พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ (เดิม หม่อมเจ้าวงศ์จันทร์; 18 มิถุนายน พ.ศ. 2393 – 29 เมษายน พ.ศ. 2459) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ18 มิถุนายน พ.ศ. 2393
สิ้นพระชนม์29 เมษายน พ.ศ. 2459 (65 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าคุณจอมมารดาเอม

พระประวัติ แก้

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 8 บูรพาษาฒ ขึ้น 9 ค่ำ ปีจอ โทศก จ.ศ. 1212 ตรงกับวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2393[1] ได้รับพระราชทานหีบหมากเสวยลงยา โต๊ะทองคำ และพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จ.ศ. 1278 ตรงกับวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2459 พระชันษา 67 ปี[2] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463[3]โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศไม้สิบสอง ในคราวพระราชทานเพลิงพระศพ

ผู้สำเร็จราชการวังหน้า แก้

เมื่อปีพ.ศ. 2429 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสยามมกุฎราชกุมารอย่างสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าตามราชประเพณีเดิม จึงประกาศพระราชกฤษฎีกาเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะไม่ให้พระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ร้าง จึงโปรดฯ ให้คงจัดรักษาเป็นพระราชวัง ให้มีเจ้าพนักงานรักษาหน้าที่อยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายการปกครองให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในทั่วไป และโปรดฯ ให้เสด็จขึ้นมาประทับอยู่ที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส

เมื่อพระองค์เจ้าดวงประภาสิ้นพระชนม์ โปรดฯ ให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรองลงมา ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าต่อมา เหมือนอย่างพระองค์เจ้าดวงประภา และโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ พระเจ้าน้องนางร่วมพระชนนีกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งบวรบริวัติมาจนตลอดรัชกาลที่ 5

ถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์สิ้นพระชนม์ จึงโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าแทนพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ต่อมาจนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปีขาล พ.ศ. 2459 เจ้านายในวังหน้าจึงได้เสด็จไปประทับที่พระบรมมหาราชวัง และมิมีผู้ใดดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการวังหน้าอีก

พระที่นั่งวงจันทร์ แก้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับยังพระบวรราชวัง พระองค์ทรงสร้างพระราชมณเฑียรแห่งใหม่ขึ้น โดยมีลักษณะเป็นเก๋งจีน เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปประทับ ณ พระราชมณเฑียรแห่งใหม่นั้น พระองค์เกิดพระอาการประชวรติดต่อเป็นเวลานาน เมื่อซินแสเข้ามาดูจึงกราบทูลว่า เนื่องจากพระที่นั่งเก๋งจีนองค์นี้ สร้างในที่ฮวงจุ้ยที่เป็นอัปมงคล ดังนั้น พระองค์จึงโปรดให้รื้อพระที่นั่งเก๋งจีนลง ไปปลูกไว้ที่นอกวัง

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่บริเวณที่สร้างพระที่นั่งเก๋งจีนองค์เดิม แต่ได้เลื่อนตำแหน่งที่ตั้งไปทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นตึกฝรั่ง เรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งวงจันทร์" ตามพระนามของ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์[4]

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามพระที่นั่งใหม่ว่า "พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์"

พระเกียรติยศ แก้

พระอิสริยยศ แก้

  • หม่อมเจ้าวงจันทร์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2393 – 2 เมษายน พ.ศ. 2394)
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ (2 เมษายน พ.ศ. 2394 – พ.ศ. 2430)[5][6]
  • พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ (พ.ศ. 2430 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2454)
  • พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 – 29 เมษายน พ.ศ. 2459)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Somdetch Phra Paramindr Maha Mongkut, “The Family of the late Second King of Siam”, op.cit, p. 52
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๓ พ.ศ. ๒๔๕๙, หน้า ๓๐๙
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๗ พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๕๔๗.
  4. ภูมิบ้านภูมิเมือง: พระที่นั่งวงจันทร์ ภูมิสถานพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2
  5. ราชบัณฑิตยสถาน. พระเจ้าวรวงศ์เธอ (ตอนที่ ๑) (๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒). เรียกดูเมื่อ 13 เมษายน 2556
  6. กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์ เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ:สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2554, หน้า 229
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 23, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449, หน้า 893
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 33, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447, หน้า 570