พระเจ้าบอลด์วินที่ 4 แห่งเยรูซาเลม

พระเจ้าบอลด์วินที่ 4 แห่งเยรูซาเลม (อังกฤษ: Baldwin IV of Jerusalem) ซึ่งมีสมญานามว่า กษัตริย์เรื้อน (Leper King) ทรงเป็นกษัตริย์แห่งเยรูซาเลมระหว่าง ค.ศ. 1174–1185 พระเจ้าบอลด์วินที่ 4 ทรงเป็นกษัตริย์นักรบในสงครามครูเสด และทรงสร้างวีรกรรมลือลั่นไว้ในยุทธการที่มอนต์กิซาร์ด

พระเจ้าบอลด์วินที่ 4
ภาพพิธีราชาภิเษกของบอลด์วินที่ 4
กษัตริย์แห่งเยรูซาเลม
ครองราชย์11 กรกฎาคม ค.ศ. 1174 – 16 มีนาคม 1185
ราชาภิเษก15 กรกฎาคม ค.ศ. 1174
ก่อนหน้าพระเจ้าอมาลริกที่ 1
ถัดไปบอลด์วินที่ 5
ประสูติต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1161
ราชอาณาจักรเยรูซาเลม
สวรรคต16 มีนาคม ค.ศ. 1185(1185-03-16) (24 ปี)
ราชอาณาจักรเยรูซาเลม
ราชวงศ์ราชวงศ์อ็องฌู
พระราชบิดาพระเจ้าอมาลริกที่ 1
พระราชมารดาอาแญ็สแห่งกูร์เตอแน

ปีค.ศ. 1174 ขณะที่ทรงมีอายุ 13 ชันษา ทรงพบว่าตัวเองเป็นโรคเรื้อน สร้างความกังวลแก่เหล่าขุนนางและข้าราชการอย่างมากเนื่องจากทรงเป็นรัชทายาทเพียงองค์เดียว ในปีเดียวกันนั้น พระบิดาและพระมารดาเสด็จสวรรคตทำให้เจ้าชายน้อยต้องขึ้นครองอาณาจักร ในสองปีแรกของรัชกาลจึงถูกปกครองโดยสองผู้สำเร็จราชการ ได้แก่ ไมลส์แห่งปล็องซี (Miles of Plancy) และเรย์มอนด์ที่ 3 แห่งตริโปลี (Raymond III of Tripoli)

เพื่อเป็นการค้ำประกันราชบัลลังก์กรุงเยรูซาเลม ผู้สำเร็จราชการเรย์มอนด์ทำการหมั้นหมายเจ้าหญิงซีบิลลา (Sibylla) พี่สาวของบอลด์วิน กับกีโยม เดอ มงแฟรา (Guillaume de Montferrat) ลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสและจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในปีแรกของรัชกาล บอลด์วินประสบความสำเร็จในการโจมตีเมืองดามัสกัสเพื่อกดดันทัพสุลต่านเศาะลาฮุดดีนให้ถอยห่างจากเมืองอะเลปโป

พระองค์ขึ้นครองเยรูซาเลมอย่างแท้จริงใน ค.ศ. 1176 ทรงนำทัพไปโจมตีเมืองดามัสกัสอีกครั้งและเมืองอันดูจาร์เพื่อกำราบการจู่โจมของพวกกบฏมุสลิม พระองค์ยังทรงวางแผนจู่โจมอาณาจักรอียิปต์ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของสุลต่านเศาะลาฮุดดีน ในการนี้ส่งตัวเรอโน เดอ ชาตียง (Renaud de Châtillon) พระญาติไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลแห่งโรมัน เพื่อโน้มน้าวจักรพรรดิมานูเอลที่ 1 ให้ส่งกองเรือร่วมโจมตีอียิปต์ อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ต้องสะดุดล้มลงเมื่อมงแฟราผู้เป็นพี่เขยเสียชีวิตในต้นปี ค.ศ. 1177 ขณะที่ซีบิลลากำลังตั้งครรภ์[1] เมื่อข่าวการสิ้นชีพของมงแฟราแพร่ไปถึงยุโรป จักรพรรดิโรมันจึงตัดสินพระทัยล้มเลิกการส่งกองเรือสนับสนุนแผนอียิปต์ แผนโจมตีอียิปต์จึงเป็นอันล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

เมื่อไร้การสนับสนุนจากจักรพรรดิโรมัน พวกนักรบครูเสดต่างเห็นว่าไม่มีทางรับมือเศาะลาฮุดดีนได้แน่ จึงพากันถอนกำลังจากกรุงเยรูซาเลมจนนครหลวงนี้ไร้การป้องกัน สุลต่านเศาะลาฮุดดีนทราบข่าวจึงยกทัพมุสลิมกว่าสองหมื่นนายจากอียิปต์เข้าโจมตีกรุงเยรูซาเลม ถึงกระนั้น พระเจ้าบอลด์วินก็ยังสามารถรวบรวมอัศวินราว 500 นายและทหารราบหลักพันเข้าต่อต้านจนเกิดเป็นยุทธการที่มอนต์กิซาร์ด พระองค์และชาตียงนำกองทัพหลักพันเข้าโจมตีกองทัพมุสลิมที่เหนื่อยล้าอย่างไม่ทันตั้งตัวจนกองทัพมุสลิมเรือนหมื่นต้องแตกพ่าย ถึงกระนั้น สงครามครูเสดก็ยังคงดำเนินต่อไป

อ้างอิง แก้

  1. Venning 2015, p. 168.