มารีแห่งมงเปอลีเย

สมเด็จพระราชินีแห่งอารากอน (ค.ศ. 1182-1213)

มารีแห่งมงเปอลีเย (ฝรั่งเศส: Marie de Montpellier; อุตซิตา: Maria de Montpelhièr) เป็นเลดีแห่งมงเปอลีเย ทรงเป็นไวเคาน์เตสแห่งมาร์แซย์, เคานเตสแห่งกงแม็ง และพระราชินีแห่งอารากอนจากการสมรสสามครั้งตามลำดับ

มารี
ภาพการสมรสที่สมบูรณ์ของมารีกับพระเจ้าเปโดรที่ 2
เลดีแห่งมงเปอลีเย
พระราชินีคู่สมรสแห่งอารากอน
ครองราชย์15 มิถุนายน ค.ศ. 1204 – 21 เมษายน ค.ศ. 1213
ประสูติค.ศ. 1182
สิ้นพระชนม์21 เมษายน ค.ศ. 1213 (30–31 พรรษา)
พระสวามีแรมง ฌอแฟรที่ 2 แห่งมาร์แซย์
แบร์นาร์ที่ 4 แห่งกงแม็ง
พระเจ้าเปโดรที่ 2 แห่งอารากอน
พระบุตรมาทิลดา
เปโตรนิยา
อันฟันตาซันชา
พระเจ้าไชเมที่ 1 แห่งอารากอน
พระบิดากีโยมที่ 8 แห่งมงเปอลีเย
พระมารดาเอฟโดเกีย กอมนินี

ทายาทแห่งมงเปอลีเย

แก้

มารีแห่งมงเปอลีเยประสูติราวปี ค.ศ. 1182 ทรงเป็นธิดาของกีโยมที่ 8 ลอร์ดแห่งมงเปอลีเยกับเอฟโดเกีย กอมนินี หลานสาว (ลูกของพี่น้อง) ของจักรพรรดิมานูอีลที่ 1 กอมนินอสแห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์ ทั้งคู่สมรสกันภายใต้เงื่อนไขว่าบุตรคนแรกของทั้งคู่จะได้สืบทอดตำแหน่งลอร์ดแห่งมงเปอลีเยต่อจากกีโยม ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง มารีซึ่งเป็นบุตรคนโตของทั้งคู่จึงได้เป็นทายาทของบิดา

ทว่าในเดือนเมษายน ค.ศ. 1187 กีโยมที่ 8 บิดาของพระนางได้ทิ้งมารดาไปสมรสใหม่กับหญิงที่มีชื่อว่าอาแญ็สซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติของกษัตริย์แห่งอารากอน ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันแปดคนเป็นชายหกคนและหญิงสองคน แม้เอฟโดเกียจะบวชเป็นแม่ชีคณะเบเนดิกต์ แต่การสมรสครั้งที่สองของกีโยมได้ถูกประกาศให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้พี่น้องต่างมารดาทุกคนของมารีกลายเป็นบุตรนอกสมรส มารีจึงยังคงเป็นทายาทแห่งมงเปอลีเยต่อไป

การสมรสทั้งสามครั้ง

แก้

มารีสมรสครั้งแรกตอนพระชนมายุ 10 หรือ 11 พรรษาในปี ค.ศ. 1192 กับไวเคานต์แรมง ฌอแฟรที่ 2 แห่งมาร์แซย์ แต่ก็กลายเป็นม่ายในปลายปีนั้น บิดากับมารดาเลี้ยงจับพระนางสมรสใหม่อีกครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1197 กับเคานต์แบร์นาร์ที่ 4 แห่งกงแม็งและบังคับให้พระนางสละสิทธิ์ในมงเปอลีเยให้กีโยม บุตรชายที่เกิดจากอาแญ็ส มารีกับแบร์นาร์มีบุตรสาวด้วยกันสองคนคือมาทิลดากับเปโตรนิยา ทว่าพระองค์มีชีวิตสมรสแบบหนึ่งสามีหลายภรรยาเนื่องจากแบร์นาร์ยังอยู่กินกับภรรยาอีกคนสอง สุดท้ายการแต่งงานของทั้งคู่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะในปี ค.ศ. 1201 ส่งผลให้การสละสิทธิ์ในมงเปอลีเยของพระนางเป็นโมฆะไปด้วย แม้บิดาจะไม่ยอมรับว่าพระนางเป็นทายาทและแสดงออกเหมือนกีโยมเป็นทายาทของตนก็ตาม

เมื่อบิดาถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1202 กีโยมที่ 9 น้องชายต่างมารดาของมารีได้ทำการยึดอำนาจ แม้พระนางจะพยายามแสดงสิทธิ์ของตนแต่ก็ไม่เป็นผล วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1204 มารีสมรสใหม่อีกครั้งกับพระเจ้าเปโดรที่ 2 แห่งอารากอน ในวันเดียวกันนั้นชาวเมืองมงเปอลีเยได้ก่อปฏิวัติต่อกีโยมที่ 9 ทำให้มารีได้รับการยอมรับเป็นเลดีแห่งมงเปอลีเย ในการสมรสครั้งที่สามพระนางมีบุตรอีกสองคน คือ ซันชา พระธิดาที่สิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 1 พรรษา และไชเม พระโอรสที่ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าไชเมที่ 1 ผู้พิชิต พระเจ้าเปโดรที่ 2 เป็นสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระนาง พระองค์พยายามที่จะหย่ากับพระนางเพื่อสมรสใหม่กับมารีแห่งมอนแฟร์ราโต พระราชินีแห่งเยรูซาเลม แต่ก็ไม่อยากเสียดินแดนของมารีไปไว้ พระนางจึงต้องต่อสู้กับพระสวามี

แม้จะถูกทรยศครั้งแล้วครั้งเล่า แต่มารีมีผู้สนับสนุนคนสำคัญที่ไว้ใจได้หนึ่งกลุ่มกับอีกหนึ่งคน คือ กลุ่มอัศวินเทมพลาร์และสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ที่เข้าข้างมารีและไม่ยินยอมให้พระเจ้าเปโดรหย่า หลังเดินทางไปหาสมเด็จพระสันตะปาปาที่โรมมารีล้มป่วยและสิ้นพระชนม์ที่โรมในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1213 เป็นไปได้ว่าพระนางอาจถูกวางยาพิษ ไม่กี่เดือนต่อมาพระเจ้าเปโดรที่ 2 สิ้นพระชนม์ที่สมรภูมิมูว์แรในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1213 ไชเม พระโอรสคนเดียวของทั้งคู่สืบทอดตำแหน่งต่อทั้งในมงเปอลีเยและอารากอน

อ้างอิง

แก้