิมสเปนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรัชสมัยของพระองค์ ทรงเริ่มการทำสงครามพิชิตดินแดนกลับคืน (หรือเรกองกิสตา) มาครั้งแรกด้วยหมู่เกาะแบลีแอริก การพิชิตเกาะมาจอร์กาประสบความสำเร็จได้ด้วยแรงสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นจากเมืองต่าง ๆ ของกาตาลุญญาที่มั่งคั่งร่ำรวยในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1229 จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1231 มินอร์กายอมรับพระมหากษัตริย์ชาวคริสต์ในปี ค.ศ. 1231 และอิบิซาถูกพิชิตในปี ค.ศ. 1235 ราชอาณาจักรไตฟาบาเลนเซียแตกให้แก่การสู้รบอันยืดเยื้อต่อเนื่องที่ดำเนินมาตั้งแต่ ค.ศ. 1233 จนพิชิตเมืองหลวงได้ในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1238 และปราบทั้งราชอาณาจักรได้อย่างราบคาบในปี ค.ศ. 1245 ผิดกับสถานการณ์ในมาจอร์กา ชาวมุสลิมที่ยอมสิโรราบในบาเลนเซียได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้และได้ให้กำเนิดประชากรชาวมูเดฆาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ก่อความวุ่นวายในช่วงระหว่างปี ค.ศ 1245–1277 แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว การปฏิวัติแบบเดียวกันของชาวมูเดฆาร์ในอันดาลูซิอาและมูร์เซียต่อเจ้าเหนือหัวชาวกัสติยาทำให้พระเจ้าไชเมต้องยื่นมือเข้าไปแทรกแซงในนามตัวแทนของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยาผู้เป็นพระราชบุตรเขย ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1265 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1266 มูร์เซียถูกกำราบและถูกส่งคืนแก่พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10
ผู้ชนะในการพิชิตดินแดนกลับคืนมาในคาบสมุทรไอบีเรียยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำสงครามครูเสดในละตินตะวันออก ในปี ค.ศ. 1245/1246 และในปี ค.ศ. 1260 พระองค์เริ่มวางแผนการเคลื่อนไหวทางทหารในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก แต่สงครามเกิดขึ้นจริงในปี ค.ศ. 1269 ในเดือนกันยายนของปีนั้นมีการระดมพลอัศวินราว 800 นายกับทหารราบหลายพันนาย และทหารรับจ้างกาตาลุญญาร่วมกับกองเรือขนาดใหญ่ ทว่าสภาพอากาศอันเลวร้ายเป็นหายนะร้ายของการสู้รบ อัศวินครูเสดหลายคนรวมถึงกษัตริย์ได้ถอยทัพกลับ จากเรือที่มีมากกว่า 30 ลำมีเพียง 21 ลำซึ่งบรรทุกอัศวิน 424 นายที่ไปถึงเอเคอร์ (หรืออักโกในอิสราเอล) กำลังพลครึ่งหนึ่งที่ถูกทิ้งให้รับฟังข่าวร้ายของกษัตริย์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ โดยอยู่ภายใต้การนำของเปโดร เฟร์นันเดซ บุตรชายนอกกฎหมายของพระเจ้าไชเม และได้เข้าร่วมป้องกันเมืองจากกลุ่มมัมลูกอยู่หลายอาทิตย์ ก่อนเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนในช่วงต้นปี ค.ศ. 1270
การอภิเษกสมรสและทายาท
แก้พระเจ้าไชเมที่ 1 อภิเษกสมรสสองครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1221 ในกรานาดา กับเลโอนอร์ พระราชธิดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 แห่งกัสติยา แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1229 การสมรสถูกประกาศให้เป็นโมฆะด้วยเหตุผลว่าเป็นการสมรสกันในเครือญาติใกล้ชิด ทั้งคู่มีพระราชโอรสด้วยกันหนึ่งคน คือ
- อัลฟอนโซแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1222) เป็นทายาทในราชบัลลังก์แต่สิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา
พระองค์อภิเษกสมรสครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1235 ในบาร์เซโลนา กับโยลาน พระราชธิดาของพระเจ้าอ็อนดราชที่ 2 แห่งฮังการี ทั้งคู่มีพระราชบุตรด้วยกันหลายคน ดังนี้
- บิโอลันด์แห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1236) อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา
- กอนส์ตันซาแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1238) สมรสกับอินฟันเตมานูเอลแห่งกัสติยา
- ซันชาแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1239) สิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทางไปแสวงบุญในดินแดนศักดิ์สิทธิ์
- เปโดรมหาราช (ประสูติ ค.ศ. 1240) กษัตริย์แห่งอารากอนและบาเลนเซีย และเคานต์แห่งบาร์เซโลนา
- ไชเมที่ 2 แห่งมาจอร์กา (ประสูติ ค.ศ. 1243) กษัตริย์แห่งมาจอร์กา
- อิซาเบลแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1245) อภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส
- ซันโชแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1247) อาร์ชบิชอปแห่งโตเลโด
- เฟร์นันโดแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1248) สิ้นพระชนม์ตอน 3 พรรษา
- มารีอาแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1248) แม่ชี
นอกจากนี้พระองค์ยังมีสัมพันธ์ลับกับหญิงสาวหลายคนจนได้รับฉายาว่าเสือผู้หญิง
ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1248 จนถึง ค.ศ. 1262 พระเจ้าไชเมได้แบ่งราชอาณาจักรให้แก่พระราชโอรสที่เกิดจากโยลานแห่งฮังการี แต่กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งกลางเมืองครั้งรุนแรง ในการแบ่งราชอาณาจักรครั้งที่ 2 เปโดร พระราชโอรสคนโตและทายาทของพระองค์ได้อารากอน บาเลนเซีย และกาตาลุญญาไป ส่วนไชเม พระราชโอรสคนรองได้หมู่เกาะแบลีแอริก รูซียง และเคาน์ตีอื่น ๆ ที่อยู่ในเทือกเขาพีรินีไปโดยมีเปโดรเป็นเจ้าศักดินา การแบ่งราชอาณาจักรครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดทางการเมืองเพียงเรื่องเดียวของพระเจ้าไชเม สนธิสัญญากอร์เบล์ (ค.ศ. 1258) ทำให้พระองค์ต้องสละสิทธิ์ในฝรั่งเศสตอนใต้ อันเป็นการทิ้งนโยบายเก่าแก่ของราชวงศ์กาตาลุญญาที่พยายามขยายอำนาจข้ามเทือกเขาพีรินีมาอย่างช้านาน ทว่าพระองค์สามารถพัฒนาความสัมพันธ์และยกระดับการค้ากับรัฐต่าง ๆ ในแอฟริกาเหนือ และสร้างอนาคตที่ชัดเจนให้แก่ราชวงศ์ด้วยการจับเปโดร ทายาทของพระองค์สมรสกับคอนสแตนซ์แห่งซิซิลี ทำให้เพิ่มราชอาณาจักรซิซิลีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชบัลลังก์อารากอนได้อย่างง่ายดาย
ในปี ค.ศ. 1276 พระเจ้าไชเมที่ 1 ล้มป่วยหนักและเสด็จสวรรคตในบาเลนเซียในวันที่ 27 กรกฎาคมของปีนั้น หลังการสวรรคตของกษัตริย์ พระราชโอรสคนโตและทายาทของพระองค์ได้สืบทอดตำแหน่งปกครองอารากอน, กาตาลุญญา และบาเลนเซียในชื่อ พระเจ้าเปโดรที่ 3
อ้างอิง
แก้- Murray, Alan V. (2006). The Crusades: An Encyclopedia. ABC-CLIO. ISBN 1576078620, 9781576078624
- Sáez, Emilio. James I KING OF ARAGON. Britannica