พระเจ้าเอ็งรีกึแห่งโปรตุเกส
พระคาร์ดินัล พระเจ้าเอ็งรีกึแห่งโปรตุเกส (โปรตุเกส: Henrique ; 31 มกราคม 1512 – 31 มกราคม 1580) ได้รับการถวายพระสมัญญาว่า ผู้บริสุทธิ์ (โปรตุเกส: o Casto) และ กษัตริย์พระคาร์ดินัล (โปรตุเกส: o Cardeal-Rei) ทรงเป็น พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกส ตุลาการศาลศาสนา และพระคาร์ดินัลแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งปกครองราชอาณาจักรโปรตุเกส ระหว่างปี ค.ศ. 1578 ถึง 1580 เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักบวช ทำให้ต้องทรงถือพรหมจรรย์ และไม่มีพระราชบุตรที่จะสืบราชสันตติวงศ์ต่อได้ ด้วยเหตุนี้ราชวงศ์อาวิชที่ปกครองดินแดนโปรตุเกสเป็นเวลาเกือบ 200 ปีสิ้นสุดลง การสวรรคตของพระองค์ทำให้เกิดวิกฤตการณ์การสืบราชบัลลังก์โปรตุเกส ค.ศ. 1580 และท้ายที่สุดก็เกิดการรวมราชบัลลังก์สเปนและโปรตุเกสเป็นสหภาพไอบีเรีย เป็นเวลายาวนาน 60 ปีที่โปรตุเกสมีพระมหากษัตริย์ร่วมกันกับราชอาณาจักรสเปน พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปของโปรตุเกสหลังสิ้นสุดสหภาพไอบีเรียคือ พระเจ้าฌูเอาที่ 4 ซึ่งทรงฟื้นฟูราชบัลลังก์ขึ้นใหม่ หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนอย่างยาวนาน
เอ็งรีกึ | |
---|---|
พระคาร์ดินัล | |
พระบรมสาทิสลักษณ์ ป. 1579 | |
พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึช | |
ครองราชย์ | 4 สิงหาคม ค.ศ. 1578 – 31 มกราคม ค.ศ. 1580 |
ราชาภิเษก | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1578 ลิสบอน |
ก่อนหน้า | ซึบัชตีเยา |
ถัดไป | อังตอนียู (พิพาท) หรือ ฟีลิปึที่ 1 |
พระราชสมภพ | 31 มกราคม ค.ศ. 1512 ลิสบอน ราชอาณาจักรโปรตุเกส |
สวรรคต | 31 มกราคม ค.ศ. 1580 (68 พรรษา) อัลไมริง ราชอาณาจักรโปรตุเกส |
ราชวงศ์ | อาวิช |
พระราชบิดา | พระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส |
พระราชมารดา | มารีอาแห่งอารากอน |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พระชนม์ชีพ
แก้พระเจ้าเอ็งรีกึเสด็จพระราชสมภพที่ ลิสบอน เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 5 ของพระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส และ มารีอาแห่งอารากอน [1]
พระคาร์ดินัล
แก้ในฐานะที่ทรงเป็นพระโสทรานุชาของพระเจ้าฌูเอาที่ 3 แห่งโปรตุเกส และเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในพระมหากษัตริย์ จึงไม่คาดคิดว่าอิงฟังตึเอ็งรีกึจะเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์โปรตุเกส ในช่วงต้นของพระชนม์ชีพ อิงฟังตึเอ็งรีกึทรงรับศีลบวช เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของโปรตุเกสในด้านคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของ สเปน พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์อย่างรวดเร็วตามลำดับชั้นของคริสตจักร โดยได้รับแต่งตั้งเป็น อัครมุขนายก(อาร์ชบิชอป)แห่งบรากา อัครมุขนายกแห่งเอโบรา และ ผู้พิพากษาสูงสุดศาลศาสนา ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1545 โดยมีสมณศักดิ์เป็น Santi Quattro Coronati ทรงเป็น อัครมุขนายกแห่งลิสบอน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1564 ถึง 1570 อิงฟังตึเอ็งรีกึทรงพยายามนำคณะเยซูอิตมายังโปรตุเกส เพื่อสนับสนุนกิจการศาสนาของพวกเขาในจักรวรรดิอาณานิคมของโปรตุเกส
รัชกาล
แก้อิงฟังตึเอ็งรีกึทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระเจ้าซึบัชตีเยา พระโอรสในพระราชภาติยะของพระองค์ แทนที่สมเด็จพระราชินีคาทารีนา พระเชษฐนีของพระองค์และพระอัยยิกาของพระเจ้าซึบัชตีเยา หลังจากพระนางทรงลาออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 1562 [2] [1] พระเจ้าซึบัชตีเยาเสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาทในยุทธการที่อัลกาเซอร์คิบีร์ ซึ่งประสบกับความหายนะในปี ค.ศ. 1578 และพระคาร์ดินัลชราผู้นี้ก็ได้รับการถวายราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น [1] พระเจ้าเอ็งรีกึทรงพยายามที่จะปลดเปลื้องคำปฏิญาณของคริสตจักรเพื่อที่พระองค์จะได้เสกสมรสและมีรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ราชวงศ์อาวิชสืบไป แต่สมเด็จพระสันตปาปาเกรกอรีที่ 13 ไม่ต้องการที่จะขัดแย้งกับพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน จึงไม่ได้ประทานพระอนุญาตให้พระองค์ปลดเปลื้องคำปฏิญาณนั้น [3] [4]
สวรรคตและการสืบสันตติวงศ์
แก้กษัตริย์พระคาร์ดินัลเสด็จสวรรคตในพระราชวังอัลไมริง ขณะทรงมีพระชนมายุได้ 68 พรรษา โดยไม่ได้ทรงสถาปนาผู้สืบราชบัลลังก์ เหลือเพียงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อดูแลราชอาณาจักรเท่านั้น [5] ผู้อ้างสิทธิ์ในราชวงศ์ที่ใกล้ชิดที่สุดพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ซึ่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1580 ทรงส่งดยุกแห่งอัลบา ไปอ้างสิทธิ์โปรตุเกสโดยใช้กำลัง [5] และพระเจ้าเฟลิเปได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสที่ศาลกอร์ตึชโปรตุเกสแห่งตูมาร์ ในปี ค.ศ. 1581 ทรงมีพระปรมาภิไธยว่า พระเจ้าฟีลิปึที่ 1 โดยมีเงื่อนไขว่าราชอาณาจักรและดินแดนโพ้นทะเลจะต้องรักษาเอกราชเอาไว้ [6] ทำให้เกิดสหภาพไอบีเรียขึ้น
พระราชพงศาวลี
แก้หมายเหตุ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 McMurdo 1889.
- ↑ Disney 2009, p. 174
- ↑ MacKay 2012, p. 44
- ↑ Disney 2009, p. 176
- ↑ 5.0 5.1 Disney 2009.
- ↑ Stephens 1903.
- ↑ 7.0 7.1 Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 9 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 Liss, Peggy K. (2015). Isabel the Queen: Life and Times. University of Pennsylvania Press. p. 11. ISBN 978-0812293203.
- ↑ 9.0 9.1 Stephens 1903, p. 139
- ↑ 10.0 10.1 Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 10 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
- ↑ 11.0 11.1 Isabella I, Queen of Spain ที่สารานุกรมบริตานิกา